tdri logo
tdri logo
25 มิถุนายน 2014
Read in Minutes

Views

สัมภาษณ์พิเศษ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์: “กระบวนการปฏิรูปต้องเป็นการนำคนที่เห็นต่างเข้ามามีส่วนร่วม”

เมื่อ “โพย” ที่นำมาสู่วิกฤตประเทศในมือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกกางออกผ่านรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ประจำสัปดาห์ที่ผ่านมา ปฏิทินการเมืองก็ถูก “โหมโรง” ให้ทุกขั้ว-สี เตรียมตั้งวง “ถกเถียง” กันในเดือนกรกฎาคม เพื่อกำหนดกรอบเป็น “จุดร่วม” ก่อนเข้าสู่ “โรดแมป” ระยะที่สอง-จัดตั้งสภาปฏิรูป ผ่าทางตันประเทศ

เรื่องใดเร่งด่วน-เรื่องใดรอก่อนได้ “ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผู้ “คร่ำหวอด” อยู่ในวงการปฏิรูป-คลุกคลีกับ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่เปรียบเสมือน “ต้นตอ” ความขัดแย้ง ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี’40-การฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน “ดร.สมเกียรติ” มองว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องปฏิรูปก่อนคือ “เรื่องที่ทำให้คนตีกัน”

โมเดลสภาปฏิรูปควรออกแบบหน้าตาให้ออกมาเป็นอย่างไร
การปฏิรูปเป็นเรื่องของการเปลี่ยนโครงสร้างของสังคม เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจของคน ซึ่งมันต้องอาศัย… (นิ่งคิด) เจตนาการปฏิรูป ทุกคนคิดว่ามันเป็นเรื่องดี แต่ว่าวิธีการปฏิรูปมันสำคัญด้วย ถ้าวิธีการปฏิรูปที่เปิดการมีส่วนร่วมให้ฝ่ายต่าง ๆ ที่เห็นต่างกันเข้ามาช่วยกันทำได้ การปฏิรูปมันก็จะมีโอกาสยืนยาวได้มากกว่า

หากจะจัดอันดับความเร่งด่วนเรื่องที่ควรปฏิรูปนั้น ผมคิดว่าควรปฏิรูปเรื่องที่ทำให้คนตีกันก่อน คือการปฏิรูปการเข้าสู่อำนาจรัฐและการใช้อำนาจรัฐ โดยเฉพาะเรื่องการใช้นโยบายประชานิยมที่ตรวจสอบไม่ได้ เรื่องที่สองคือเรื่องการใช้อำนาจ เพราะอำนาจกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง เรื่องที่สามคือเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม เรื่องที่สี่คือเรื่องของระบบยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง ส่วนเรื่องอื่นก็จำเป็นต้องทำ แต่ก็ยังไม่เร่งด่วนเท่ากับเรื่องที่ทำให้คนไทยตีกัน และทำให้ทุกอย่างมันหยุดนิ่ง

การปฏิรูปของ คสช. อาจดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว เป็นการมัดมือชกหรือไม่
การปฏิรูปแบบมัดมือชก หมายถึงการปฏิรูปโดยผู้ชนะ ผู้ชนะก็คือ ยกตัวอย่าง เช่น สมัยรัฐประหารปี 2549 หลังจากยึดอำนาจแล้วก็ร่างกฎระเบียบข้อบังคับเองทุกอย่าง ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเอง และร่างทุกอย่างในสิ่งที่เขาอยากเห็น คนที่แพ้ตอนนั้นคือพรรคเพื่อไทย เมื่อเลือกตั้งกลับมาชนะก็ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ก็จะหาทางแก้ตลอด การเมืองก็ไม่มีเสถียรภาพ และถ้าเขาแก้สำเร็จ เพราะว่าพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมาก ไม่ฟังเสียงข้างน้อยอีก มันก็เหมือนกับการที่เขาพยายามแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีองค์กรอิสระเบรก ก็คงแก้สำเร็จไป

