tdri logo
tdri logo
6 มิถุนายน 2014
Read in Minutes

Views

เร่งส่งออกข้าวทะลุ ‘9 ล้านตัน’ ผู้ส่งออกเสนอ คสช. ตั้ง ‘ไรซ์บอร์ด’ วางนโยบาย

“ทีดีอาร์ไอ” เสนอ เร่งเช็คสต็อกแยกข้าว เลิกระบบอุดหนุนราคา

“ผู้ส่งออกข้าว” เล็งเสนอ คสช. ตั้ง “ไรซ์ บอร์ด” หวังวางนโยบายข้าวระยะยาว ปลอดการเมือง ชี้ กขช. นักการเมืองแทรกตลาดข้าวพัง แนะวิธีดันราคาข้าวระยะสั้น ตรวจสต็อก หาตลาดขายข้าวล่วงหน้ามั่นใจราคาข้าวเปลือกฤดูกาลใหม่แตะตันละ 9,000 บาทได้ ประเมินปีนี้ส่งออกพุ่ง 9 ล้านตันจากเป้าหมายเดิม 7.5 ล้านตันเป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย

ภายหลังจากการควบคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ปมประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ต้องเร่งแก้ไข คือ นโยบายจำนำข้าวในราคาสูงบิดเบือนกลไกตลาด ทำให้โครงสร้างตลาดข้าวไทยพังลง มีหลายภาคส่วนได้พยายามนำเสนอความเห็นไปยังคสช.เพื่อหาทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯเตรียมยื่นข้อเสนอ คสช. ในการบริหารจัดการข้าวไทย เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่เหมาะสมและอุตสาหกรรมข้าวไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมาตรการระยะยาวเห็นว่า ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการข้าวภาคเอกชน (Rice Board) ซึ่งประกอบด้วย เกษตรกร ผู้ประกอบการ โรงสีข้าว และผู้ส่งออก เพื่อให้ผู้มีส่วน ได้เสียในธุรกิจนี้ สามารถกำหนดนโยบายได้ ลดผลกระทบที่เกิดจากการใช้นโยบาย การเมือง มากำหนดทิศทางอุตสาหกรรมข้าวของไทย

ทั้งนี้ ในส่วนของคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) ไม่น่าจะสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ เพราะมีแต่ภาครัฐเป็นกรรมการและสามารถควบคุมได้ด้วยภาคการเมือง

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดคณะกรรมการ จะต้องมาหารือถึงความเหมาะสม ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง แต่ให้เน้น หลักการคือความเสมอภาค ในการแสดงความเห็นการกำหนดทิศทางสินค้าข้าว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ถูกขับเคลื่อนอย่างไร้แผนที่เหมาะสม จนสร้างความเสียหายแก่ธุรกิจ ในทุกขั้นตอนทั้งต้นน้ำ คือ ชาวนา กลางน้ำ โรงสีและปลายน้ำคือผู้ส่งออก

นอกจากนี้ ควรสนับสนุนให้อุตสาหกรรมข้าวไทยกลับสู่กลไกตลาดอย่างสมบูรณ์ ปลอดอิทธิพลทางการเมือง และส่งเสริมให้ชาวนาสามารถเพิ่มรายได้ด้วยการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)ได้

แนะเร่งตรวจสต็อกแยกข้าวโกดังรัฐ

นายเจริญ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการระยะสั้น เพื่อดูแลราคาข้าวให้สูงขึ้นจากในปัจจุบันที่พบว่าตกต่ำลง โดยราคาข้าวเปลือกเจ้าเฉลี่ยตันละ 7,500 บาทเท่านั้น โดยรัฐบาลควรตรวจสต็อกข้าวทั่วประเทศ เพื่อแยกปริมาณ ชนิด คุณภาพ สำหรับใช้เป็นข้อมูลการวางแผนระบายต่อไป ซึ่งการระบายจากนี้ จะต้องให้เป็นไปอย่างโปร่งใสกำหนดราคาขายตามเกรดและชนิดของข้าวอย่างแท้จริง

แนะใช้ข้าวในตลาดส่งจีทูจีดันราคา

ส่วนการรองรับข้าวเปลือกฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะออกสู่ตลาดในช่วง ต.ค.นี้ รัฐบาลควรเน้นการหาตลาดข้าวไว้ล่วงหน้า ทั้งรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และแบบอื่นๆ รวมถึงการนำจีทูจีกับจีนที่มีอยู่ 1 ล้านตัน ซึ่งการส่งมอบ ยังไม่มีความคืบหน้านั้น ให้ระงับการนำข้าวจากโกดังรัฐ เพื่อส่งมอบไว้ก่อน และให้นำข้าวในตลาดไปส่งมอบ เพื่อสร้างดีมานด์ ที่จะทำให้ราคาข้าวในตลาดเพิ่มขึ้น

