โพสต์ทูเดย์รายงาน: ทีดีอาร์ไอจี้รัฐ ตั้งสำนักงบประมาณรัฐสภา

ปี2014-04-10

ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เกาะติดและผลักดันให้มีการตั้งสำนักงบประมาณรัฐสภา (PARLIAMENTARY BUDGET OFFICE) หรือ PBO อย่างต่อเนื่องโดยเมื่อวานนี้ก็ได้จัดสัมมนาปฏิรูประบบการคลังด้วย Thai PBO สร้างกติกาใหม่การใช้จ่ายการเงินประเทศ

สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ในระหว่างที่ประเทศกำลังจะมีการจัดตั้งรัฐสภาใหม่และกำลังเข้าสู่การปฏิรูปประเทศ ก็ควรมีการจัดตั้ง Thai PBO หรือหน่วยงานวิเคราะห์งบประมาณแผ่นดินและระบบการคลังประจำรัฐสภาไปพร้อมกันด้วย เพื่อเป็นการสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการจัดทำงบประมาณ รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบทางการคลังและผลกระทบทางเศรษฐกิจของการใช้เงินแผ่นดิน

อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณให้มีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องปฏิรูปรัฐสภาก่อน เนื่องจากทำงานภายใต้คำสั่งของฝ่ายบริหาร ซึ่งการจัดตั้ง Thai PBO เป็นกลไกหนึ่งในการช่วยปฏิรูปรัฐสภาได้แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นองค์อิสระที่แท้จริง ไม่ใช่ทำหน้าที่เป็นสำนักงบประมาณหรือเป็นกระบอกเสียงให้รัฐสภาควรมีการเชื่อมเครือข่ายภาคประชาชนและมีธรรมาธิบาล

ขณะที่ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ควรมีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อจัดตั้ง Thai PBO และต้องกำหนดอำนาจหน้าที่ชัดเจน ครอบคลุมไปถึงการวิเคราะห์เงินนอกงบประมาณด้วย รวมทั้งต้องมีบทลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ให้การสนับสนุนข้อมูล

ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส ธนาคารพัฒนาเอเชีย สำนักงานผู้แทนประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความเป็นห่วงเรื่องความเป็นอิสระและความเป็นกลางของ Thai PBO เนื่องจากองค์กรนี้จะต้องใช้งบประมาณจากรัฐสภา อีกทั้งมีนโยบายต่างๆ ที่ไม่ผ่านรัฐสภา แต่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเช่นกัน ดังนั้นควรมีหน่วยงานอื่นๆเข้ามาช่วยในการตรวจสอบการใช้งบประมาณหรือการดำเนินนโยบายรัฐ

ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่าการวิเคราะห์งบประมาณควรมีกลไกที่สามารถจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย รวมทั้งไม่ควรที่จะทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และควรให้สาธารณชนมีส่วนรวมในการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณได้ และที่สำคัญ Thai PBO จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกระบวนการงบประมาณให้เป็นแรงขับเคลื่อนในการสร้างวินัยการเงินการคลัง

ด้าน ศาสตรา สุดสวาสดิ์ อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และทีมงานวิจัย Thai PBO กล่าวว่าหากรัฐบาลใช้เพดานสูงสุดตามกฎหมาย พื้นที่การคลังประเทศไทยยังมีพอสมควร แต่หากต้องการรักษาแนวโน้มการใช้จ่ายที่ผ่านมารวมทั้งการลงทุนใหม่ อาจจะมีการสุ่มเสี่ยงต่อการขาดดุลการคลังเรื้อรัง ทั้งนี้การจัดทำงบประมาณสมดุลสามารถทำได้ แต่ต้องลดการใช้จ่ายลงให้น้อยกว่าแนวโน้ม ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและการดูแลสวัสดิการประชาชน


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 10 เมษายน 2557