Thai PBO โชว์ผลวิเคราะห์พื้นที่การคลังของไทยยังน่าห่วง

ปี2014-04-28

 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ทีดีอาร์ไอเดินหน้าผลักดันการจัดตั้งองค์กร Thai PBO ให้เกิดขึ้นโดยเร็วโดยใช้กระแสการปฏิรูป  โชว์ตัวอย่างการวิเคราะห์พื้นที่การคลังปี 2557 พบว่า ประเทศไทยเหลือพื้นที่การคลังไม่มาก จี้ตัดลดในส่วนของนโยบายที่จำเป็นน้อย จัดสมดุลการคลังให้เพียงพอต่อการรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจและการดูแลสวัสดิการของประชาชน มิเช่นนั้นการจะมีงบประมาณแผ่นดินสมดุลในอีก 10 ปีข้างหน้ามีโอกาสน้อยมาก

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในฐานะหัวหน้าโครงการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงบประมาณประจำรัฐสภาหรือ Thai PBO กล่าวถึงบทบาทของสำนักงบประมาณรัฐสภา (Thai Parliamentary Budget  Office: Thai PBO) ในการเสริมสร้างวินัยทางการคลัง ว่า หลายประเทศทั่วโลกที่พัฒนาได้จัดตั้งหน่วยงานในลักษณะนี้ รวมถึงประเทศเมียนมาร์ที่แม้จะเพิ่งเริ่มเปิดประเทศก็มีหน่วยงานในรูปแบบนี้แล้ว แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการจัดตั้ง   

ดร.สมชัย
ดร.สมชัย จิตสุชน

ดร.สมชัย ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยควรจะมี Thai PBO เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ยังขาดความเชี่ยวชาญการวิเคราะห์งบประมาณการคลัง โดยเฉพาะการวิเคราะห์ในภาพรวมที่ยังไม่ชัดเจนและไม่เป็นระบบ และหากย้อนกลับมาดูข้อเท็จจริงในตอนนี้ หนึ่งในสาเหตุความขัดแย้งทางการเมืองไทยนั้นมีสาเหตุมาจากความไม่โปร่งใสในการใช้งบประมาณ การมีความคิดเห็นที่แตกต่างของต้นทุนงบประมาณในบางโครงการ รวมทั้งแนวโน้มการใช้เงินนอกงบประมาณที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในโครงการประชานิยม รวมถึงกระแสการปฏิรูป ที่ต้องการเปิดช่องให้มีการถกเถียงเรื่องการปฏิรูประบบการคลัง แต่ยังไม่มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ การจัดตั้ง Thai PBO มีเป้าหมายเพื่อต้องการให้เกิดความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการจัดทำงบประมาณ ผ่านการให้บริการสมาชิกรัฐสภาและประชาชนในการวิเคราะห์ผลกระทบทางการคลังและผลกระทบทางเศรษฐกิจของการใช้เงินแผ่นดินของฝ่ายบริหาร ซึ่งจะนำไปสู่การถกเถียงสาธารณะในเรื่องการใช้งบประมาณโดยมีหลักฐานทางวิชาการเข้ามารองรับ

ด้าน ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์ อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)  และนักวิชาการ โครงการ Thai PBO เปิดเผยตัวอย่างการวิเคราะห์ภาพรวมพื้นที่การคลังของประเทศ โดยนิยามของพื้นที่การคลังที่ทำการศึกษา คือ ส่วนต่างระหว่างรายจ่ายสูงสุดที่รัฐบาลสามารถจ่ายได้ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณของประเทศในปัจจุบันกับรายจ่ายพื้นฐานที่ไม่สามารถตัดลดได้  ซึ่งในการศึกษาของ Thai PBO  ได้นิยามรายจ่ายพื้นฐานที่ไม่สามารถตัดลดได้เป็น 3 กรณี คือ กรณี 1. รายจ่ายพื้นฐานที่มีภาระผูกพันชัดเจนตามกฏหมาย   กรณี 2. รายจ่ายกรณีฐาน + รายจ่ายตามแนวโน้มปกติหรือรายจ่ายตามนโยบาย  กรณี 3. รายจ่ายกรณี 2 + รายจ่ายลงทุนใหม่ (กำหนดให้เป็นไปตามแนวโน้มที่ผ่านมา) ผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นพื้นที่การคลังใน 3 กรณี

ดร.ศาสตรา
ดร.ศาสตรา สุดสวาสดิ์

การวิเคราะห์พบว่า หากนิยามพื้นที่การคลังที่รวมงบรายจ่ายลงทุนใหม่ (กรณีที่ 3) ในปีงบประมาณ 2557 ประเทศไทยมีพื้นที่การคลังที่รัฐบาลสามารถจ่ายได้อยู่เพียง 11% ของกรอบงบประมาณสูงสุดที่สามารถตั้งได้ หรือคิดเป็นเงินประมาณ 3.1 แสนล้านบาท  ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเพื่อรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ และเมื่อวิเคราะห์งบประมาณในระยะ 10 ปี (ปี 2557-2566) พบว่า การขาดดุลงบประมาณนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับและยังอาจสุ่มเสี่ยงต่อการขาดดุลการคลังเรื้อรัง ดังนั้น การที่รัฐบาลจะมีงบประมาณแผ่นดินสมดุลภายในปี 2560 จึงมีโอกาสน้อยมาก จากข้อมูลดังกล่าวรัฐบาลอาจต้องพิจารณาไปตัดลดงบประมาณรายจ่ายบางส่วนที่มีความจำเป็นน้อยกว่า เพื่อทำให้ประเทศมีพื้นที่การคลังมากขึ้นในการนำมาใช้ในงบลงทุนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว

กล่าวโดยสรุปแล้ว Thai PBO มีข้อสังเกตว่า หากใช้เพดานสูงสุดตามกฎหมาย พื้นที่การคลังของประเทศไทยถึงแม้จะยังมีพอสมควร  แต่หากต้องการรักษาแนวโน้มการใช้จ่ายที่ผ่านมา รวมทั้งการลงทุนใหม่ ก็อาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อการขาดดุลการคลังเรื้อรัง การจัดทำงบประมาณสมดุลนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องหาแหล่งรายรับรัฐบาลเพิ่มหรือลดการใช้จ่ายลงให้น้อยกว่าแนวโน้มในอดีต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและการดูแลสวัสดิการประชาชนได้

การวิเคราะห์พื้นที่การคลังของประเทศเป็นตัวอย่างหนึ่งของบทบาท Thai PBO ในการเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงแก่ผู้เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณาจัดลำดับการใช้จ่ายงบประมาณอย่างไรให้สมดุล ไม่สร้างภาระ และสนับสนุนการเติบโตของประเทศ อย่างไรก็ตาม การออกแบบ Thai PBO ควรเป็นไปอย่างรอบคอบให้มากที่สุดและต้องมีการประเมินการตรวจสอบการทำงานของ Thai PBO ได้ โดยหน่วยงาน Thai PBO ควรเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารเพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้ดีภายใต้บริบทของการเมืองไทย ซึ่งทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอตั้งใจจะเดินหน้าผลักดันการจัดตั้งองค์กร Thai PBO ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยจะนำเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวต่อไป.