ประชาชาติธุรกิจรายงาน: ยกระดับ ‘จัดการความเสี่ยง’ เสริมความแข็งแกร่งสู้เพื่อนบ้าน

ปี2014-05-07

ธนาคารโลกชี้การบริหารความเสี่ยงเป็นเครื่องมือเพื่อการพัฒนาอันทรงพลัง เมื่อโลกเปลี่ยนไปโอกาสก็เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ระดับความเสี่ยงทั้งเก่าและใหม่ยังคอยตามเป็นอุปสรรคให้เกิดภาวะปั่นป่วนเศรษฐกิจได้ การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านต่าง ๆ จะมีส่วนช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลกเป็นไปอย่างยั่งยืน

ในงานเสวนาเชิงวิชาการที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ภายใต้หัวข้อ “รายงานการพัฒนาโลกประจำปี 2557 เรื่องความเสี่ยงและโอกาส”โดย ดร.นอร์แมน โลไอซ่า หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ หน่วยเศรษฐศาสตร์มหภาคและการเติบโตทางเศรษฐกิจ แผนกพัฒนาการเศรษฐกิจ ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ผู้จัดทำรายงานดังกล่าว เพื่อชี้ถึงประโยชน์ของการตั้ง “สถาบันเพื่อการจัดการความเสี่ยง” ซึ่งตัวอย่างประเทศที่สามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างยอดเยี่ยม คือ ชิลี และ อาร์เจนตินา ส่วนไทยถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง

นอกจากนี้ ดร.นอร์แมนยังเน้นย้ำความสำคัญของการบริการจัดการความเสี่ยงในรายงานการพัฒนาโลก 2557 ว่า มีกระบวนการแนวทางหลัก ๆ อยู่ 5 ประการ คือ

1) การรับเอาความเสี่ยงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการแสวงหาโอกาสในการพัฒนา เพราะความเสี่ยงที่เกิดจากการไม่ดำเนินการอะไรอาจเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด

2) ความสำเร็จในการเผชิญหน้ากับความเสี่ยง จำเป็นต้องเปลี่ยนการรับมือกับปัญหานั้น ๆ ให้เป็นการบริหารความเสี่ยงในเชิงรุกที่มีระบบ และบริการความเสี่ยงแบบบูรณาการ

3) การระบุเพียงความเสี่ยงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ การรับรู้ถึงข้อเสียและอุปสรรคของการบริหารความเสี่ยงนั้นด้วย

4) ความเสี่ยงที่เกินกว่าปัจเจกบุคคลจะรับมือไหว ต้องอาศัยการปฏิบัติร่วมกัน และความรับผิดชอบจากระดับต่าง ๆ ของสังคม ตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงระดับนานาชาติ

5) รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ ด้วยการจัดหาสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการปฏิบัติและความรับผิดชอบร่วมกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ดร.นอร์แมนยังให้แง่คิดที่น่าสนใจว่า “วิกฤตและความสูญเสีย จากการบริหารความเสี่ยงผิดพลาดนั้นมีต้นทุนสูง แต่มาตรการในการเตรียมพร้อมรับมือความเสี่ยงก็มีต้นทุนที่สูง เช่นกัน ดังนั้น การเตรียมรับความเสี่ยงจะยังคุ้มค่าอยู่หรือไม่”

ตัวอย่าง เหตุการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2554 บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า หากรัฐบาลมีการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับความเสี่ยงแต่แรก ต้นทุนในการช่วยเหลือประชาชนและการแก้ไขปัญหาอาจเป็นต่ำกว่าที่เกิดขึ้น

หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยใช้เงินเพียงเล็กน้อยในการจัดสรรงบฯโครงการการลงทุนระบบป้องกันความเสี่ยง อีกทั้งบทบาทของภาครัฐที่ยังมีน้อยมาก และไม่มีการส่งเสริมตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับนานาชาติ

จึงขอเสนอแนะดังนี้ 1) รัฐบาลไม่ควรส่งเสริมให้เกิดภาวะความเสี่ยงที่ไม่จำเป็น 2) ควรจัดการและเพิ่มแรงจูงใจในทางที่ถูกต้อง 3) ควรมุ่งแนวคิดการพัฒนาในระยะยาว สร้างกลไกที่พึ่งพาระบบการเมืองน้อยที่สุด 4) ส่งเสริมให้มีความยืดหยุ่น แต่มีการวางกรอบในทางที่ถูกต้อง 5) คุ้มครองกลุ่มคนที่อ่อนไหวและเปราะบาง

ขณะที่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ แสดงความคิดว่า การพัฒนาของไทยแม้จะมีการเคลื่อนไหวอยู่บ้าง แต่ถือว่าค่อนข้างช้า หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มเร่งสร้างความแข็งแกร่ง ส่วนปัญหาที่เห็นได้อย่างชัดเจนในไทย แน่นอนคือเรื่องระบบเศรษฐกิจและการเมืองการปกครอง ซึ่งถือว่ามีช่องโหว่อยู่พอควร

อย่างไรก็ตาม รายงานการพัฒนาของ ดร.นอร์แมนยังขาดการวิเคราะห์ถึงปัจจัยความอ่อนแอในเชิงสถาบัน ซึ่งอาจส่งผล กระทบต่อความสำเร็จในการพัฒนาได้

ส่วนทางด้าน ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ เห็นพ้องว่า สถาบันเพื่อการจัดการความเสี่ยงมี คุณประโยชน์ในการพัฒนาประเทศได้อย่างมาก แต่ปัญหาคือ “ไม่ใช่ไม่รู้ถึงไม่ทำ แต่ไม่ต้องการจะลงมือทำมากกว่า” และวิกฤตทางการเมืองไทยยังสะท้อนถึงปัญหาของการพัฒนาและโครงการในอนาคตด้วย

หากรัฐบาลไทยจะนำเอา “ระบบจัดการความเสี่ยง” มาพัฒนาต่อยอดอย่างจริงจัง อาจต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของกำหนดความรับผิดชอบแต่ละหน่วยที่ชัดเจน ต้องรู้จักทำงานแบบเครือข่าย สุดท้ายคือการเพิ่มศักยภาพระบบการจัดการที่สามารถเป็นไปได้จริง

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 5-7 พฤษภาคม 2557