คนเป็นหนี้คือคนจน?

ปี2014-05-22

จิราภรณ์ แผลงประพันธ์
สมชัย จิตสุชน

หนึ่งในปริศนาเกี่ยวกับเรื่องคนจนและหนี้สินคือ อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล ความหมายคือระหว่างคำกล่าวว่า “เพราะความจนและขาดรายได้ที่เพียงพอ เลยทำให้คนจนต้องเป็นหนี้กันมาก” หรือ “เพราะมีหนี้สินมาก เลยทำให้เป็นคนจน” เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงพอสมควร ทั้งในแวดวงวิชาการและในแวดวงผู้กำหนดนโยบาย ตัวอย่างเช่น รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยเชื่อแบบที่สอง คือเชื่อว่าการมีหนี้ทำให้คนจนไม่สามารถหลุดพ้นความยากจนได้ เพราะต้องคอยหาเงินมาจ่ายคืนหนี้ที่ดูจะไม่มีวันหมดสิ้นไป ไม่เหลือเงินทองไปลงทุนค้าขายหรือส่งลูกเรียนสูงๆ ได้  ซ้ำร้ายคนที่ไม่ได้จนก็อาจกลายเป็นคนจนได้เพราะการมีหนี้เช่นเดียวกัน ภายใต้ความเชื่อนี้เราจึงเห็นนโยบายที่ตั้งเป้าไปที่การลดภาระหนี้สินให้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายพักหนี้ โอนหนี้ แปลงหนี้ โดยเชื่อว่าถ้าสามารถแก้ปัญหาหนี้สินได้แล้ว คนจะหายจน

ในขณะที่ถ้าเชื่อแบบแรกว่าปัญหาจริงๆ เกิดจากการขาดรายได้ที่เพียงพอ (หรือหลายครั้งคือการไม่ระมัดระวังการใช้จ่าย) แนวทางแก้ปัญหาก็จะเป็นอีกลักษณะ คือไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การลดหนี้สินเป็นลำดับแรก แต่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้และ/หรือลดรายจ่ายมากกว่า จะเห็นได้ว่าความเชื่อคนละแบบนำไปสู่แนวนโยบายที่ต่างกันอย่างมาก ปัญหาคือแล้วจริงๆ อย่างไรจึงจะถูกต้องกว่ากัน การตอบคำถามนี้ได้ก็ต้องกลับไปดูที่ตัวเลขและข้อมูลที่เป็นจริง

ในภาพรวม คนไทยกว่าครึ่งประเทศมีหนี้สิน (ร้อยละ 58 ของประชากร ตัวเลขปี 2556)  ภูมิภาคที่มีคนเป็นหนี้มากที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวได้ว่าคนอีสานทุกๆ 10 คนเป็นคนที่มีหนี้ 7 คน  รองลงมาเป็นภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ส่วนกรุงเทพฯ มีสัดส่วนคนที่เป็นหนี้น้อยที่สุด ซึ่งถ้าดูกว้างๆ แบบนี้ก็ดูจะไปในทิศทางว่าคนจนมีหนี้มาก เพราะเป็นที่ทราบว่าภาคอีสานและภาคเหนือมีคนจนมากกว่าภาคอื่น ในขณะที่คนในกรุงเทพมีฐานะดีกว่าทั้งประเทศ

แต่หากดูลึกลงไปกว่าระดับภาค โดยเฉพาะหากดูตัวเลขไปถึงระดับครอบครัวย่อยๆ จะพบว่าครอบครัวที่ยากจนจริงๆ หรือจนมากๆ มักไม่สามารถกู้ยืมใครได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือไม่มีใครยอมให้คนจนกู้ยืม แน่นอนว่ามีคนจนที่เป็นหนี้ด้วย แต่เมื่อเทียบ ‘โอกาสเป็นหนี้’ ระหว่างคนจนกับคนไม่จน พบว่าคนไม่จนมีโอกาสเป็นหนี้มากกว่าคนจน และที่น่าสนใจยิ่งขึ้นคือในระยะหลังโอกาสเป็นหนี้ของคนจนลดลงในระยะ 4-5 ปีหลังนี้  ในปี 2556 คนจนเป็นหนี้เพียงร้อยละ 42  ในขณะที่คนไม่จนเป็นหนี้ร้อยละ 58

อีกตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจคือแหล่งเงินกู้ พบว่าคนที่มีหนี้ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ในระบบ ส่วนหนี้นอกระบบมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย และที่สำคัญมีแนวโน้มที่จะลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ เรื่องนี้ส่วนหนึ่งแสดงถึงการเข้าถึงหนี้ในระบบได้ดีขึ้น คาดว่าจะเป็นเพราะสถาบันการเงินในระบบแผ่ขยายฐานลูกค้าส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งมาจากฐานะของคนไทยที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นในสายตาของเจ้าหนี้ในระบบ ดูเผินๆ ปรากฏการณ์นี้น่าจะทำให้คนจนมีหนี้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นไปได้ว่าการที่ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงๆ ให้กับเงินกู้นอกระบบอาจทำให้คนจนบางส่วน (ที่มีวินัยการเงินดี) ปลดหนี้ได้ด้วย

จะเห็นว่านโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาหนี้สินจึงไม่น่าจะเป็นนโยบายที่ช่วยคนจน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาหนี้ในระบบหรือกระทั่งหนี้นอกระบบ ซึ่งตรงข้ามกับความเชื่อของหลายรัฐบาล และของประชาชนอีกจำนวนมาก นโยบายช่วยปลดหนี้ให้กับประชาชนที่ละเลยการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้หรือลดรายจ่าย จึงเป็นนโยบายที่มีแนวโน้มทำให้ประชาชนสร้างหนี้ขึ้นใหม่ เพราะเกิดความคาดหวังว่าในที่สุดภาครัฐก็จะเข้ามาช่วยปลดหรือลดหนี้ให้เรื่อยๆ จึงเป็นการสร้างปัญหาหนี้ใหม่ที่ต้องตามไปแก้ไขไม่สิ้นสุด

การดำเนินการใดๆ เพื่อช่วยเหลือในเรื่องหนี้สินภาคประชาชนจะสามารถบรรลุผลได้อย่างแท้จริง และป้องกันไม่ให้โครงการเหล่านี้กลายเป็นโครงการที่ไปเพิ่มภาระหนี้สินให้กับประชาชน  ผู้ดำเนินนโยบายจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจในตัวโครงการ รู้จักอดออม ก่อนที่จะไปกู้เงินมาใช้ ปรับปรุงพฤติกรรมในการใช้จ่าย ให้ความรู้ในเรื่องการเงินของครัวเรือน ที่จะช่วยให้สามารถที่จะดูแลให้แต่ละเดือนมีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย เพื่อให้ไม่กลับไปเป็นหนี้อีกครั้ง  และที่สำคัญที่สุด รัฐบาลจะต้องส่งเสริมและปลูกฝังให้คนในชาติมีความพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ รู้จักประมาณตน ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อย่างจริงจัง

22-5-2557 13-59-28


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557