เบื้องต้นพบว่า สัญญาจีทูจีดังกล่าวปริมาณรวม 1 ล้านตัน กำหนดส่งมอบล็อตแรก 1 แสนตัน สิ้นสุด เม.ย. ที่ผ่านมานั้น ยังไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้ “มาตรการที่จะดูแลสินค้าข้าวทั้งระยะสั้นและระยะยาว สมาคมได้มีการหารือกันก่อนได้ข้อสรุปนี้และถ้ามีโอกาสจะนำเสนอให้ คสช.เพื่อนำไปพิจารณา ซึ่งเชื่อว่าจะมีการนำแนวจากส่วนอื่นๆ มาร่วมพิจารณาด้วย เพื่อให้ทิศทางสินค้าข้าวจากนี้ไม่ สะเปะสะปะเหมือนที่ผ่านมา หากผู้มี อำนาจเห็นด้วย เชื่อว่าจะทำให้ราคา ข้าวเปลือกในตลาดปรับขึ้นได้ถึงตันละ 8,000-9,000 บาทอย่างที่ชาวนาต้องการ’นายเจริญ กล่าว ขณะที่ข้อเสนอของกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการให้คสช.ใช้มาตรการแทรกแซง ตลาดข้าว มองว่าหากมีความจำเป็นก็ทำได้ แต่ควรเป็นครั้งคราว ไม่ควรดำเนินการในระยะยาว เพราะข้าวที่แทรกแซง ต้องแบก ภาระขาดทุน ต้องหาวิธีการให้เกิดการขาดทุนน้อยที่สุด

นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า สมาคมโรงสีเสนอให้ผู้มีอำนาจรัฐปลดล็อกข้อห้ามโรงสีซื้อข้าวข้ามเขต หลังไม่มีโครงการรับจำนำ เพื่อจะให้โรงสีสามารถเข้าไปแข่งขันซื้อข้าวในตลาดได้มากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการยกระดับราคาได้

ชี้ข้าวไทยแข่งอินเดีย-เวียดนามได้

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีหลัง เชื่อว่าไทยอาจจะแซงอินเดียได้ เนื่องจากราคาข้าวไทยยังต่ำกว่าคู่แข่ง โดยราคาข้าวอินเดีย อยู่ที่ตันละ 420-430 ดอลลาร์ ส่วนราคาข้าวเวียดนามอยู่ที่ประมาณ ตันละ 400 ดอลลาร์ ประกอบกับจีนมีความต้องการนำเข้าข้าวมากขึ้น อินเดียอาจทบทวนนโยบายส่งออกข้าว และสภาพอากาศของโลก ยังมีโอกาสเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้ข้าวไทยมีแนวโน้มส่งออกได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่ไทยยังมีสต็อกมากถึงเกือบ 10 ล้านตัน ทำให้ราคาข้าวไทยอาจจะปรับขึ้นได้เพียง ตันละ 10-20 ดอลลาร์เท่านั้น

ส่งออกปีนี้ 9 ล้านตันรั้งที่ 2

ขณะที่กระทรวงเกษตรของสหรัฐ คาดการณ์ภาวะการค้าข้าวของโลกในปีนี้ จะมีปริมาณรวม 40.79 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 4.64 %เมื่อเทียบกับปีก่อน และคาดว่าไทยจะส่งออกเป็นอันดับที่สอง ที่ปริมาณ 9 ล้านตัน

ส่วนแชมป์ส่งออกข้าวอันดับ 1 คาดว่าจะเป็นอินเดีย ส่งออกได้ที่ปริมาณ 10 ล้านตัน ตามด้วยเวียดนาม 6.5 ล้านตัน สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่คาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ 9 ล้านตัน มูลค่า 4,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 150,000 ล้านบาท ซึ่งจีนยังนำเข้าข้าวมากที่สุด ในโลกที่ปริมาณ 3.2 ล้านตัน หรือ อาจจะ มากถึง 5 ล้านตัน เพราะยังมีข้าวผ่านแดนหลายล้านตันที่ไม่ได้ถูกบันทึกในรายการนำเข้าของจีน

สำหรับการส่งออกข้าวไทยช่วง 5 เดือนแรก ตั้งแต่ 1 ม.ค.-20 พ.ค. 2557 ไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ1 ของโลก ปริมาณ 3.93 ล้านตัน ตามด้วยอินเดีย 3.74 ล้านตัน และเวียดนาม 2.4 ล้านตัน ซึ่งการพยากรณ์ของสหรัฐสอดคล้องสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยที่ปรับคาดการณ์การส่งออกปีนี้ใหม่เป็น 9 ล้านตันจากเดิม 7.5 ล้านตัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากค่าเงินที่อ่อนค่าลงอยู่ที่ 32.80 บาทต่อดอลลาร์ การที่อิรักยกเลิกห้ามนำเข้าข้าวจากไทย การไม่มีระบบการแทรกแซง ทำให้กลไกตลาดทำงานเต็มที่

