ทีดีอาร์ไอเสนอ 4 สร้าง เพื่อเติมเต็มศักยภาพนักเรียนไทย

ปี2013-11-26

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)


ทีดีอาร์ไอ ชี้คุณภาพการศึกษาไทยต้องเร่งแก้ไข แนะต้องปฏิรูป 4 สร้าง เพื่อเติมเต็มศักยภาพของนักเรียน โดยเน้นการสร้างคนให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และการสร้างทางเลือกคุณภาพ รองรับการเปลี่ยนแปลงทาง สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี ด้าน รมว.ศธ.ระบุ เร่งขับเคลื่อนนโยบาย เพิ่ม-กระจายโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนทุกเพศวัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต


การศึกษาเป็นหัวใจในการเปลี่ยนสังคมเศรษฐกิจไทยสู่ ‘เศรษฐกิจใหม่’ ที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตที่มีคุณภาพ ยั่งยืน มีนวัตกรรม เป็นธรรม และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สมาชิกทุกระดับในสังคม ในแง่นี้ การศึกษาไม่ควรถูกมองเป็นแค่ ‘เครื่องมือ’ ของการพัฒนา ‘แรงงาน’ ในฐานะปัจจัยการผลิต เพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงปริมาณเท่านั้น แต่การศึกษามีคุณค่าความหมายในตัวเอง เป็นจุดหมายปลายทางในตัวเอง เป็นไปเพื่อพัฒนา ‘มนุษย์’ แต่ละคน ซึ่งต่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเอง และต่างมีความปรารถนาในการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลายกันไป

การนำเสนอผลการศึกษา “การพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อผลิตภาพ” ซึ่งเป็นหัวข้อที่เป็นองค์ประกอบหลักของ  “โมเดลใหม่ในการพัฒนา : สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพโดยการเพิ่มผลิตภาพ”(New Development Model : Towards Quality Growth Based on Productivity Improvement) ซึ่งทีดีอาร์ไอได้นำเสนอในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 โดย ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ ระบุว่า โจทย์หลักของการศึกษาไม่ใช่การมุ่งผลิตคนเพื่อไปเป็นแรงงานตามสั่งราคาถูกตลอดชีวิต ไม่ใช่มุ่งส่งคนเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อถูกเอารัดเอาเปรียบจากโครงสร้างค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่การศึกษาควรมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างพลังความสามารถของนักเรียนให้แต่ละคนบรรลุศักยภาพสูงสุดตามเส้นทางที่แต่ละคนได้เลือกเอง เมื่อคนมีคุณภาพ ก็ย่อมมีผลิตภาพสูงขึ้น และเป็นกำลังสำคัญในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและสังคมเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ

การปฏิรูปการศึกษาของไทยควรตอบโจทย์การเติมเต็มศักยภาพนักเรียน โดยมุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา 4 อย่าง ได้แก่ 1.การสร้างคนเพื่อให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้นักเรียนอ่านเป็น คิดเป็น รู้จักโลก รู้จักตัวเอง มีทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ เช่น ทักษะการคิดขั้นสูง ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม 2.การสร้างทางเลือกคุณภาพ ผ่านการปฏิรูปหลักสูตร การวัดผล การพัฒนาครู การพัฒนาโรงเรียน ทำให้ระบบการศึกษา ทั้งสามัญและอาชีวะมีคุณภาพและความรับผิดชอบ (accountability) ต่อนักเรียน เพื่อทำให้นักเรียนมีทางเลือกคุณภาพให้เลือกสรรอย่างหลากหลายตามความถนัด 3.การสร้างระบบข้อมูลและระบบแนะแนวที่ดี เพื่อให้นักเรียนตัดสินใจเลือกได้อย่างมีคุณภาพ และ 4.การสร้างการมีส่วนร่วม โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนตลอดกระบวนการเรียนรู้

โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา 4 อย่าง
โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา 4 อย่าง

ในส่วนของการยกระดับอาชีวศึกษาให้เป็นทางเลือกคุณภาพสำหรับนักเรียนนั้น ผศ.ปกป้อง กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนจำนวนนักเรียนอาชีวะต่อนักเรียนสายสามัญเป็น 51:49 นั้น เป็นความตั้งใจที่ดี แต่การตั้งเป้าเพิ่มจำนวนอย่างเดียวนั้นไม่ใช่ทางออกในตัวเอง จำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณ เพิ่มการลงทุนด้านครุภัณฑ์ทางการศึกษา และเพิ่มจำนวนข้าราชการครู จึงจะสามารถพัฒนาคุณภาพได้

ในปัจจุบัน ระบบอาชีวะยังขาดแคลนงบประมาณอยู่มาก งบประมาณต่อหัวนักเรียน ปวช. อยู่ที่ 25,042 บาทเท่านั้น ขณะที่งบประมาณต่อหัวนักเรียน ม.ปลาย อยู่ที่ 28,261 บาท ทั้งที่ต้นทุนในการจัดการศึกษาสูงกว่าเพราะต้องลงทุนด้านเครื่องจักรและวัสดุฝึก นอกจากนั้น งบครุภัณฑ์ยังอยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอด ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา งบครุภัณฑ์โดยเฉลี่ยคิดเป็น 7% ของงบอาชีวะทั้งหมดเท่านั้น และไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเลย

นอกจากนั้น ระบบอาชีวศึกษายังขาดแคลนครูอยู่มาก ในช่วงปี 2548-2555 จำนวนข้าราชการในระบบอาชีวศึกษา ลดลงถึง 10% ขณะที่ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพิ่มขึ้น 2% สัดส่วนนักเรียนต่อข้าราชการครูอาชีวศึกษาอยู่ที่ 44:1 สูงกว่า สพฐ. ซึ่งอยู่ที่ 22:1 ถึงเท่าตัว

ผศ.ปกป้อง ยังกล่าวด้วยว่า การปฏิรูปการศึกษาไม่ได้เป็นแค่หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่ทุกภาคส่วนในสังคม พ่อแม่ นักเรียน ครู ภาคธุรกิจ บริษัทห้างร้าน สถาบันการศึกษา ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งนี้ ปัจจัยที่สำคัญในการปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จคือ เจตจำนงในการปฏิรูปที่แน่วแน่ แต่ 15 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถึง 16 คน ทำงานเฉลี่ยคนละ 10 เดือน สูงสุด 1 ปี 8 เดือน ต่ำสุด 2 เดือนครึ่ง รัฐบาลนี้เรามีแล้ว 4 คน การที่ รมว.เปลี่ยนบ่อย ทำให้ไม่มีความต่อเนื่องในเชิงนโยบาย ถ้าอยู่สั้นเราก็แก้ปัญหายาวๆ แต่สำคัญยิ่งไม่ได้

ด้าน นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า การประเมินวิทยฐานะครูควรเชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนด้วย เพราะการปฏิรูปการศึกษาต้องมีการจัดการในเรื่องวัตถุดิบซึ่งหมายถึงครูผู้สอนนั่นเอง ที่ต้องมีมาตรฐานการสอนให้มีคุณภาพ โดยคุณภาพดังกล่าวของครูต้องมีการวัดระดับจากส่วนกลางไม่ใช่จากทางโรงเรียน ด้วยการนำผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาทั้งคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเนต และการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน มาเป็นตัวชี้วัดทางการสอนของครูด้วย โดยอยู่ภายใต้จรรยาบรรณเนื่องจากเรื่องดังกล่าวค่อนข้างละเอียดอ่อนพอสมควร ซึ่งจะทำให้ผลการประเมินวิทยฐานะของครูมีคุณภาพมากขึ้น

นายจาตุรนต์ ยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลและแนวทางการปฏิบัติในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวง รวมถึงหาแนวทางในการดำเนินงานพัฒนาการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา พร้อมปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกันและนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพในการพัฒนาการเรียนการสอน ขณะเดียวกัน ยังเน้นการเพิ่มโอกาสและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้กับประชาชนทุกเพศวัยอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะเป็นอีกแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยอันจะนำสู่การสร้างคนให้มีทักษะรองรับการขยายตัวของประเทศในทุกภาคส่วน


ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 :  Icon_PDF