ธนาคารโลกห่วงภัยธรรมชาติ-เศรษฐกิจแย่ ทีดีอาร์ไอหวั่นขาดผู้นำที่ดี ประเทศวิกฤต
ธนาคารโลกแนะตั้งคณะกรรมการ และวางแผนลลดเสี่ยง เหตุภัยพิบัติ-วิกฤตเศรษฐกิจทำสูญเสียสูง
นายนอร์แมน วี. โลไอซ่า หัวหน้าคณะผู้จัดทำรายงานพัฒนาโลก 2014 กล่าวรายงานการพัฒนาโลกประจำปี 2014 เรื่องความเสี่ยงและโอกาสการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อการพัฒนา ซึ่งจัดงานโดยธนาคารโลกและสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยระบุว่าการจัดการและบริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ จะมีส่วนช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลกเป็นไปอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงระดับประเทศ และจัดทำแผนรองรับความเสี่ยงจากวิกฤตเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งแม้ว่าการลงทุนดังกล่าวอาจมีต้นทุนสูง แต่เทียบกับการแก้ไขปัญหาหลังเกิดวิกฤตแล้ว มีความเสียหายหรือสูญเสียมากกว่า
สำหรับปัญหาความเสี่ยงที่ไทยยังมีการจัดการไม่ดีพอ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ แม้ว่าจะมีแผนการลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำ แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดปัญหาทางการเมือง ซึ่งจะทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้
ส่วนของภาคการคลังจะเห็นว่ายังมีการจัดการที่ไม่ดีนัก ทั้งนี้เพราะมีการใช้จ่ายเงินในภาครัฐค่อนข้างมากในเวลาที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัว ทั้งที่สิ่งที่ถูกต้องคือ รัฐควรจะใช้จ่ายน้อย เพื่อเก็บงบประมาณไว้ใช้ในเวลาที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า รวมถึงการกำหนดแนวทางพัฒนาประเทศที่ภาครัฐยังขาดความกล้าหาญในการกำหนดนโยบาย เช่น การประกาศว่าไทยจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในอีกกี่ปี ในขณะเดียวกันความเสี่ยงด้านการเมืองและธรรมาภิบาลนั้นยอมรับว่าเป็นความเสี่ยงที่บริหารจัดการยากที่สุด ซึ่งแนวทางการแก้ไขต้องให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขถึงจะสำเร็จได้
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าขณะที่ไทยกำลังเกิดปัญหาวิกฤตผู้นำอย่างหนัก รวมถึงปัญหาทางด้านการเมือง ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของประเทศ และส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาของประเทศ เพราะขาดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งมีความเป็นห่วงปัญหากับดักประเทศรายได้ปานกลาง
นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ กล่าวว่า ไทยยังมีความคิดการบริหารความเสี่ยงกระจัดกระจายต่างคนต่างทำ ขาดความบูรณาการ ขาดข้อมูลที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งยังมีกลุ่มคนที่อยู่นอกระบบจำนวนมาก ทั้งแรงงานและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทำให้การบริหารจัดการความเสี่ยงดำเนินการได้ยาก และที่สำคัญ ยังมีปัญหาที่เป็นอุปสรรคใหญ่ ที่การบริหารจัดการความเสี่ยงอยู่กับรัฐบาลให้ความจริงจังหรือไม่ ถ้ารัฐบาลไม่เห็นด้วย หรือไม่เห็นความสำคัญ ก็ไม่สามารถดำเนินการกับการบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าวได้
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 29 เมษายน 2557