คาดปีหน้าไทยทวงแชมป์ส่งออกคืน

ส่วนการส่งออกในปี 2558 นั้นคาดว่าไทยจะส่งออกข้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 อีกครั้งที่ปริมาณ 10 ล้านตัน อินเดีย 9 ล้านตัน และเวียดนาม 6.70 ล้านตัน โดยมีผู้นำเข้ารายใหญ่ คือจีน ไนจีเรียและฟิลิปปินส์ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายการบริหารข้าวของภาครัฐด้วย ประกอบกับปัจจัยตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะนโยบายของอินเดียที่เป็นคู่แข่งสำคัญ ก่อนหน้านี้การส่งออกข้าวไทยหลังนโยบายรับจำนำของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2555 ไทยส่งออก 6.95 ล้านตันไปอยู่อันดับ 3 ก่อนมาส่งออก 6.72 ล้านตันในปี 2556 ตามหลังอินเดียและเวียดนามที่รั้งอันดับ 1และ 2 ตามลำดับ

ทีดีอาร์ไอแนะเร่งตรวจสต็อก

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยที่ไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการอุดหนุนเกษตรกรหรือชาวนาขณะนี้ คือการเร่งทำบัญชีโครงการรับจำนำข้าว เพื่อตรวจสอบสต็อกเข้าที่ชัดเจนว่าขณะนี้มีจำนวนเท่าไร โดยเฉพาะการทำบัญชีระบายข้าวทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นแบบรัฐต่อรัฐ หรือรัฐกับเอกชน

“ต้องทำบัญชีในแต่ละโกดังเลยว่า เข้ามาเท่าไร ออกไปเท่าไร และเหลือเท่าไร ในจำนวนนี้เป็นข้าวเก่าเท่าไร ข้าวใหม่เท่าไร หลังจากนั้นก็ทำบัญชีตรวจสอบ โดยใช้มืออาชีพในการเข้าตรวจสอบ ซึ่งคนตรวจสอบต้องเป็นหน่วยงานอิสระ” นายนิพนธ์กล่าวและว่า หากสต็อกน้อยกว่าตลาดคาดหวัง เช่นสมมติว่าตลาดคาดว่าจะมีสต็อก 16-17 ล้านตัน แต่พอตรวจนับจริงอาจมีสูญหายหรือเสียหายทำให้เหลือแค่ 10 ล้านตัน ถ้าตลาดรับรู้ ราคาข้าวในตลาดโลกปรับขึ้นแน่นอน

ส่วนการอุดหนุนด้านราคาไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน ถือเป็นเรื่องอันตราย แม้จะใช้วิธีประกันรายได้ขั้นต่ำ เพราะจูงใจให้ผลิตเพิ่มขึ้น กลายเป็นปัญหาทางการเมืองได้

หนุนจัดระบบสวัสดิการพื้นฐาน

นายนิพนธ์ กล่าวว่า แนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรที่ดี โดยไม่เป็นการสร้างภาระทางการคลังที่มากเกินไป คือ การจัดระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ซึ่งระบบนี้นอกจากจะช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว ยังช่วยเหลือประชาชนคนจนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเกษตรกรด้วย

“เวลานี้เราต้องตั้งกองทุนน้ำมัน เพื่อพยุงราคาน้ำมัน เก็บภาษีคนใช้น้ำมันเบนซิน มาอุดหนุน คนใช้ดีเซล หรือแก๊ส ซึ่งมันบิดเบือนไปหมด ทำไมเราไม่หันมาใช้ระบบอุดหนุนง่ายๆ อย่างระบบสวัสดิการ โดยอุดหนุนทุกคนที่เป็นคนจน ซึ่งทำได้โดยการจดทะเบียนคนจน” นายนิพนธ์กล่าว

นอกจากนี้ยังมีระบบสวัสดิการอีกประเภท คือ การจัดตั้งกองทุนการออม เพราะในเวลานี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรืออย่างเกษตรกรเอง อายุเฉลี่ยก็สูงกว่า 50-55 ปี ดังนั้นจึงควรมีกองทุนประเภทชราภาพเพื่อเลี้ยงดูคนเหล่านี้ “เรามีกฎเกณฑ์ของกองทุนเหล่านี้แล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐาน แต่ต้องไม่ใช่การให้อะไรที่มากมายเกินไป” นายนิพนธ์กล่าว

เขากล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ทางทีดีอาร์ไอเคยจัดทำเสวนาในต่างจังหวัด และก็ได้สอบถามคนในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับระบบดังกล่าว โดยคนส่วนใหญ่บอกว่าแม้รัฐบาลจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) เพิ่มขึ้นแต่ถ้าเก็บแล้วไม่รั่วไหล นำไปใช้ในระบบสวัสดิการเหล่านี้ พวกเขาก็ยอมรับได้


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 มิถุนายน 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด