โรงเรียนเป็นสถาบันสังคมซึ่งเกี่ยวข้องกับแบบแผนการขัดเกลา การถ่ายทอดวัฒนธรรม การให้ความรู้ และการฝึกทักษะอาชีพให้แก่ผู้เรียน เพื่อการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม แต่ในปัจจุบันพบว่าหลายโรงเรียนในประเทศไทยยังขาดคุณสมบัติการเป็นโรงเรียนที่ดีที่จะสร้างผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวอย่างสมบูรณ์
ผลเช่นนี้ จึงทำให้งานประชุมวิชาการ “อภิวัฒน์การเรียนรู้ สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ที่จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายเพื่อนปฏิรูปการเรียนรู้ จึงได้มีการเสวนาในหัวข้อ “โรงเรียนที่ดีจะมีถ้วนทั่วได้อย่างไร”
โดยมี “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอเป็นผู้บรรยาย
เบื้องต้น “ดร.สมเกียรติ” กล่าวว่า การปฏิรูปประสิทธิภาพการบริหารโรงเรียน เป็นมาตรการที่ส่งผลโดยตรงต่อกระบวนการการเรียนการสอนในห้องเรียนระหว่างครูและผู้เรียน ซึ่งจะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียน อันเป็นเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูประบบการศึกษา
“แต่พบว่าหลาย ๆ โรงเรียนในปัจจุบันไม่สามารถกำกับดูแลโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และโรงเรียนที่มีปัญหาในการกำกับดูแลครูยังคงมีอยู่เช่นเดิม ดังนั้น การยกระดับคุณภาพการศึกษาจึงต้องทำให้โรงเรียนและครูต้องรับผิดชอบต่อผู้ปกครองโดยตรง ซึ่งน่าจะมีประสิทธิผลมากกว่า”
“โรงเรียนที่ดีต้องมีอิสระและรับผิดชอบเป็น โดยพิจารณาจาก 4 ด้านดังนี้ คือ ด้านหลักสูตร, ด้านบุคลากร, ด้านทรัพยากร และด้านการควบคุมคุณภาพ ซึ่งหลักสูตรที่ดีจะต้องเน้นการสร้างทักษะที่ไม่แยกขาดออกจากชีวิตจริงเพื่อนำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า โรงเรียนจำเป็นต้องปรับการสอบให้สอดคล้องกับชีวิต ลดเวลาการเรียนและเนื้อหาที่ไม่จำเป็น”
“จะต้องจัดหลักสูตรที่สอดคล้องกับการเรียนการสอนแห่งศตวรรษที่ 21 คือสอนให้นักเรียนมีคุณลักษณะดังนี้ รู้จักปรับตัวและมีความเป็นผู้นำในเรื่องการทำงาน, สามารถชี้นำตนเองในด้านการเรียนรู้ และมีศีลธรรม เคารพผู้อื่น และสำนึกพลเมือง”
ส่วนด้านบุคลากรครู “ดร.สมเกียรติ” บอกว่า ภาครัฐต้องเพิ่มอิสรภาพให้แก่โรงเรียนในการคัดเลือกครู เพื่อให้ได้ครูที่ตรงกับความต้องการ และไม่ควรเอาครูเป็นตัวตั้ง เพราะระบบที่ดีต้องเอานักเรียนเป็นตัวตั้ง ทั้งนี้หลาย ๆ โรงเรียนยังขาดอิสรภาพในการบริหารบุคลากร คัดเลือกครูไม่ได้ และออกแบบการพัฒนาครูไม่ได้
“ดังนั้น การที่ภาครัฐเพิ่มอิสรภาพในการคัดเลือกและการพัฒนาครู จึงต้องให้สิทธิ์โรงเรียนสามารถกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกครูได้โดยตรง จนทำให้โรงเรียนมีครูที่สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนนั้น ๆ และสามารถไล่ครูที่มีปัญหาออกได้ด้วย นอกจากนั้นต้องให้สิทธิ์โรงเรียนต่าง ๆ ออกแบบการพัฒนาครู เน้นทักษะการสอนที่ไม่ใช่การอบรมความรู้อย่างเดียวอีกด้วย เช่น ให้ครูเก่งฝึกสอนเพื่อนครูในโรงเรียนหรือระหว่างโรงเรียน เพื่อลดงบประมาณการอบรมนอกโรงเรียนที่ไม่จำเป็น”