อีกฝั่งหนึ่งที่เป็นเสียงข้างน้อย ไม่ว่าจะพรรคประชาธิปัตย์ หรือว่า กปปส. เขาก็ไม่พอใจ มันก็สู้กันอีก ไม่ว่าใครมัดมือชกมันก็ไม่ยั่งยืน เพราะว่าผู้ชนะไม่ได้ชนะตลอดไป และถ้าอีกฝั่งหนึ่งเห็นว่ากติกาที่เป็นอยู่เป็นกติกาที่ตนเองไม่ชอบเลย แล้วตัวเองไม่มีส่วนร่วมเลย และอีกฝั่งหนึ่งดันทุรังไปจะเอาฝ่ายเดียว วันหลังไม่ว่าฝั่งที่รู้สึกว่าแพ้ในตอนนั้น ถ้าไม่กลับมาเลือกตั้งชนะ ก็ไปใช้วิธีนอกระบบเลือกตั้ง เช่น การชุมนุม หรือเรียกร้องให้มีการรัฐประหารและออกมาคว่ำกติกาเดิม มันก็จะวนไปวนมาแบบนี้

การเมืองไทยก็จะไม่นิ่งและจะเกิดความขัดแย้ง คิดดูว่าประเทศไทยถกเถียงเรื่องนี้มา 9 ปีแล้วนะครับ และก็ดูเหมือนว่ายังไม่แน่ใจว่าสุดท้ายมันจะหาทางออกได้เจอหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ากระบวนการที่ดีก็คือ เป็นกระบวนการที่เปิดให้มีส่วนร่วมที่สูงพอสมควรกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มันถึงจะยั่งยืนอยู่ได้

ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ ถ้าผู้ชนะใช้โอกาสที่ตัวเองชนะแก้กติกาด้วยตัวเองทั้งหมด โดยที่ฝ่ายผู้แพ้ไม่ได้มีส่วนร่วมด้วย โอกาสที่วันหลังเมื่อผู้แพ้กลับมาเป็นผู้ชนะ เมื่อกติกานี้เขาไม่มีส่วนร่วม เขาก็อยากจะแก้ สิ่งที่ปฏิรูปไปมันอาจไม่ยั่งยืน เพราะฉะนั้น กระบวนการปฏิรูปมันก็ต้องเป็นการเอาคนที่เห็นต่างเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งบางข่าวก็ได้ยินมาว่า เขาต้องการให้สภาปฏิรูปมีคนที่เห็นต่างมาร่วมกันทำ เมื่อฟังแล้วก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี

ระยะเวลา 1 ปีที่ คสช.ประกาศ ไม่สามารถปฏิรูปได้ทุกเรื่อง
มันอยู่แล้ว ซึ่งผมก็แสดงความคิดเห็นมาโดยตลอด อย่างเช่นเมื่อครั้งที่ กปปส.เรียกร้องให้มีการปฏิรูปภายในระยะเวลาเท่านั้นเท่านี้…การปฏิรูปมันเป็นเรื่องต่อเนื่องและต้องใช้เวลา เพราะมันเป็นเรื่องการเปลี่ยนโครงสร้าง บางเรื่องเป็นการเปลี่ยนความเชื่อ เปลี่ยนวัฒนธรรมของคนด้วย ซึ่งมันยากกว่าการการแก้กฎหมายต่าง ๆ เพราะฉะนั้นมันต้องใช้เวลายาวกว่าปกติอยู่แล้ว อย่าไปหวังว่ามันจะเสร็จไปทุกอย่าง แต่ว่ามันก็ต้องมีจุดร่วม

10509312

เรื่องใดที่ คสช.ควรที่จะปฏิรูปเป็นอันดับแรก ๆ ในระยะเวลา 1 ปี
เรื่องการปฏิรูปจะมี 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม จนทำให้มีการประท้วงกัน มีการต่อสู้กันทางความคิดอย่างรุนแรง และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นเรื่องที่ปฏิรูปเรื่องอื่น ๆ ในสังคมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรง ซึ่ง บางเรื่องก็ต้องแก้ภายใน 1 ปีนี้ เพราะเป็นไทมิ่งของมัน เช่น การปฏิรูปเรื่องการศึกษา

