ภาวะผู้นำทางเศรษฐกิจ: ของหายากในสังคมไทย? (ตอนที่ 2)

ปี2014-05-08

สมชัย จิตสุชน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ในตอนที่แล้วผมกล่าวถึงความล่าช้าในการพัฒนาของประเทศไทยในระยะเกือบยี่สิบปีมานี้ว่าเกิดจากการขาดภาวะผู้นำ โดยผมเน้นย้ำว่าไม่ใช่หมายถึงการขาดผู้นำเป็นคนๆ ไป แต่หมายถึงการขาด ‘มวลผู้นำ’ ที่มีความสามารถในการ ‘นำ’ ประเทศให้ก้าวไปในทิศทางที่ถูกที่ควร ป้องกันมิให้ประเทศอยู่ในภาวะแช่แข็งไม่เดินหน้าไม่ถอยหลังอย่างที่ดูเหมือนจะเป็นอยู่ในปัจจุบัน ผมยังได้กล่าวถึงคุณสมบัติมวลผู้นำตามที่ปรากฏในตำราฝรั่งว่าประกอบด้วยความสามารถในการใช้ประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัฒน์ ส่งเสริมให้เศรษฐกิจมีการแข่งขัน สร้างความชัดเจนและลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ รู้จักปรับปรุงภาคราชการให้มีประสิทธิภาพ และทำการเมืองให้มีเสถียรภาพ

ในบทความนี้ ผมจะเขียนถึงข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของไทยที่ผู้เป็นผู้นำควรทำอย่างเร่งด่วน เพื่อมิให้ประเทศไทยตกอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ผมมีข้อเสนอทั้งหมด 4 ประการครับ เรื่องแรกเป็นด้านการเมือง โดยต้องสร้างความชัดเจนทางการเมืองที่คำนึงถึงความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลัก การตอบสนองความต้องการดังกล่าวควรเป็นไปในลักษณะที่ไม่ขัดแย้งกันเอง เช่น การสร้างระบบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่มีที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำพร้อมๆ กันได้ ไม่ใช่ว่าประชาชนกลุ่มหนึ่งต้องการประชาธิปไตยอีกกลุ่มไม่ต้องการ และไม่ใช่ว่าอีกกลุ่มต้องการการตรวจสอบและกลุ่มนี้ใม่ต้องการ เป็นต้น นอกจากนั้น ควรทำการปฏิรูปการเมืองให้นักการเมืองต้องตอบโจทย์ความต้องการทางเศรษฐกิจระยะยาวมากขึ้น ไม่ใช่เพียงการให้หรือสัญญาจะให้ผลประโยชน์ระยะสั้น ความชัดเจนทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มีการลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่องและผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างมั่นคง

มาตรการถัดมา คือการลดโอกาสเข้าถึงค่าเช่าทางเศรษฐกิจของผู้ไม่มีศักยภาพ (rent-capture by non-performers) หรือการจงใจสร้างค่าเช่าทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี (unproductive economic rent) มาตรการที่ต้องทำประกอบด้วยการควบคุมการคอร์รัปชั่น ทั้งการคอร์รัปชั่นภายใต้กติกาหรือกฎหมายที่มี และการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายด้วยการสร้างกติกาใหม่ที่เอื้อประโยชน์ตนและพวกพ้อง มาตรการกลุ่มนี้มีความจำเป็นไม่เพียงการป้องกันการรั่วไหลของเงินแผ่นดินเท่านั้นอย่างที่มักจะเน้นกันเท่านั้น แต่มีผลกว้างไกลไปถึงการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวด้วย โดยรวมทั้งทรัพยากรการเงิน เงินทุน บุคลากร ประเทศที่ตกอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลางมักมีปัญหานี้

มาตรการต่อไป คือการสร้างความสำนึกรู้ในหมู่ประชาชนว่าการเรียนรู้ (ขององค์กร ของบุคคล) และการยกระดับเทคโนโลยีของประเทศโดยรวมเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนแต่ละคนเอง ประสบการณ์จากหลายประเทศที่พัฒนาแล้วพบว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่รวดเร็วและยั่งยืนนั้นเกิดจากการกระทำของคนเล็กคนน้อยที่ทำกันคนละไม้ละมือ มีความมุ่งมั่นในการทำให้ชีวิตตนเองดีขึ้นผ่านการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ การประดิษฐ์คิดค้น การทำงานหนัก และหลายครั้งเป็นการทำงานแบบทีมเวอร์ค ทั้งนี้ยังเป็นรากฐานทางสังคมและการเมืองที่นำไปสู่การผลักดันกระบวนการทางการเมือง หรือผลักดันนักการเมืองหรือภาคราชการให้หันมาสู่การพัฒนาทิศทางนี้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงการสร้างวาทกรรมสวยหรูเช่นการพัฒนาเศรษฐกิจบน ‘ฐานความรู้’ ที่มักไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ

ประการสุดท้ายคือการปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะในที่สุดข้าราชการคือผู้นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ รู้จักเลือกยุทธศาสตร์ที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพราะหากระบบการเมืองดีขึ้นตามข้อเสนอแนะข้างต้นแล้ว ภาคราชการในฐานะหน่วยปฏิบัติก็ต้องสามารถนำนโยบายไปสู่ผลในทางปฏิบัติได้ด้วยจึงจะสามารถยกระดับเทคโนโลยีได้อย่างแท้จริง

แม้มาตรการทั้งสี่ประการควรจะทำพร้อมกัน แต่ลำดับที่ให้ได้ก็อาจถือว่าเป็นการเรียงลำดับก่อนหลังของสิ่งที่ควรทำได้เช่นกัน กล่าวคือการป้องกันการคอร์รัปชั่นเป็น ‘เงื่อนไขที่จำเป็น’ ของการสร้างภาวะผู้นำที่ดี เพราะหากไม่สามารถป้องกันมิให้ผู้ไม่มีศักยภาพได้รับค่าเช่าเศรษฐกิจผ่านนโยบายส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาครัฐ หรือเปิดช่องให้ผู้กุมอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจทำการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายจนก่อให้เกิดค่าเช่าทางเศรษฐกิจที่มีลักษณะของไร้ประสิทธิภาพหรือเป็นลักษณะ ‘แบ่งกันกินแบ่งกันโกง’ ก็ไม่ควรให้รัฐใช้อุดหนุนเทคโนโลยี เพราะจะมีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวและเป็นภาระทางการคลังมากมาย

การเพิ่มอำนาจการต่อรองทางการเมืองให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จะเป็นสิ่งที่ผลักดันให้นักการเมืองต้องดำเนินนโยบายที่ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับสูงขึ้น เพราะประโยชน์จะตกกับคนจำนวนมาก และน่าจะมีการกระจายประโยชน์ที่เท่าเทียมกันมากขึ้นด้วย สิ่งที่ต้องระวังคือแม้นักการเมืองจะตอบโจทย์ประชาชนจำนวนมากก็ยังไม่รับประกันได้ทันทีว่าจะผลิตนโยบายที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวกับคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเป็นระยะ และนโยบายหาเสียงที่เน้นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระยะสั้นกับคะแนนเสียงเป็นนโยบายที่รับประกันการชนะการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงต้องมีการปฏิรูปการเมืองเพื่อจำกัดการหาเสียงด้วยนโยบายระยะสั้น ตัวอย่างเช่น การหาเสียงต้องระบุต้นทุนทางการคลังของข้อเสนอนโยบายด้วย เป็นต้น


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 พฤษภาคม 2557