จิราภรณ์ แผลงประพันธ์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ช่วงปฐมวัย หรือ 5 ขวบแรกของชีวิต เป็นช่วงโอกาสทองของเด็ก เพราะร่างกายและสมองของเด็กจะเติบโตได้อย่างรวดเร็วหากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม การพัฒนาที่ถูกต้องและไม่เนิ่นช้าจะช่วยให้เด็กมีทักษะทางกายภาพ ความฉลาดทางสติปัญญา และความมั่นคงทางอารมณ์ เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ประสบความสำเร็จในการศึกษาและอาชีพการงาน เป็นกำลังสำคัญของสังคมและเศรษฐกิจ
ศ.ดร.เจมส์ เจ. เอคแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล 2542 เคยระบุว่า “การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าให้ผลตอบแทนแก่สังคมที่ดีที่สุดในระยะยาว โดยให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในอนาคต 7-10 เท่า”
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเด็กวัย 0-5 ปี จำนวนทั้งสิ้น 4,557,091 คน (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2556 ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย) เด็กอายุ 0-1 ปี (จำนวน 1,481,714 คน) ยังอยู่กับพ่อแม่และครอบครัว ส่วนเด็กอายุ 2-5 ขวบจำนวน 3,075,377 คน บางส่วนเข้าสู่ระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน (1,488 แห่ง: มิถุนายน 2557) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (19,820 แห่ง: 2556) และโรงเรียนอนุบาล (32,590 แห่ง) แต่ก็มีบางส่วนที่ยังไม่มีโอกาสได้รับการเตรียมความพร้อม คิดเป็นประมาณร้อยละ 13 ของเด็กทั้งหมด
ตัวเลข 13 เปอร์เซนต์ของเด็กที่ไม่ได้เรียนอนุบาลหรือไม่ได้รับการดูแลในศูนย์เด็กเล็กเป็นเพียงภาพบางส่วนของปัญหาพัฒนาการเด็กปฐมวัย ผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นพบว่า เด็กวัยนี้กำลังประสบปัญหาที่บั่นทอนสุขภาวะอย่างมากจากการเลี้ยงดูและดูแลที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ที่ไม่พร้อม (การเพิ่มขึ้นของแม่วัยใสทำให้ปัญหานี้รุนแรงขึ้น) หรือสถานศึกษา/ศูนย์เด็กเล็ก ผลการวิจัยของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าเด็กปฐมวัยร้อยละ 30 หรือ 1 ใน 3 มีพัฒนาการล่าช้า โดยเป็นความล่าช้าทางด้านภาษาถึงร้อยละ 20 และล่าช้าด้านปฏิภาณไหวพริบและการเข้าสังคมอีกร้อยละ 6 ซึ่งพัฒนาการทั้ง 2 ด้านจะมีผลกระทบในภายหลังต่อระดับสติปัญญา (ไอคิว) ทักษะการอ่าน เขียนและคำนวณ
สาเหตุหลักของพัฒนาการล่าช้าในเด็กวัยนี้เป็นเพราะขาดโภชนาการที่ดี เริ่มจากโฟเลต ซึ่งแม่ควรได้รับตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ 2 เดือนต่อเนื่องไปจนถึงอายุครรภ์ 3 เดือน นอกจากนี้พ่อแม่หรือผู้ดูแลมักไม่เห็นความสำคัญของอาหารเช้า และสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของสมอง เช่นในปี 2556 ยังมีเด็กขาดไอโอดีนถึงร้อยละ 4 ปัญหาเหล่านี้มักเกิดกับเด็กในครอบครัวยากจนที่มีภาระทางเศรษฐกิจ จนทำให้ไม่สามารถดูแลลูกหลานได้ดีพอ เช่นต้องส่งลูกให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงทั้งที่ช่วง 2 ปีแรกเด็กควรจะได้อยู่กับพ่อแม่ นอกจากเรื่องโภชนาการแล้ว รูปแบบการพัฒนาก็มีส่วนเช่นกัน เช่นการให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบใช้สื่อเทคโนโลยีที่กระตุ้นประสาทสัมผัสเพียงบางส่วน ทั้งที่ควรใช้วิธีเล่านิทานหรือการเล่นเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งหมด
แน่นอนว่าหากพ่อแม่ไม่พร้อมในการเลี้ยงดู ทางออกหนึ่งคือการให้มืออาชีพร่วมมือช่วยเหลือ ตัวอย่างคือการใช้ศูนย์เด็กเล็กที่ดูแลแทนพ่อแม่รายได้น้อยที่ต้องทำงานตลอดเวลา อย่างไรก็ตามการประเมินศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศพบว่ามีปัญหาด้านการดำเนินงาน ความพร้อมของทรัพยากร คุณภาพของครูพี่เลี้ยงและบุคลากรทางการศึกษาและไม่ได้มีการประเมินตัวเด็กเพื่อให้ได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมอย่างรอบด้านตามวัย ซึ่งปัญหาการขาดคุณภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็น 1 ใน 6 ปัญหาสุขภาวะเด็กที่โครงการอนาคตไทย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความสำคัญและควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติในทุกระดับ การแก้ไขปัญหาพัฒนาการเด็กปฐมวัยจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงความร่วมมือจากครอบครัว ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขหรือด้านการศึกษาเท่านั้น หากเราต้องร่วมมือกัน เพื่อเด็กไทยจะได้มีโอกาสในการเติบโตและพัฒนาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่เปี่ยมคุณภาพ เพราะการลงทุนในเด็กเป็นทั้งการเพิ่มคุณภาพทรัพยากรมนุษย์และการลดอัตราการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก่อนที่โอกาสทองนี้จะหลุดลอยไป จึงควรมีแนวทางด้านการให้เกิดการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างมีคุณภาพในหลายมิติ เช่น การจัดทำฐานข้อมูลการศึกษาเพื่อป้องกันการได้รับการศึกษาล่าช้า พัฒนาคุณภาพศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนให้ได้มาตรฐาน โดยจัดทำมาตรฐานกลาง เพื่อให้ศูนย์เด็กเล็กในทุกสังกัดสามารถยกระดับมาตรฐานให้ทัดเทียมกัน สื่อสารกับครอบครัวที่ขาดความรู้ในการดูแลเด็กปฐมวัย เป็นต้น
—
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 มิถุนายน 2557