เรื่องที่ควรปฏิรูปที่เป็นความขัดแย้งทางการเมืองก็คือ เรื่องที่ต้องปฏิรูปด่วน เช่น เรื่องกติกาการใช้อำนาจของรัฐบาลเสียงข้างมาก ซึ่งตรงนี้ผมรู้สึกว่ามันเป็นหัวใจสำคัญตัวหนึ่งของความขัดแย้ง และมันทำให้รัฐบาลในระบบประชาธิปไตยไม่มีเสถียรภาพ เพราะว่าพอได้รัฐบาลเสียงข้างมากซึ่งเป็นมาตรฐานสากลของโลกที่ประเทศที่จะพัฒนาได้ มันก็จะต้องมีการเลือกตั้ง แต่โจทย์ก็คือทำอย่างไรให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีฐานจากความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจ มีความชอบธรรมในการใช้อำนาจด้วย ก็แปลว่าการใช้อำนาจต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่จะต้องทำ เพราะว่าถ้าแกะสลักตรงนี้ไม่หลุด มีเลือกตั้งไป คนก็ยังตั้งคำถามเดิม ๆ คนก็จะกลับไปสู่วังวนเหมือนกับสมัยก่อนมีรัฐประหารอีก เพราะฉะนั้นก็ต้องแก้ปมตรงนี้ออกไปให้ได้มากที่สุด

เรื่องการเข้าสู่อำนาจรัฐ สภาปฏิรูปควรที่จะมีโมเดลเป็นอย่างไร
เรื่องนี้มันมีหลายโมเดล อย่างน้อยคนที่ถูกกระทบอาจจะเข้าไปมีปากมีเสียงได้ แต่จะให้เป็นแกนกลางในการตัดสินใจหรือเปล่า มันขึ้นอยู่กับแต่ละเรื่อง มันมีโมเดลที่ผมก็สองจิตสองใจอยู่ บางเรื่องซึ่งมันน่าจะนำคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมกัน แล้วก็ต้องมีคนกลาง อย่าให้คู่ขัดแย้งไปครอบงำกระบวนการทั้งหมด ไม่งั้นก็จะเปลี่ยนวงตีกันไปตีกันมาในวงปฏิรูป มันก็จะไม่เดินหน้า ก็ต้องให้เขามีปากมีเสียงในวงปฏิรูป แต่ไม่ใช่เรื่องที่เขาจะไปครอบงำทั้งหมด เพราะว่าในสังคมไม่ได้มีเฉพาะคู่ขัดแย้ง จริง ๆ ผมเชื่อว่ามันเป็นข้อเท็จจริงที่ว่า คนจำนวนมากในสังคมไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เพราะฉะนั้นในวงปฏิรูปต้องไม่มีคนที่เป็นคู่ขัดแย้งอยู่จำนวนมาก และมีคู่ขัดแย้งประกอบด้วย

อีกวิธีหนึ่งคือ คู่ขัดแย้งไม่ได้อยู่ในวง แต่คู่ขัดแย้งมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการมากพอ แต่ไม่ใช่คนตัดสินใจขั้นสุดท้าย ผมก็ยังไม่ตกผลึกร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ามันควรจะเป็นแบบไหน แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ต้องเปิดให้ฝ่ายต่าง ๆ ของสังคมมีส่วนร่วมในระดับที่สูงพอ บรรยากาศที่จะปฏิรูปอย่างแท้จริงก็ต้องมีปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มันต้องมาพร้อม ๆ กัน ถ้าสมมติยังมีกฎอัยการศึกอยู่และมาปฏิรูปมันคงจะลำบากอยู่ เพราะฉะนั้น ปัจจัยต่าง ๆ ต้องไปด้วยกัน รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่กำลังร่างเพื่อตั้ง สนช. หรือสภาปฏิรูปขึ้นมา ดีไซน์หรือหน้าตาของ