ถึงตรงนี้ “ดร.สมเกียรติ” กล่าวถึงการให้อิสระแก่โรงเรียนในด้านทรัพยากรว่า โรงเรียนรัฐควรมีอิสระในการบริหารงบประมาณ แต่ปัจจุบันโรงเรียนประถมที่มีนักเรียนยากจนได้รับงบประมาณเพิ่ม 1,000 บาทต่อคนต่อปี แต่ไม่เกินร้อยละ 40 ของนักเรียนทั้งหมด ซึ่งเป็นการได้รับทรัพยากรด้านศึกษาไม่เพียงพอ จึงทำให้นักเรียนมีผลการเรียนต่ำ
“ดังนั้น ภาครัฐควรสนับสนุนโรงเรียนทุกแห่งและนักเรียนทุกคน โดยเพิ่มสัดส่วนเงินอุดหนุน และให้โรงเรียนจัดสรรงบประมาณได้อิสระมากขึ้น จะทำให้โรงเรียนห่างไกลและนักเรียนยากจนได้รับเงินอุดหนุนเพิ่ม และทำให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม”
“การให้อิสระแก่โรงเรียนในด้านการควบคุมคุณภาพก็เป็นเรื่องจำเป็น แต่ปัญหาคือปัจจุบันโรงเรียนใช้เวลากับการประเมินภายนอกมากเกินไป ดังนั้น การปฏิรูปให้เกิดโรงเรียนคุณภาพจึงต้องวัดประเมินผลเพื่อปรับปรุงการสอน ประเมินภายนอกเฉพาะโรงเรียนที่มีปัญหา และให้รางวัลแก่ครูและโรงเรียนที่มีผลงานดี”
นอกจากนี้ “ดร.สมเกียรติ” ยังเปิดเผยข้อมูลจากธนาคารโลกที่บอกว่า ผู้เรียนที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนที่มีระดับความเป็นอิสระและความรับผิดชอบดังกล่าวสูง จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาซึ่งวัดโดยคะแนน PISA สูงกว่าโดยเฉลี่ย เมื่อเทียบกับผู้เรียนในโรงเรียนที่ขาดอิสระและความรับผิดชอบในการจัดการศึกษา
“ธนาคารโลกอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นอิสระ และความรับผิดชอบของโรงเรียนต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนว่า การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้แก่ผู้เรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมในแต่ละโรงเรียน จะมีอุปสรรคทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพที่หลากหลาย”
“ดังนั้น การบังคับใช้ระเบียบข้อบังคับในการบริหารสถานศึกษา ทั้งในด้านกำลังคน และงบประมาณแบบเดียวกันกับทุกโรงเรียนอย่างเข้มงวด จะทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาไม่มีอิสระในการจัดการกับอุปสรรคเหล่านั้นอย่างเต็มที่ เพราะการให้อิสระแก่โรงเรียนควรดำเนินการหลังจากมีกลไกความรับผิดชอบของผู้บริหารโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพแล้ว”
“เราจึงต้องร่วมกันส่งเสริมให้โรงเรียนดี มีคุณภาพในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ตรงนี้เป็นเรื่องที่ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมโรงเรียนดีให้มีคุณภาพมากขึ้นในทุกพื้นที่ ซึ่งผลจากการประชุมวิชาการครั้งนี้จึงน่าจะทำให้ได้รับทราบความรู้จากการสังเคราะห์ในการยกระดับคุณภาพครู”
“เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องเรียน, ลดช่องว่างคุณภาพของโรงเรียน เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงโรงเรียนที่ดีและมีคุณภาพ, ขยายผลระบบดูแลช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส และการปรับปรุงหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน เพื่อปลูกฝังทัศนคติและทักษะการทำงานที่ดี เพื่ออภิวัฒน์การเรียนรู้ไปสู่จุดเปลี่ยนทางการศึกษาของประเทศไทย”
ที่จะต้องรีบทำโดยเร็ว
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22-25 พฤษภาคม 2557