tdri logo
tdri logo
2 เมษายน 2014
Read in Minutes

Views

ไทยรัฐรายงาน: วัฏจักรคอร์รัปชัน วังวนรัฐ-การเมือง

“ดัชนีชี้วัดสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย” หัวข้อสัมมนา จัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เมื่อเร็วๆนี้ สะท้อนชัดว่า…ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันคือปัญหาใหญ่ระดับชาติ

น่าสนใจด้วยว่า ปัจจุบัน…“ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน” ถูกปรับเปลี่ยนจนดูกลมกลืนไปกับความถูกต้องจนยากจะแยกออก นำไปสู่สถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศและเป็นอุปสรรคต่อศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

หาก…รัฐเลิกหมกเม็ด จะช่วยลดคอร์รัปชันได้

การแก้คอร์รัปชัน…ยังมีหวัง หากภาคเอกชนพร้อมร่วมแก้ปัญหา ต้องร่วมกันกระตุ้นภาครัฐให้มีความจริงใจเปิดเผยข้อมูล รวมทั้งผู้ปฏิบัติบางส่วนต้องหยุดพฤติกรรมบีบบังคับให้คนซื้อความได้เปรียบทางการแข่งขัน…จะช่วยลดทุจริตคอร์รัปชันลงได้

กิตติเดช ฉันทังกูล กรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย เปิดเผยถึงผลการวิจัยศึกษาการคอร์รัปชันในประเทศไทย พบว่า กลุ่มผู้นำภาคธุรกิจเห็นว่าระดับความรุนแรงของปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในไทยยังอยู่ในระดับสูงมาก

ผลการศึกษาการคอร์รัปชันในมุมมองภาคเอกชนไทยสำรวจความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจ 1,066 ราย ในปี 2556 พบว่า เอกชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 93 มองว่า…การทุจริตคอร์รัปชันส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ โดยร้อยละ 68 ระบุว่า ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมาก

และร้อยละ 55 มองว่าเมื่อมีการทุจริตคอร์รัปชันจะมีต้นทุนหรือสัดส่วนของธุรกิจที่ต้องจ่ายเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 10

กระบวนการที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชันมากที่สุดคือ “การจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ” รองลงมาคือ…ขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการต่างๆ รวมทั้งการประมูลโครงการของภาครัฐ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากเจ้าหน้าที่รัฐ อาศัยช่องโหว่จากกฎระเบียบสร้างโอกาสในการทุจริต

ประเด็นที่ต้องเน้นย้ำ รูปแบบการทุจริต 3 อันดับแรก ได้แก่ การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเอื้อประโยชน์พวกพ้อง การให้ของขวัญ หรือติดสินบน และการทุจริตเชิงนโยบายโดยผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง…โดยธุรกิจที่มีแนวโน้มทุจริตมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจโทรคมนาคม การเกษตร พลังงานและสาธารณูปโภค

สิริลักษณา คอมันตร์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยอมรับว่าการดำเนินการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง 2.2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท มีความล่าช้า…เนื่องจากมีการแก้กฎหมายหลายครั้งและทำไปตามขั้นตอนการเก็บข้อมูลหลักฐานด้านเอกสารที่มีจำนวนมาก

รวมทั้งเพื่อให้เกิดความรอบคอบและได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้อง โดยขณะนี้ ป.ป.ช.ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบทุกโครงการของรัฐบาลอยู่ สิริลักษณา ย้ำว่า ปัจจุบันฐานข้อมูลการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันของ ป.ป.ช.ดำเนินการอย่างมีระบบ สามารถเชื่อมโยงได้หลายๆทาง ภายใต้การดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งมีการใช้อำนาจทางกฎหมายเข้ามาพิจารณาทำให้การดำเนินการรวดเร็วขึ้น

“แม้ว่าเรื่องทุจริตคอร์รัปชันในไทยยังมีอยู่ แต่หากได้รับความร่วมมือกันหลายๆฝ่าย ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะการปราบปรามทุจริตต้องทำหลายๆด้านจึงจะประสบผลสำเร็จ”

ธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ เสริมว่า ผลการสำรวจข้อร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) หน่วยงานในกำกับสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า หน่วยงานของรัฐยังคงถูกร้องเรียน โดยเฉพาะเรื่องไม่เปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง หรือเปิดเผยข้อมูลช้าถึงร้อยละ 30

แสดงให้เห็นว่า…หน่วยงานของรัฐยังไม่ค่อยมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนมากนัก

รองลงมาคือ การใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐร้อยละ 19 ส่วนหน่วยงานส่วนท้องถิ่นกว่าร้อยละ 70 ไม่เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทางเว็บไซต์ ขณะที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจร้อยละ 22 ถูกจัดอยู่ในระดับที่แย่ถึงแย่มากในการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างทางเว็บไซต์

ซึ่งบางหน่วยงานไม่สามารถตรวจสอบจำนวนรายการจัดซื้อจัดจ้างได้ทั้งหมด เนื่องจากขาดฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างที่สมบูรณ์ รวมทั้งยังขาดรูปแบบบนเว็บไซต์ที่เป็นมาตรฐาน

ฉายภาพไปที่ภาคเอกชนอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของทั้งในส่วนภาคธุรกิจและการปฏิรูปภาครัฐ บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) บอกว่า การคอร์รัปชันในประเทศจะสามารถขจัดสิ้นให้หมดไปได้ ควรให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขจัดปัญหา

พร้อมกันนี้ควรดำเนินการควบคู่ไปกับการลดบทบาทอำนาจรัฐให้น้อยลง หากจะจี้ให้ตรงประเด็นคงต้องยอมรับก่อนว่า…การทุจริตส่วนใหญ่มาจากภาครัฐ ซึ่งภาคธุรกิจก็จะแบ่งได้เป็น 3 พวก

1.พวกที่ไม่ต้องพึ่งอำนาจ คือไม่ยุ่งไม่เกี่ยวกับคอร์รัปชันเลย เช่น ธนาคาร

2.พวกที่จำเป็นต้องจ่าย ไม่เช่นนั้นดำรงชีวิตไม่ได้หรือเรียกว่าพวกถูกขู่กรรโชกซึ่งเป็นต้นทุนภาระ

และ 3.พวกที่จ่ายเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เพราะเป็นการจ่ายเพื่อการซื้อหาความได้เปรียบทางการแข่งขัน เช่น การเซอร์เวย์ การสัมปทาน การล็อกสเปก เป็นต้น

บรรยง บอกอีกว่า ไทยมีการลงทุนในส่วนของการซื้อหาความได้เปรียบทางการแข่งขันมากเกินไป เพียงเพื่อต้องการให้ได้กำไรส่วนเกิน แต่กลับมองข้ามไปว่ากลไกอย่างนี้ ส่งผลให้เกิดความบิดเบือนในทุกๆด้าน ส่งผลกระทบและนำความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจมากมายมหาศาล

“แม้ทุกคนทราบดีว่าการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่กลับพบว่าในระบบฐานข้อมูลเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลางไม่มีข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐมากนัก โดยหน่วยงานที่ฝ่าฝืนและไม่ทำการเปิดเผยข้อมูล คือ…สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี”

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย บอกพร้อมเสนอว่า หากต้องการให้มีการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐให้มากยิ่งขึ้นควรนำสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ออกจากการเป็นหน่วยงานของภาครัฐ และควรให้มีเว็บไซต์กลางสำหรับเปิดเผยข้อมูล เพื่อพัฒนา

ระบบค้นหาให้ดีและง่ายยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน

แม้สถานการณ์คอร์รัปชันยังสูงอยู่ แต่ในภาพรวมหน่วยงานต่างๆมีแนวโน้มพยายามแก้ไข ขณะที่ผู้นำธุรกิจต่างก็พร้อมที่จะร่วมแก้ และเชื่อว่าปัญหาคอร์รัปชันสามารถแก้ไขได้หากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน

สุดท้ายแล้ว…หน่วยงานที่ต้องมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาการทุจริตมากที่สุดคือ “รัฐบาล” และ “นักการเมือง” โดยใช้กลยุทธ์ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำผิด


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 2 เมษายน 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด