แรงงานเคว้ง รัฐบาลรักษาการหวังปลดล็อกแช่แข็ง ‘ค่าจ้าง 300’

ปี2014-05-01

ธรรมรัช กิจฉลอง

1 พฤษภาคม วันแรงงานแห่งชาติเวียนมาอีกครั้ง ท่ามกลางความหวังของแรงงานไทย ทั้งในระบบและนอกระบบที่มีกว่า 30 ล้านคน ว่าชีวิตของพวกเขาจะได้รับการดูแลช่วยเหลือจากนายจ้าง รัฐบาลและหน่วยงานรัฐอย่างกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเพิ่มรายได้และสวัสดิการ ลดภาระค่าครองชีพเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) บอกว่า คสรท. ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จัดงานวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม 2557 ภายใต้คำขวัญ สามัคคีกรรมกร ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยประชาชน เป็นการตอกย้ำสถานการณ์แรงงานในปัจจุบัน ที่มีภาวะการกดขี่ ขูดรีดที่รุนแรง สลับซับซ้อนกว่าเดิม ภายใต้ระบบทุนนิยมแบบใหม่ที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยในปีนี้จะจัดงานบริเวณหน้ารัฐสภา ตั้งแต่เวลา 09.00 น.-14.00 น. โดยพวกเรามีมติร่วมกันว่าในปีนี้จะไม่ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลรักษาการเพราะขาดความชอบธรรม ไม่มีความจริงใจในการบริหารประเทศ

ประธาน คสรท. บอกว่า จะนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะโดยประกาศเจตนารมณ์ซึ่งมีทั้งหมด 14 ข้อได้แก่ 1. ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง 2. ยุตินโยบายและกฎหมายที่ละเมิดสิทธิแรงงาน ที่ขัดต่ออนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 เช่น กรณีผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย 13 คน 3. สร้างระบบสวัสดิการสังคม เช่น มีมาตรการควบคุมราคาสินค้า ลดค่าครองชีพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

4. ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หรือการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ ยุติการแทรกแซงการบริหารงานรัฐวิสาหกิจ โดยขาดความเป็นธรรม และ 5. ต้องเร่งปฏิรูประบบประกันสังคม ประกันสุขภาพคนทำงานถ้วนหน้า ให้โครงสร้างเป็นอิสระตรวจสอบได้ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม 6. ขอให้งดนำเข้าและยกเลิกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบแร่ใยหินและไคโซไทล์

นอกจากนี้ มีข้อเรียกร้องที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.ต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม รวมถึงทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในปี 2557 และ 2558 2.แก้กฎหมายเลือกตั้งทุกระดับ ให้แรงงานที่ทำงานในสถานประกอบการในพื้นที่ ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป มีสิทธิเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่นั้นๆ 3.เร่งพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างจริงจัง

4. จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง 5. สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กหรือศูนย์พัฒนาเด็ก ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรม 6. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสวัสดิการสังคมของแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ.7.รัฐต้องยกเว้นภาษีกรณีเงินก้อนสุดท้ายของแรงงานที่เกษียณอายุ

“ประเด็นหลักในเรื่องปากท้องของแรงงานนั้น พวกเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลจะต้องวางระบบควบคุมราคาสินค้าไม่ให้ปรับสูงขึ้นมากไปกว่านี้ จะช่วยลดค่าครองชีพให้แก่แรงงานได้”

โดยผลสำรวจล่าสุดของ คสรท. เมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว พบว่า แรงงาน เรื่องของ 1 คน มีค่าใช้จ่ายวันละเกือบ 400 บาทจากปี 2555 อยู่ที่วันละ 348 บาท ส่วนเรื่องค่าจ้าง 300 บาทที่ไม่เห็นด้วยเลยคือ รัฐบาลชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไว้ 2 ปีในปี 2557-2558 เพราะอย่างน้อยแต่ละปีควรจะปรับค่าจ้างให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ สมมติอัตราเงินเฟ้อปีหน้าอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ก็ควรปรับขึ้นค่าจ้างอีก 2.50 บาทเพื่อให้ค่าเงินไม่ขาดหายไป

ขณะเดียวกันอยากให้ทำเป็นโครงสร้างค่าจ้างรายปีเพื่อให้แรงงาน 1 คน สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อีก 2 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ที่วันละ 590 บาทจากเดิมวันละ 560 บาท แต่ที่น่าห่วงที่สุดคือ สถานการณ์การเมือง อยากให้ทุกฝ่ายในบ้านเมืองร่วมกันแก้ปัญหาการเมืองให้ยุติลงโดยเร็วเพราะหากปล่อยปัญหานี้ให้เนิ่นนานไปอีกเกินกว่า 3 เดือน เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ทำให้สถานประกอบการหลายแห่งต้องปิดตัว และจะมีแรงงานต้องถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก” ประธานคสรท.บอกถึงข้อเรียกร้องหลักแก้ปัญหาชีวิตแรงงาน

สอดคล้องกับ รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า จากการที่ได้พูดคุยกับแรงงานหลายคนบอกว่าชีวิตของพวกเขามีปัญหาด้านค่าครองชีพค่อนข้างมาก ซึ่งมองว่าสาเหตุดังกล่าวเพราะเมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทครอบคลุมทั้งประเทศเมื่อต้นปี 2556 และขายข้าวในโครงการจำนำข้าวได้ราคาดี ทำให้แรงงานมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เช่น ซื้อรถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ ทำให้มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น

แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ทางการเมืองขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2557 คนระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อในปีนี้ถดถอยลงไม่เท่ากับปีที่แล้วเพราะโรงงานต่างๆ ออเดอร์สั่งสินค้าลดลง การทำโอทีของแรงงานจึงไม่แน่นอนทำให้รายได้จากโอทีหายไปร้อยละ 20-30 แรงงานที่คาดหวังว่าจะทำโอทีเพื่อให้มีเงินไปซื้อข้าวของที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นก็ไม่สามารถทำได้เพราะมีรายได้เฉพาะค่าจ้างอย่างเดียว จึงต้องใช้เงินอย่างประหยัดและการบริโภคน้อยลง

“ช่วงที่ผ่านมาค่าครองชีพต่างๆขยับขึ้นเยอะ เมื่อปี 2555 ศูนย์อาหารตามห้างใหญ่ราคาอาหารอยู่ที่จานละ 25-35 บาท แต่ทุกวันนี้ราคาอาหารตามศูนย์อาหารปรับขึ้น เช่น ข้าวมันไก่จานละ 45-50 บาท ค่อยๆทยอยแอบขึ้นเพราะรัฐบาลไม่ได้ดูแลเต็มที่นัก รวมทั้งมีการฉกฉวยขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบางประเภทที่ไม่ได้ควบคุมมาตั้งแต่ปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทแล้ว เพื่อขอส่วนแบ่งรายได้จากค่าจ้าง ที่ปรับขึ้น ทำให้อำนาจการซื้อของ แรงงานลดลง”

รศ.ดร.ยงยุทธ บอกว่า แต่ละปีกำลังซื้อจะลดลงร้อยละ5 เพราะค่าครองชีพสูงขึ้นปีละร้อยละ5 เคยมีการคาดการณ์ไว้ว่าเมื่อปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทแล้วใน 2 ปีถัดมาไม่ได้ปรับขึ้นเลย อำนาจการซื้อจะหายไปประมาณ 20 บาทเหลือ 280 บาท แต่บางหน่วยงานคาดการณ์ว่าน่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปถึงวันละ 450 บาท และต่อไปอีก 5 ปีควรปรับขึ้นเป็นวันละ 500 บาท แต่โดยส่วนตัว ตนคิดว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเราควรพิจารณาอย่างละเอียดมากกว่าเดิม เพราะการปรับขึ้นค่าจ้างแบบเป็นแผงเช่นนี้ไม่ควรจะมีขึ้นมาอีก

เห็นว่าควรต้องระมัดระวังมากขึ้น โดยดูจากกลุ่มเป้าหมายต่างๆหรือความเดือดร้อนที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องค่าครองชีพของแต่ละภูมิภาคอย่างกรุงเทพฯซึ่งค่าครองชีพสูงที่สุดตามปกติก็ปรับขึ้นค่าจ้างไปแล้ว บางอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ได้ค่าจ้างวันละ 450 บาทไปนานแล้ว

รศ.ดร.ยงยุทธ ยังวิเคราะห์ถึงสถานการณ์แรงงานด้วยว่า ช่วงนี้สถิติแรงงานที่ถูกปลดออกเลิกจ้างไม่ได้แตกต่างจากปีที่แล้ว เนื่องจากผู้ประกอบการยังเห็นแสงสว่างที่ปลายท่ออยู่ เพราะเศรษฐกิจในต่างประเทศเริ่มฟื้นตัว ทำให้ผู้ประกอบการจะยังไม่ยอมปล่อยลูกจ้าง โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการปรับกระบวนการจ้างงานไปหมดแล้ว ตั้งแต่สถานประกอบการที่พออยู่ได้ไปจนถึงผู้ที่มีกำไร

ถึงเวลานี้ได้แต่หวังว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววัน เพื่อเศรษฐกิจไทยจะได้เติบโตไปข้างหน้า ไม่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงาน และได้รัฐบาลใหม่เข้ามาช่วยพิจารณาปลดล็อกค่าจ้างขั้นต่ำที่ถูกแช่แข็ง และควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างจริงจัง

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 พฤษภาคม 2557