กรุงเทพธุรกิจรายงาน: จัดระเบียบต่างด้าว แก้ ‘ขาดแคลน-แรงงานทาส’ ระยะยาว

ปี2014-06-30

นครินทร์ ศรีเลิศ

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แนะจัดระเบียบแรงงานทั้งระบบใหม่ แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและความต้องการของภาคอุตสาหกรรม มีประเด็น ดังนี้

นายยงยุทธ กล่าวว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยมาจากการหลั่งไหลเข้ามาทำงานจำนวนมาก จนไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วมีแรงงานต่างด้าวจำนวนเท่าใดและทำงานในอาชีพใดบ้าง ก่อให้เกิดเป็นปัญหาที่สั่งสมมาอย่างยาวนานซึ่งเกิดจากขบวนการผิด กฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายส่วน เช่น นายหน้าเถื่อนที่พาแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาแทรกปนกับแรงงานถูกกฎหมาย การคอร์รัปชันของ เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง และการบังคับใช้กฎหมายของไทยในเรื่องนี้ที่อ่อนแอมาก

ดังนั้น ถือว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อปรับโครงสร้างระบบแรงงานต่างด้าว ให้มีระบบมากขึ้นและสมดุลกับการพัฒนาแรงงานไทยในอนาคตมากขึ้น

“คงถึงเวลาแล้วที่เราจะกวาดบ้านให้สะอาดเอาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายออกไป หรือหาวิธีการทำให้ถูกต้อง ซึ่งถ้าเราจะเคลียร์ก็ถึงเวลาที่ต้องมาจัดระเบียบสักที และช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ แท้จริง และสร้างรูปธรรมล้างภาพติดลบ การใช้แรงงานทาส ค้ามนุษย์ ที่ไทยถูกจับตามา ต่อเนื่อง”

นายยงยุทธ กล่าวว่า จากการศึกษาความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวในรอบสิบปีที่ผ่านมาพบว่าจำนวนแรงงานต่างด้าวที่เหมาะสม ต่อความต้องการในประเทศไทยอยู่ระหว่าง 2.5-3 ล้านคน หรือ ไม่เกิน 5-6% ของกำลังแรงงานภายในประเทศ

“ปัจจุบันไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าในประเทศมีแรงงานต่างด้าวมากเท่าไร หรือเพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมในประเทศ มากน้อยเท่าไร”

ดังนั้น ในช่วงเวลา 1-2 ปีนี้จะต้องจัดระเบียบใหม่ในเรื่องของอาชีพ สาขาการผลิต และพื้นที่ที่จะจ้างแรงงานต่างด้าวใหม่ทั้งหมดโดยมีการศึกษาวิจัยเรื่องเหล่านี้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้ทราบความต้องการของการจ้างแรงงานต่างด้าวทดแทนคนไทยที่ขาดแคลนในแต่ละอาชีพสาขาการผลิตและพื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการจัดระเบียบการจ้างแรงงานต่างด้าวตามสาขาอาชีพที่จำเป็นจริงๆ ควบคู่ไปกับการทำการศึกษาหารือเรื่องอาชีพที่ควรสงวนไว้ให้คนไทยครั้งหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่าอาชีพเดิมที่มีอยู่ประมาณ 39 อาชีพ ยังสมควรที่จะรักษาไว้ให้คนไทยทำอยู่หรือไม่ และอะไรบ้างที่จะมีการสงวนเพิ่มเติมหรือไม่ พิจารณาปรับปรุงอาชีพที่จะให้คนต่างด้าวทำ โดยเน้นสาขาหรือธุรกิจที่มีความต้องการเป็นจำนวนมาก เช่น 50 คนขึ้นไป (ยกเว้นผู้ช่วยงานบ้าน)

สำหรับแนวทางการปรับโครงสร้างและแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวในไทย แบ่งออกได้เป็น 6 แนวทาง ได้แก่

1.ใช้หลักการว่าสถานประกอบการใดที่ใช้แรงงานต่างด้าวต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งการดูแลจ่ายค่าใช้จ่าย การให้สวัสดิการต่างๆ แก่แรงงานต่างด้าว รวมไปถึงผู้ที่ติดตามแรงงานเข้ามา เช่น บุตรของแรงงานต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 2 แสนคน

2.การออกกฎหมายนิรโทษกรรมกับนายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทุกประเภทที่สามารถทำได้รวดเร็วในขณะนี้โดยภายใต้การบริหารของ คสช.ในขณะนี้โดยกำหนด เป็นกฎหมายระยะสั้น และให้แรงงานมา ลงทะเบียนภายในเวลา 2-3 เดือน และผ่อนผันให้กับนายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายนำแรงงานมาจดทะเบียนให้ถูกต้องโดยไม่มีการเสียค่าปรับ

3.ศึกษาและทบทวนข้อกำหนดการประกอบอาชีพของแรงงานต่างด้าวที่ทำได้หรือมีความขาดแคลนจากเดิมที่กำหนดไว้ 39 อาชีพ แต่ในปัจจุบันมีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวในหลากหลายสาขาอาชีพมากขึ้น เช่น พนักงานหน้าร้านเสริมสวย สถานีบริการน้ำมัน ซึ่งอาจจะมีการขยายขอบเขตการประกอบอาชีพให้มากขึ้นเพื่อรองรับการขาดแคลนแรงงานในสาขาต่างๆ

นายยงยุทธ กล่าวว่าแม้ในอนาคตแนวโน้มความต้องการแรงงานระดับล่างในประเทศไทยจะน้อยลงในอนาคต ทั้งแรงงานต่างด้าวและแรงงานไทยที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือจะน้อยลงเพราะอุตสาหกรรมในไทยเริ่มใช้เทคโนโลยีในการผลิตมากขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มสินค้า แต่ในบางสาขาอาชีพ เช่น เรือประมงเดินทะเลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องใช้แรงงานคน ก็อาจแยกให้อุตสาหกรรมประมงออกจากอุตสาหกรรมเกษตรทั่วไปที่มีการผ่อนผันให้ใช้แรงงานต่างด้าวได้100% “ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องดูว่าไปดูว่าแรงงานต่างด้าวกว่า 3 ล้านคนในประเทศไทยทำอาชีพอะไรกันอยู่และจัดระบบอาชีพใหม่ อาชีพใดทำได้หรือไม่ได้ หรืออาชีพใดขาดแคลนแรงงานจริงๆ ส่วนที่มีการจ้างอยู่แล้วก็กำหนดว่าจะให้สามารถจ้างไปได้ถึงเมื่อใด เพื่อให้นายจ้างปรับตัว แต่หลังจากนี้ต้องประกาศห้ามจ้างงานต่างด้าวในสาขาที่กำหนดเพื่อเป็นการควบคุมปริมาณแรงงานต่างด้าวให้มีความเหมาะสม” นายยงยุทธกล่าว

4.การจัดโซนนิ่ง แบ่งเป็นโซนนิ่งจังหวัดสีขาว คือ จังหวัดที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวจำนวนน้อยก็จัดหาแรงงานไทยทดแทน หรือจัดระเบียบจังหวัดที่ไม่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมเลยให้เป็นกลุ่มจังหวัดที่ปลอดแรงงานต่างด้าว ขณะที่จังหวัดในเขตชายแดน หรือพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้จัดเป็นโซนนิ่งชายแดนที่จัดสรร อาชีพ หรือพื้นที่ให้กับแรงงานต่างด้าวซึ่งการจัดโซนนิ่งแรงงานจะเป็นทางออกให้มีการควบคุมปัญหาแรงงานในระยะยาว

สำหรับประเด็น พื้นที่ ซึ่งมีทั้งพื้นที่ชายแดน พื้นที่ทั่วไป และพื้นที่ชายทะเล การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในแต่ละพื้นที่ ควรให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.แรงงานต่างด้าว พ.ศ.2551 คือ ต้องให้มีระเบียบ กฎเกณฑ์ (กฎหมายลูก) ให้ชัดเจนว่าจะมีระเบียบวิธีการอย่างไรในการจ้างแรงงานต่างด้าวตามชายแดน หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น แบบมาเช้ากลับเย็น รายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี ทั้งนี้ต้องพิจารณาประกอบกับกฎหมายการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในเรื่องของการอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานต่างด้าวหรือไม่อย่างไร อีกทั้งจะต้องพิจารณาว่า จะทำอย่างไรให้คนไทยวัยทำงานหรือคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้รับประโยชน์จากนโยบาย เช่น การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น

ส่วนพื้นที่ชายทะเล หรือจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัด ควรเป็นพื้นที่ที่ต้องจัดระเบียบ ในเรื่องของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเลี้ยงกุ้ง การเลี้ยงปลา รวมทั้ง การทำประมงทะเล และกิจการต่อเนื่องจากประมงให้ครบวงจร ทั้งนี้ธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับประมงเหล่านี้ ทำให้ไทยต้องมีปัญหากับต่างประเทศมาตลอด เช่น เป็นประเทศที่ถูกกำหนดให้ถูกเฝ้าระวังเป็นพิเศษด้านการบังคับใช้แรงงาน หรือการค้ามนุษย์ เป็นต้น จึงเสนอให้จัดทำเป็นโครงการพิเศษแยกออกมาจากการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวโดยทั่วไป เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาได้รวดเร็ว เป็นรูปธรรม ในแบบบูรณาการ เพื่อแก้ปัญหาการถูกกล่าวหาว่า “ค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานเด็ก”

โดยพิจารณานำ “สมุทรสาคร โมเดล” มาพิจารณาอีกครั้ง หลักการคือ ให้สมาคมธุรกิจต่าง ๆ สมาคมวิชาชีพ เช่น สมาคมประมง ต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบให้ความร่วมมือกับรัฐอย่างจริงจัง มีรูปแบบการบริหารจัดการที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับภาวะตลาดแรงงาน

5. จัดตั้งศูนย์การจ้างงานเพื่อแลกเปลี่ยนแรงงาน เนื่องจากบริเวณชายแดนมีการเข้าออกของแรงงานต่างด้าวอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเพื่อตัดปัญหาเรื่องนายหน้าเถื่อน การเรียกเก็บค่าหัวคิว ควรจัดให้มีการรายงานตัวกับแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย ขณะที่นายจ้างที่ต้องการโควตาการรับแรงงานเข้าทำงานก็สามารถไปติดต่อรับแรงงานได้ ณ จุดนี้ หากอาชีพใดที่แรงงานต่างด้าวไม่สามารถทำได้ หรือเกินความต้องการจึงผลักดันกลับประเทศ หรือสามารถแลกเปลี่ยนไปยังสถานประกอบการอื่นๆ ที่ยังมีความต้องการแรงงานได้

6.ควรมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานต่างด้าวให้อยู่ในระดับเดียวกับแรงงานไทย ตามที่มีการบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เนื่องจากการจ้างแรงงานต่างด้าวในประเทศเป็นการทำงานที่เทียบเท่ากับหรือหนักกว่าแรงงานไทยและจะเป็นตัวกำหนดด้วยว่า แรงงานต่างด้าวก็ต้องปฏิบัติตัวอยู่ภายใต้ กฎหมายที่ควบคุมแรงงานในประเทศไทยอย่างเคร่งครัด

“ทุกคนที่อยู่ในดินแดนไทยต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย คือ เราจ่าย 300 บาท ก็ต้องจ่ายในทุกสถานประกอบการ จะเป็น สองมาตรฐานไม่ได้ ในประเทศพัฒนามี การร่างกฎหมายสำหรับแรงงานต่างด้าวและจ่ายค่าจ้างแรงงานในประเทศสูงกว่า แต่คนไทยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาควรอยู่ระดับเดียวกันเพราะเขามาทำงานเคียงข้างคนไทยก็ต้องให้เขาเท่ากัน” นายยงยุทธกล่าว

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 มิถุนายน 2557