‘1 เดือน คสช.’ จากนี้…ไปไหนต่อ

ปี2014-06-20

หมายเหตุ – ทันทีที่ประกาศยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม คสช.เร่งขับเคลื่อนมาตรการมากมายที่เห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าประเทศ ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การสร้างความปรองดอง รวมไปถึงการป้องปรามทุจริตคอร์รัปชั่น บางเรื่องเริ่มปรากฏเป็นรูปธรรม ขณะที่หลายเรื่องอยู่ระหว่างดำเนินการและต้องใช้เวลา จากนี้เป็นความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ต่อทิศทางของ คสช.ในช่วงที่กำลังจะครบ 1 เดือนในอีกไม่กี่วัน

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ
ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า

ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 เดือน คสช.ได้เข้ามาจัดการสิ่งที่ค้างไว้จากรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งสามารถแก้ไปได้เปลาะหนึ่งแล้ว เช่น โครงการจำนำข้าว การเร่งรัดใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2557 และจัดทำแผนการใช้งบประมาณประจำปี 2558 ขณะเดียวกันยังอนุมัติส่งเสริมลงทุนอีก 18 โครงการ มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ คสช.ดำเนินการเป็นการแก้ปัญหาในเชิงเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาให้กับองค์กร ภาคธุรกิจทั้ง 7 องค์กรเป็นส่วนใหญ่

อีกเรื่องที่เห็นชัดเจนก็คือ ความพยายามในการเปิดพื้นที่ให้คนที่เห็นต่างที่ คสช.มีบัญชีอยู่ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนกัน แต่ก็ยังไม่ถึงแก่นแค่ในระดับผิวๆ เท่านั้น ส่วนในแง่ของภาคประชาสังคมยังมีน้อย หากเทียบกับนโยบายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในข้อเท็จจริงปัญหาส่วนใหญ่ ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นปัญหาเรื่องสังคม หาก สังคมอยู่ได้แล้วเศรษฐกิจจะดีเอง ดังนั้น จึงคิดว่าใน ช่วงเวลาต่อไป คสช.คงจะให้ความสำคัญกับภาคประชาชนมากขึ้น ทั้งในแง่การเปิดรับฟังแสดงความคิดเห็น ทั้งในแง่ของการแก้ปัญหา อาทิ ปัญหาของเกษตรกร ปัญหาหนี้สิน เป็นต้น แต่เบื้องต้นยังได้เห็นความพยายามในการจัดการปัญหาอิทธิพลเถื่อน ปล่อยกู้นอกระบบบ้าง และปัญหาเรื่องแรงงานด้วย

ปัญหาแรงงานเป็นเรื่องใหญ่ต้องแก้อย่างจริงจัง มิเช่นนั้นฐานของระบบเศรษฐกิจจะมีปัญหาขึ้นตามมาอีก เห็นได้ชัดเจนในเรื่องแรงงานที่เดินทางกลับประเทศในช่วงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. พยายามอุดช่องโหว่ โดยเฉพาะการสื่อสารกับ ต่างประเทศ แต่การสื่อสารกับภาคประชาสังคมยังมีปัญหาอยู่ อย่างไรก็ตาม ประชาชนไม่ได้คาดหวังว่าทหารจะแก้ปัญหาให้ได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะด้านการต่างประเทศที่สามารถแก้ได้เพียงแค่เสมอตัว เพราะ เขาให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนกับประชาธิปไตยเป็นหลัก หากได้เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นปกติ ก็แสดงว่าการสื่อสารทำความเข้าใจถือว่าได้ผลแล้ว

แผนต่อไปของ คสช.ที่จะลงไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในระดับชุมชน ส่วนตัวมีความเห็นต่าง อยู่บ้าง เพราะมีความกังวลเรื่องการชี้นำประชาชน เพราะหากมีการชี้นำ ก็จะไม่เจอกับปัญหาที่แท้จริงเหมือนเดิม

อีกเรื่องหนึ่งคือ ประเด็นที่องค์กรธุรกิจทั้ง 7 องค์กรจะเสนอแนวทางในการปฏิรูปทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับทาง คสช. ซึ่งมีความเป็นห่วงว่าภาคเศรษฐกิจจะมีปฏิรูปสังคมได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องตรงกันข้ามกัน แต่ภาคเศรษฐกิจต้องกลับมาช่วย สังคมด้วยการยอมจ่ายภาษีทางตรง ไม่ว่าจะเป็นภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน เป็นต้น เพื่อลดทอนความเป็นประชานิยม แล้วนำกลับมาเป็นสวัสดิการสังคมให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาระยะ ยาวมากกว่าที่ในสภาวะปกติไม่มีทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้เลย

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์
อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การทำงานในช่วงที่ผ่านมาของ คสช. จะเน้นการสะสางงานเก่า ล้างท่อ ตัดสินใจในโครงการที่ก่อนหน้านี้ยังคั่งค้างและมีความจำเป็นที่ต้องตัดสินใจเร่งด่วนจากผู้มีอำนาจ

ส่วนการจัดเตรียมยุทธศาสตร์การดำเนินงาน มองว่าเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้รัฐบาลชุดเฉพาะกิจที่จะเข้ามาทำหน้าที่ประมาณเดือนกันยายนหรือตุลาคมมาดำเนินการ

