โพสต์ทูเดย์รายงาน: เปิด 7 ข้อเสนอผู้บริโภค จี้ ธปท. คุมบริการการเงิน

ปี2014-05-01

ในการประชุมสัมมนาผู้บริโภคประจำปี 2557 จัดโดยคณะกรรมการองค์อิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ประเด็นด้านการเงินการธนาคารยังเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา เนื่องจากผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน และมีการเรียกร้องมาโดยตลอด ล่าสุด มีการนำเสนอในเชิงนโยบายเพื่อให้หน่วยงานที่กำกับดูแลและตรวจสอบ ดำเนินการแก้ไข สร้างความเป็นธรรมให้ผู้บริโภค

ทั้งนี้ ปัญหาหลักที่ผู้บริโภคร้องเรียน ส่วนใหญ่ยังเป็นสินเชื่อบัตรเครดิตสินเชื่อส่วนบุคคลธุรกิจเช่าซื้อ และการถูกสถาบันการเงินบังคับขายพ่วง เช่นปล่อยสินเชื่อพร้อมบังคับซื้อประกันมีการคิดดอกเบี้ยค่าธรรมเนียม และค่าติดตามทวงหนี้ในอัตราสูงเป็นต้น

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ประธานอนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่า ได้รวบรวมข้อเสนอแนะด้านการเงินการธนาคารในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจำนวน 7 ข้อ คือ 1. การกำกับวิธีการขายบริการทางการเงิน โดยเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี ค่าธรรมเนียมทั้งหมด เพื่อความสะดวกให้ผู้บริโภคในการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ ยังเสนอให้นำธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. จากเดิมที่ส่วนใหญ่ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อจะได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการคิดดอกเบี้ยจากปัจจุบันที่คิดแบบเงินต้นคงที่ (Flat rate) เป็นแบบลดต้นลดดอก (Effective rate) หรือยกเลิกวิธีคำนวณหนี้และดอกเบี้ยตลอดระยะสัญญา กรณีที่มีการชำระหนี้ก่อนกำหนด เพราะถือว่าไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค รวมทั้งเสนอให้ ธปท. ออกข้อกำหนดให้ผู้บริโภคขอยกเลิกสินเชื่อได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับอนุมัติ โดยไม่มีบทลงโทษหรือค่าปรับ

2. ด้านการกำกับดูแลการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่นๆกรณีนี้ขอให้ ธปท. อธิบายที่มาของการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของบัตรเครดิตที่คิด 20% อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลที่คิด 28% ถึงสาเหตุของความแตกต่าง รวมทั้ง ธปท. ควรออกกำหนดให้ใบแจ้งหนี้ต้องใช้ภาษาไทยแทนภาษาอังกฤษ กำหนดหลักเกณฑ์การคิดค่าธรรมเนียมติดตามหนี้ที่เหมาะสมและให้สถาบันการเงินจัดทำตารางจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยตามงวดจ่ายให้กับลูกค้ารับทราบ

3. ขอให้ ธปท. ออกบทลงโทษกรณีที่สถาบันการเงินไม่ปฏิบัติตามประกาศการติดตามทวงหนี้

4. ขอให้ ธปท. ออกกฎระเบียบคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

5. ขอให้สถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ต้องเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

6. ในกำหนดนโยบายมาตรการหรือประกาศต่างๆ ธปท. ควรให้ผู้แทนผู้บริโภคมีส่วนร่วม

7. ขอให้ ธปท. เปิดเผยข้อมูลการร้องเรียนของแต่ละธนาคารพาณิชย์ต่อสาธารณชน เพื่อสร้างแรงกดดันกับสถาบันการเงิน รวมทั้งเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคในการตัดสินใจใช้สินค้าและบริการ

นอกจากนี้ เดือนเด่น ยังได้เสนอบทวิจัยแนวทางการกำกับดูแลพฤติกรรมในการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ โดยพบว่า ประเด็นการขายพ่วงสินค้าบริการทางการเงินนั้น ในกลุ่มประเทศอียู สหรัฐ แคนาดามีกฎหมายห้ามขายพ่วงสินค้าทางการเงิน

ในเรื่องการเปิดเผยต้นทุนค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย พบว่า ธนาคารกลางสหรัฐและออสเตรเลียมีบทบาทมากในการควบคุมอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของบัตรเครดิต โดยให้ธนาคารพาณิชย์ส่งข้อมูลด้านต้นทุนให้ธนาคารกลางเพื่อกำหนดกรอบต้นทุนที่เหมาะสม

“ในขณะที่ประเทศไทยมีกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม โดยผู้บริโภคไม่ทราบหลักเกณฑ์ ไม่ทราบต้นทุนที่แท้จริง”

เดือนเด่น ระบุว่า ธปท. มีการออกกฎระเบียบต่างๆ มากมายเกี่ยวกับบริการทางการเงิน แต่ไม่มีบทลงโทษและการไม่เปิดเผยข้อมูลข้อร้องเรียนที่ผู้บริโภคมีต่อสถาบันการเงิน และเปิดต่อสาธารณะ ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเดิม ที่ไม่มีแก้ไขจนเกิดวิกฤตศรัทธาต่อการทำงานของ ธปท. ในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค ธปท. จึงควรมีการทบทวนบทบาทการกำกับดูแลบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 30 เมษายน 2557