ปี | 2014-05-29 |
---|
กรุงเทพฯ : 7 องค์กรเอกชนเล็งชง คสช. สางปัญหาคอร์รัปชัน-โอนแบงก์รัฐให้ ธปท. ดูแล วอนเร่งฟื้นความเชื่อมั่น ด้านสภาธุรกิจตลาดทุนชี้โอกาสดีทำแผนระยะยาวประเทศไทย
วานนี้ (27 พ.ค.) 7 องค์กรภาคเอกชน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาด ทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย เพื่อพิจารณาแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจก่อนเสนอคณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา
นายสมเกียรติ์ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้เสนอเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน โดยให้นำเงินนอกงบประมาณทุกโครงการเข้าสู่งบประมาณของแผ่นดิน ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาการคอร์รัปชันได้ เช่น กรณีปัญหาคอร์รัปชันที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวที่ขาดทุน เนื่องจากไม่มีบัญชีที่ชัดเจน
นอกจากนี้ยังเสนอให้การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินของรัฐต้องเข้มงวดมากขึ้น และแนะนำให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เหมือนธนาคารพาณิชย์ เชื่อว่าน่าจะแก้ไขการปล่อยสินเชื่อได้มาก ขณะเดียวกันต้องเสนอรัฐบาลให้มีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำในระยะยาว และเหมาะสมกับความสามารถในการทำงาน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า จะประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณากรอบการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวก่อนเสนอให้ คสช. พิจารณาต่อไป
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลหารือยังไม่มีข้อสรุป ต้องกลับไปทำเป็นการบ้านต่อ ส่วนการเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาตินั้น ได้สื่อสารกับนักลงทุนอยู่แล้ว หากมีคำถามจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาจะนำมาวิเคราะห์และสื่อความกลับไป
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ได้พูดคุยถึงแผนเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งแผนระยะยาวนั้นอยากให้เป็นแผนที่อยู่คู่กับประเทศไทย ไม่ใช่เมื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็ต้องเปลี่ยนแผน เพราะประเทศไทยจำเป็นต้อง มีแผนระยะยาวมากๆ ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะเริ่มดำเนินการ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า 7 องค์กรภาคเอกชนจะประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาหากรอบการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาว ก่อนเสนอ คสช. พิจารณาต่อไป
โดยกรอบการปฏิรูปเศรษฐกิจ 7 ด้าน ได้แก่ ด้านการลงทุน ด้านการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า ด้านการศึกษา ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจ ด้านธรรมาภิบาลและการแก้ไขคอร์รัปชัน ด้านนวัตกรรม และด้านสังคม
สำหรับปัญหาระยะสั้นที่ ส.อ.ท. ต้องการให้ คสช. เร่งแก้ไข ได้แก่ การพิจารณาให้อนุกรรมการกลั่นกรองโครงการลงทุน สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีอำนาจพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งหลังของปี 2557 คาดว่าการส่งออกจะเติบโตเต็มที่ไม่เกิน 3% เนื่องจากออเดอร์สินค้าจากต่างประเทศช่วงไตรมาส 1 และ 2 เริ่มหมดลงแล้ว ส่วนการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มจะเติบโตได้ประมาณ 5% โดยมีมูลค่า 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าปี 2556 ที่มีมูลค่าส่งออก 2,890 ล้านเหรียญสหรัฐ
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ วันที่ 29 พฤษภาคม 2557