อะไรที่ซับซ้อนและต้องเตรียมงานมาก และต้องรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย อาจยังไม่เกิดขึ้นในขณะนี้ คงต้องรอให้รัฐบาลเฉพาะกิจมาเป็น ผู้ดำเนินการ แต่การเดินหน้าโครงการคมนาคมขนส่งวงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งหลายฝ่ายอาจมองว่าเป็นโครงการ 2 ล้านล้านบาท ของรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์นั้น ความจริงโครงการนี้เป็นโครงการ ของกระทรวงคมนาคมมีวงเงินที่ต้องการใช้ทั้งสิ้น 4 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลก่อนหน้านำมาบรรจุในแผนการกู้เงินพิเศษ เมื่อเดินหน้าไม่ได้ คสช.จึงต้องตัดสินใจบรรจุโครงการดังกล่าวในงบประมาณ ส่วนขั้นตอนการดำเนินงานการจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลเฉพาะกิจ

วิโรจน์ ณ ระนอง
ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

จากการทำงานของ คสช. เพิ่งเริ่มได้เพียง 1 เดือน จึงยังไม่เห็นผลงานที่เป็นการเปลี่ยนแปลงด้านการเกษตรของไทยมากนัก แม้ว่าจะไม่ดำเนินโครงการจำนำข้าวหรือโครงการประกันราคาข้าว แต่หากมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องให้สิ่งของหรืออุดหนุนด้านอื่น อาจเรียกว่ามีแรงจูงใจไม่ต่างจากโครงการจำนำข้าวเท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องภาคการเกษตรของไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง นโยบายของพรรคการเมืองที่ผ่านมาพยายามสร้างนโยบายที่สร้างแรงจูงใจให้คนยังอยู่ในภาคการเกษตร ขณะที่รายได้ภาคการเกษตรเมื่อเฉลี่ยต่อแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรแล้วพบว่ายังอยู่ในระดับต่ำ

ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุน การประกันรายได้ การช่วยเหลือปัจจัยการผลิต ทั้งหมดนี้เป็นนโยบายที่ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะหากอุดหนุนโดยให้สิ่งของ อาจพบกับความเสี่ยงคือ อาจให้สิ่งของในสิ่งที่ไม่ตรงกับความต้องการของเกษตรกร เพราะเกษตรกรไทยมีความหลากหลาย เมื่อช่วยชาวนาแล้วอาจต้องช่วยพืชอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นห่วงคุณภาพของยางพาราในสต๊อกของรัฐบาลประมาณ 2 แสนตัน อาจเสื่อมสภาพไปตามเวลา เพราะยางพาราสามารถเก็บได้เพียง 2-3 ปี

จึงมีความเสี่ยงว่า หากไม่ขายยางในสต๊อกออกไป ยางพาราจะได้รับความเสียหาย ไม่ต่างจากข้าวในโครงการรับจำนำข้าว

ศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภายหลังการยึดอำนาจของ คสช. ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ผ่านมา มองว่าไม่น่าเป็นห่วงเท่าใด แม้จะมีปัญหาบ้างในช่วงแรกๆ ที่มีการยึดอำนาจ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ชาติมหาอำนาจ อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ รวมถึงกลุ่มประเทศในอียู และออสเตรเลีย ออกมาต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นไปตามหลักการและประเพณีที่จะต้องแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร หาก คสช.มีข้ออ้างและเหตุผลเพียงพอที่มหาอำนาจจะรับฟังได้ การต่อต้านและท่าทีที่แข็งกร้าวจะลดลงไปเอง

เพราะฉะนั้น เบื้องต้น 1 เดือนนี้ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่มีอะไรน่าวิตกกังวล

ขอยกมาอธิบายในตัวอย่าง กรณีการรัฐประหารในอียิปต์ แรกๆ ของการรัฐประหารก็มีการต่อต้านจากนานาชาติ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งตามประชาธิปไตยแล้ว นานาชาติก็ให้การสนับสนุน อีกทั้งอยากตั้งข้อสังเกตว่าตราบใดที่มีการรัฐประหารของประเทศนั้นๆ ไปขัดกับ ผลประโยชน์ของสหรัฐก็จะมีการต่อต้านทันที แต่ถ้าไม่ไปขัดกับผลประโยชน์ สหรัฐก็จะไม่มีการต่อต้าน มิหนำซ้ำอาจให้การสนับสนุนด้วยซ้ำ
ส่วนกรณีความสัมพันธ์ของไทยกับจีน มองว่าไม่ว่าประเทศไทยจะมีการรัฐประหารกี่ครั้ง ก็จะไม่มีการ ต่อต้านจากจีนทั้งนั้น ด้วยเหตุผลว่าตั้งแต่จีนก่อตั้งประเทศได้ยึดนโยบายอยู่ด้วยกันอย่างสันติ 5 ประการ ที่ได้ลงสัตยาบันไว้ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี ค.ศ.1954 และ 1 ใน 5 ข้อนั้น มีข้อหนึ่งที่ระบุว่า จะไม่มีการไปแทรกแซงกิจการภายในระหว่างประเทศอื่น

การที่ คสช.ยึดอำนาจกระทำรัฐประหารทางจีนจะไม่เข้ามาวิจารณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนยังคงเป็นไปตามปกติ ไม่น่าเป็นห่วง สุดท้ายขอคาดหวังว่า คสช.จะลงมือปฏิรูปประเทศจริงหรือไม่ ตอนนี้ก็ต้องคอยดูต่อไป

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 20 มิถุนายน 2557