ตะวัน หวังเจริญวงศ์
คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 73/2557 และ 74/2557 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ (กนร. และ อกนร.) ขึ้นมาแทนคำสั่งเดิมฉบับที่59/2557 และ 60/2557 น่าจะถือเป็นการแสดงนัยความ “เอาจริงเอาจัง” ในการแก้ปัญหาแรงงานจากเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน
การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ ถือเป็นการปรับแผนบริหารจัดการ หลังไทยเผชิญ 2 เหตุการณ์ คือ 1.การตกใจข่าวลือเดินทางกลับประเทศของแรงงานกัมพูชา และ2.รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report)ของสหรัฐปีล่าสุด ให้ไทยตกไปอยู่ระดับเทียร์ 3
ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์ว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้น่าจะมีจุดมุ่งหมายหลักในการขยายกิจกรรมของทั้ง กนร.และ อกนร.ให้ครอบคลุมมากขึ้น ทำงานประสานกันเองได้ง่าย และช่วยให้การบริหารงานบางส่วนคล่องตัวขึ้นด้วย โดยเฉพาะการทำฐานข้อมูลทะเบียน ต้องให้กระทรวงมหาดไทยที่มีความพร้อมเข้ามาจัดการ
ภารกิจหนึ่งที่เด่นชัดในคำสั่งใหม่นี้ คือ การจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) ขึ้นในทุกจังหวัด เพื่อออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราวให้แก่คนต่างด้าวและจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ ลาว พม่า และกัมพูชา เริ่มต้นที่ จ.สมุทรสาคร เป็นแห่งแรกในวันที่ 30 มิ.ย.
นี่คือการ “นิรโทษกรรม” ให้แรงงานต่างด้าวและนายจ้าง ถือเป็น “มาตรการกวาดบ้าน” ที่ดีของ คสช.
“เดิมกระบวนการนายหน้าเข้ามาทำหน้าที่แทนนายจ้างหลายอย่าง บางทีทำหน้าที่แทนนายจ้างเสียเอง ขนแรงงานมาแจกตามโรงงานต่างๆ แต่การขึ้นทะเบียนครั้งนี้ นายจ้างต้องพาลูกจ้างมาเอง วิธีนี้จะช่วยลดกระบวนการนายหน้าและปัญหาค้ามนุษย์”
สิ่งที่ คสช.จะ “พลาดไม่ได้” คือการเก็บข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งชื่อและประวัติของทั้งแรงงานต่างด้าวและนายจ้างให้ครบถ้วน เพื่อให้ทราบข้อมูลจริง ขณะที่นายจ้างก็ห้ามพลาด โดยต้องพาแรงงานต่างด้าวมาขอรับใบอนุญาตที่ศูนย์ดังกล่าว เพราะหากไม่ดำเนินการ เมื่อมีการจับกุมอย่างจริงจังขึ้นมา นายจ้างจะเสียค่าปรับในอัตราต่อการจ้างต่างด้าวคนละ 1 หมื่นบาท
มาตรการกวาดบ้านครั้งนี้ยังมีข้อดีที่ไม่เปิดช่องให้แรงงานกลุ่มใหม่แฝงตัวเข้ามาขอรับใบอนุญาตด้วย เพราะการมุ่งจัดการกลุ่มที่ทำงานอยู่ก่อนแล้ว จะทำให้แก้ปัญหาได้ง่ายกว่า หลังจากนี้หากจะรับเพิ่มเติมเพื่อป้อนภาคอุตสาหกรรมที่ขาดแคลน จึงค่อยพิจารณา
แต่ยังมีอีก 2 ปัญหา ที่ต้องเข้ามาดูแลเพิ่มเติม 1.การจัดการผู้ติดตามของแรงงานต่างด้าวที่ขณะนี้มากกว่า 2 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นบุตรของแรงงานต่างด้าว แม้จะเปิดให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายรายงานตัว แต่ไม่ได้ให้ผู้ติดตามรายงานตัวด้วย หากยึดหลักตามกฎหมาย คนกลุ่มนี้จะต้องกลับบ้าน อาจมีปัญหาจริงในทางปฏิบัติ เพราะบางส่วนเป็นเด็กเล็ก
2.การพิจารณาแก้ปัญหาแรงงานนอกเหนือจาก 3 สัญชาติเพราะไม่ได้มีแรงงานแค่ 3 สัญชาตินี้เท่านั้น ยังมีแรงงานจากประเทศอื่นๆ เช่น บังกลาเทศ ลักลอบเข้ามาด้วย จึงควรแก้ปัญหาให้ครอบคลุม
ด้าน สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ มองว่า ภาคเอกชนในทุกอุตสาหกรรมก็ต้องร่วมกันใส่ระบบลงไปด้วยโดยบูรณาการการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ ให้ความสำคัญทั้งซัพพลายเชน
ปัจจุบันผู้ประกอบการในสมาคมกว่า 30 บริษัทใช้แรงงานต่างด้าวเพียง 1-2 บริษัท และใช้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย โดยปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางธุรกิจในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (อีไอซีซี) รวมถึงเรื่องแรงงานทำให้ไม่ได้รับผลกระทบ แม้ไทยจะถูกลดชั้นอยู่เทียร์ 3
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 30 มิถุนายน 2557