กระบวนการของการปฏิรูปที่เกิดขึ้นมันจะเป็นอย่างไร และมันจะเป็นตัวที่กำหนดว่าหน้าตาของผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร
อย่าไปคิดว่ามันจะปฏิรูปได้สำเร็จทุกเรื่อง เพราะปฏิรูปมันเป็นกระบวนการ ถ้าครั้งนี้สามารถทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองลดลงไปได้ก็บุญถมแล้ว ทำให้ต่อไปมีระบบการเลือกตั้งที่มีเสภียรภาพพอสมควร เป็นประชาธิปไตยระดับที่ยอมรับกันได้ แค่นี้ก็ดีแล้ว แล้วในอนาคตไม่ต้องมาเดินบนท้องถนนกันบ่อย ๆ ไม่ต้องไปปิดสถานที่ตรงโน้นตรงนี้ ได้แค่นี้ก็ดีแล้วครับ

เรื่องที่เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องควรปฏิรูปก่อนเป็นอันดับแรก
ต้องทำให้การใช้เงินค่าใช้จ่ายของรัฐกลับไปอยู่ในกระบวนการงบประมาณ โดยการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญระบุว่า การใช้เงินแผ่นดินต้องใช้ภายใต้กฎหมายงบประมาณ และอาจจะต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคลังว่า จะต้องขาดดุลการคลังไม่เกินเท่าไร กระบวนการใช้เงินต้องผ่านกระบวนการงบประมาณ ต้องเปิดเผยข้อมูล ถ้าจะแก้และทำให้การปฏิรูปยั่งยืน ให้เป็นประชาธิปไตย และเสียงข้างมากไปละเมิดเสียงข้างน้อยไม่ได้

ไม่ได้บอกว่าเลือกตั้งแล้วจบกัน ไม่ใช่เลือกตั้งแล้วยกสัมปทานประเทศไปให้อะไรก็ได้ ที่มันมาด้วยกันตลอดสองขาก็คือมันต้องควบคุมเสียงข้างมากด้วย อันนี้คือกุญแจ ถ้าเปรียบการเลือกตั้งเป็นการให้อำนาจรัฐบาล เปรียบเสมือนเป็นการออกแบบรถและออกแบบคันเร่ง การที่จะมีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐก็คือการออกแบบเบรก รถที่ดี วิ่งได้เร็ว แต่ต้องหยุดได้ไม่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ไม่ใช่หยุดเพื่อชน ดังนั้นรถต้องมีคันเร่งดีและมีเบรกที่ดีสูสีกันด้วย

ถ้าจะออกแบบรถกับเบรก ให้คันเร่งกับเบรกให้ดี เอาคันเร่งกลับไปเหมือนปี 2540 ผมว่าใช้ได้ เอาเบรกที่เป็นเบรกมือด้วยกลไกในรัฐสภา คือ ตัวแทนประชาชน ยกตัวอย่าง เช่น การใช้เงินต้องผ่านกระบวนการงบประมาณ เป็นเบรกที่จะไม่มีปัญหาเลย เพราะมาจากตัวแทนประชาชนเหมือนกัน มาจากการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน จะไม่มีข้อถกเถียงเรื่องการไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นเบรกที่ป้องกันความเสียหายได้ดีพอสมควร

ส่วนเบรกที่เป็นองค์กรอิสระและเป็นฝ่ายตุลาการนั้นคงต้องมีอยู่ แต่ต้องใช้แบบ จำกัดลง ใช้ในเรื่องที่เป็นข้อกฎหมายจริง ๆ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไม่ควรที่จะไปเกี่ยวข้องมาก และใช้กลไกอื่นจะทำอย่างไรให้คันเร่งที่มีประสิทธิภาพมันเร่งที่จุดเดียว มันต้องมีการกระจายอำนาจเกิดในหลายจุด ถ้ากระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ผลประโยชน์ที่ถกเถียงในรัฐบาลกลางต้องเอาเป็นเอาตายกัน มันก็จะลดน้อยลง และต้องมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน สิทธิเสรีภาพสื่อ ระบบก็จะเดินได้ เพราะเป็นประชาธิปไตย มีความชอบธรรม และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายด้วย

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26-29 มิถุนายน 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด