ไทยรัฐรายงาน: ภารกิจต้นทุนแพง ผลตอบแทนต้องคุ้ม ฝากการบ้านปัญหาเศรษฐกิจ

ปี2014-06-02

สัปดาห์ก่อน “ทีมเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์กูรูหลายท่าน เพื่อขอความเห็นว่าคนไทยจะอยู่อย่างไรในภาวะที่เศรษฐกิจชะงักงัน เพราะการเมืองสร้างปัญหาให้ร้อยแปดพันอย่าง ตั้งแต่ปิดถนน ห้ามข้าราชการเข้าทำงาน ค้าขายไม่ได้ กระทั่งจีดีพีประเทศหดตัวลง ทำให้เกิดสภาวการณ์ที่คนไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจนและด้อยโอกาสไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และพอมีพอกินได้ เพราะการปิดถนน เล่นนอกสภาของนักการเมืองยาวนานกว่า 6 เดือน

มาสัปดาห์นี้ “ทีมเศรษฐกิจ” ต้องขอสัมภาษณ์กูรูคนสำคัญๆที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกครั้ง ว่าการเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้งของคณะนายทหารที่ตัดสินใจทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา จะสามารถเร่งรัดดำเนินการเพื่อสร้างความเชื่อมั่น และนำพาเศรษฐกิจปากท้องของคนไทยทั้งประเทศให้อยู่รอดได้อย่างไร ด้วยคำถามที่อาจซ้ำๆซากๆ ซึ่งต้องถามทุกครั้งที่มีการทำปฏิวัติรัฐประหารใน 18 ครั้ง รวมถึงครั้งที่ 19 นี้ ก็เช่นกัน…

สุวิทย์ เมษินทรีย์
สถาบันบัณฑิตธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก่อนการปฏิวัติรัฐประหารครั้งนี้ ประเทศ ไทยต้องเผชิญกับ “วิกฤติที่ซ้ำซาก” ไล่จากวิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติเสื้อเหลือง-เสื้อแดง วิกฤติมหาอุทกภัย จนกระทั่งวิกฤติทางการเมืองครั้งล่าสุด มีความขัดแย้งที่รุนแรงจนเกิดเป็น “สังคมสองขั้ว” ส่งผลทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันถดถอยลงในทุกด้าน ประเทศไทยซึ่งเคยมีศักยภาพเป็นผู้นำ กลายเป็นยักษ์หลับของอาเซียน เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นตัวอุปสรรคเหนี่ยวรั้งการก้าวไปข้างหน้าของภูมิภาค

ดูเหมือนว่าการรัฐประหาร ครั้งนี้ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นการยับยั้งความเสียหายที่คาดว่าจะหนัก หน่วงกว่านี้ ก็ต้องถือว่าเป็นการตัดสินใจที่มี “ต้นทุน” สูงมาก เพราะเป็นความมุ่งมั่นที่จะล้มล้างระบอบทักษิณ ด้วยการแลกกับการสะดุดลงของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยลง โดย เฉพาะในภาวะที่โลก กำลังเฝ้าจับตาประเทศไทยอยู่ ดังนั้นเมื่อมีต้นทุนที่แพง ก็ต้องทำให้ผลตอบแทนคุ้มค่า

นอกเหนือจากการเร่งสร้างกรอบและกลไกปฏิรูปประเทศ ซึ่งคงทิ้งน้ำหนักไปที่การปฏิรูปการเมือง กลไกการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมและการปราบปรามคอร์รัปชันแล้ว ภารกิจที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ แม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจมหภาคหลายตัว ยังอยู่ในระดับที่พอยอมรับได้ อาทิ ภาวะเงินเฟ้อที่ระดับ 2% อัตราการว่างงานที่ 0.9% หนี้สาธารณะที่ระดับ 45.6% ของจีดีพี หรือการขาดดุลการคลังที่ระดับ 1.8% ของจีดีพี อีกทั้งมีเงินสำรองต่างประเทศอยู่ที่ 191,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

แต่วิกฤติการเมืองทำให้เศรษฐกิจชะงักงันมากว่าค่อนปี ทำให้ประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) หรือจีดีพีติดลบติดต่อกันสองไตรมาส

เพียงแค่หนึ่งสัปดาห์หลังการรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เร่งแก้ปัญหาและออกมาตรการปลดล็อกและกระตุ้นทางเศรษฐกิจมากมาย อย่างไรก็ดี คสช. ยังต้องผลักดันมาตรการสำคัญๆที่จะส่งผลต่อการสร้างความมั่งคั่งของประเทศอย่างยั่งยืน อาทิ 1.เร่งฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาโดยเร็ว ด้วยการสร้างหลักประกันว่าจะเร่งสร้างความปรองดองและทำให้บ้านเมืองกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยมีกำหนดเวลาที่ชัดเจน

2.ถือโอกาสปรับโครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาว นโยบายเหล่านี้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมักจะไม่ทำหรือไม่กล้าทำ เพราะกลัวเสียประโยชน์หรือคะแนนเสียง อาทิ การปรับโครงสร้างภาษีที่ไม่เป็นธรรม การปฏิรูปพลังงานเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน (ด้วยการปรับโครงสร้างราคาให้สะท้อนความจริง และเป็นธรรม การเพิ่มการแข่งขันและการลดการแทรกแซงโดยมิชอบทางการเมือง) การสร้างระบบประกันภัยราคา (Crop Price Insurance) ควบคู่ไปกับการใช้ “มาตรการผสม” ระหว่างการจำนำกับการประกันรายได้ที่เหมาะสมให้ชาวนา เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนาอย่างแท้จริง

3.เปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่สังคมฐานความรู้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการปฏิรูปการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อาทิ ยกเครื่องคุณภาพครูทั้งระบบ เปลี่ยนวิธีการประเมินผลครูให้สะท้อนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในตัวนักเรียน ยกระดับคุณภาพชีวิตครู ยกเครื่องอาชีวศึกษา ลงทุนในเทคโนโลยีทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ จัดหาทุนสนับสนุนการวิจัยอย่างเป็นระบบ หรือลดหย่อนภาษี 300% ในรายได้ที่เกิดจากสินค้าเชิงนวัตกรรม เป็นต้น

4.ผลักดันยุทธศาสตร์การสร้างรายได้เข้าประเทศผ่าน 3 ตัวขับเคลื่อนคือ การท่องเที่ยวการส่งออก และการลงทุน ตลาดที่ต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษภายในอาเซียนคือ ซีแอลเอ็มวี CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) และนอกอาเซียน คือ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย

5.ยกขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอี ด้วยการตั้งกองทุนสนับสนุนด้านการพัฒนาการตลาด (International Market Development Fund) สำหรับเอสเอ็มอี ในการเจาะตลาดอาเซียนและตลาดโลก เป็นต้น

6.สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าชายแดน ซึ่งมีการเติบโตอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา มีมูลค่าการค้ากว่า 700,000-800,000 ล้านบาทต่อปี 7. หามาตรการเยียวยาช่วยเหลือภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอีหรือผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา

แม้จะมีเวลาที่สั้น คสช.มีภารกิจสำคัญในการสร้างฐานราก เพื่อบ่มเพาะสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งโอกาสและเป็นธรรม แทนที่สังคมแห่งการพึ่งพิงภาครัฐ อุปถัมภ์นิยม และประชานิยมอย่างที่เป็นมาในอดีต.

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยและประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้

ข้อเสนอการเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศไทยในอนาคต ประกอบด้วยมาตรการระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้น เน้นไปที่การเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนและการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ได้แก่ 1.เร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ที่ตกค้าง และจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ให้ทันกำหนดเวลา 1 ต.ค. 2557 โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ควรเพิ่มจำนวนเงินการใช้จ่ายให้สูงขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะด้านการลงทุน (ปกติงบประมาณรายจ่ายจะเพิ่มขึ้นราว 2-3% ต่อปีเท่านั้น) เพื่อชดเชยการลดลงของการใช้จ่ายนอกงบประมาณ

2.ควรปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงอีก เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมไปถึงการปรับปรุงจำนวนค่าลดหย่อนต่างๆ ให้มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน อาทิ การหักค่าใช้จ่ายในอัตรา 40% แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ถูกใช้มาหลายสิบปีแล้ว ซึ่งไม่มีการปรับปรุงให้มีความสอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อเนื่อง

3.การเร่งจ่ายเงินจำนำข้าวคืนชาวนา ควรทำควบคู่ไปกับการสร้างความชัดเจนในนโยบายการช่วยเหลือเกษตรกรในอนาคต ไม่ว่าจะเลือกแนวทางใด เช่น การพักหนี้เกษตรกร การปล่อยสินเชื่อเพิ่ม การรับประกันราคาพืชผลทางการเกษตร หรือการประกันรายได้ ซึ่งต้องควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตด้วย

4.ควรลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ลงชั่วคราว จากเดิม 2% เหลือ 0.01% และค่าจดทะเบียนจำนองจากเดิม 1% เป็น 0.01%

5.ควรจัดหาสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี

6.ทยอยเลิกใช้เคอร์ฟิว และกฎอัยการศึก โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย เพราะจะช่วยให้บรรยากาศการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวกลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น และ

7.ควรเร่งสื่อสารทำความเข้าใจที่ตรงกันถึงแนวทางการฟื้นฟูประเทศของ คสช. ทั้งในและต่างประเทศ

ส่วนมาตรการระยะกลางและยาว ควรมีการกำหนดวิสัยทัศน์และแผนแม่บททางเศรษฐกิจ ระยะ 10 ปี และ 20 ปี เพื่อให้มีทิศทางการพัฒนาและการขยายตัวที่ชัดเจน อันจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ได้แก่

1.ควรเพิ่มงบประมาณการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบขนส่งมวลชน ท่าเรือน้ำลึก การชลประทาน เทคโนโลยีและการติดต่อสื่อสาร เป็นต้น

2.ควรปรับปรุงโครงสร้างภาษีต่างๆให้ทันสมัย สามารถแข่งขันได้ รวมไปถึงการเร่งเจรจาเปิดเสรีการค้า (FTA) เพื่อชดเชยสิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) ที่นับวันจะยิ่งถูกลดน้อยลง ตลอดจนการปรับปรุงบทบาทหน้าที่ของบีโอไอ ไม่ใช่แค่การส่งเสริมการลงทุนในประเทศ แต่ต้องส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศด้วย

3.ควรปรับโครงสร้างตัวขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยลดการพึ่งพิงการส่งออกลง และเพิ่มสัดส่วนการบริโภคและการลงทุนในประเทศให้สูงขึ้น 4.ควรกำหนดกลยุทธ์และแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ เช่น การวางประเทศเป็นครัวโลกแบบสร้างมูลค่าเพิ่ม การเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งการบิน การบริการทางการแพทย์ การปฏิรูปหน่วยงานราชการ กระบวนการยุติธรรม การศึกษา การต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นต้น ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวของประเทศ ที่ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากพรรคการเมืองใดก็ตาม ต้องมีนโยบายในทางปฏิบัติที่จะนำพาให้ประเทศบรรลุเป้าหมายดังกล่าว.

วิรไท สันติประภพ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

คสช.และรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะสภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้อ่อนแรงมาก ถ้าไม่สามารถแก้ไขได้อย่างทัน ท่วงที จะทำให้แรงสนับสนุนการปฏิรูปประเทศยากขึ้น ควรแบ่งเป็นเรื่องระยะสั้นที่ต้องทำทันทีและการวางรากฐานสำหรับการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ต้องใช้เวลา

สำหรับวาระเศรษฐกิจระยะสั้นนั้น หลายภาคเศรษฐกิจกำลังหดตัวอย่างแรง ผมคิดว่ารัฐบาลใหม่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว พยุงเศรษฐกิจไม่ให้หดตัวไปมากกว่านี้ และหวังว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยติดเครื่องยนต์ของเศรษฐกิจไทยให้กลับขึ้นมาใหม่ได้ โดยควรให้ความสำคัญต่อ 4 มิติดังต่อไปนี้

มิติแรก จะต้องแก้ปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำลงมามากจาก ความบิดเบือน ที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวในช่วง 2 ปีที่ผ่าน มา โดยเฉพาะ การบริหารผิดพลาดของรัฐบาลที่แล้ว รัฐบาลใหม่ ต้องพิจารณาว่าควรหาทางแก้ไขได้อย่างไร โดยไม่ใช้วิธีรับจำนำข้าวด้วยราคาที่สูงมากแบบเดิม และต้องทบทวนความจำเป็นของการเร่งขายข้าวในสต๊อกของรัฐบาล ซึ่งส่งผลให้ราคาข้าวตกลงเร็วและเร่งตรวจสต๊อกข้าวอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ตลาดรับรู้ว่าข้าวในสต๊อกของรัฐบาลที่เหลืออยู่จริงๆ และยังมีคุณภาพดีอยู่มีเท่าไหร่ ราคาข้าวในตลาดจะได้สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น

มิติที่สอง จะต้องจัดทำงบประมาณปี 58 ให้ขาดดุลมากกว่าปีงบประมาณที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กรอบงบประมาณปี 58 ที่สำนักงบประมาณจัดเตรียมไว้มีเจตนาขาดดุลน้อยลง ซึ่งอาจสวนทางกับสิ่งที่เศรษฐกิจไทยต้องการในเวลานี้ นอกจากนี้ โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของบางหน่วยราชการ เช่น กรมทางหลวงที่เคยถูกกันออกไปอยู่ในแผนกู้เงินสองล้านล้านบาท จะต้องถูกนำกลับมาอยู่ในงบประมาณเพื่อให้ลงทุนได้โดยเร็ว

“การใช้จ่ายภาครัฐประเภทหนึ่งที่ทำได้เร็ว และไม่สร้างปัญหาความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว คือการเร่งซ่อมแทนการสร้างใหม่ รัฐบาลใหม่ควรเร่งซ่อมอาคาร สถานที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล ถนน สะพาน ที่มีแผนจะต้องซ่อมดูแลอยู่แล้วในอีก 2–3 ปีข้างหน้ามาทำในปีงบประมาณข้างหน้านี้”

มิติที่สาม จะต้องเร่งแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องของครัวเรือนและธุรกิจจำนวนมาก โดยเฉพาะพวกรายเล็ก สายป่านสั้น ครัวเรือนและธุรกิจเหล่านี้อยู่ได้ด้วยการหมุนเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยสูง ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ปัญหาขาดสภาพคล่องจะกลายเป็นปัญหาล้มละลาย บ้านถูกยึด หลักประกันถูกยึด ซึ่งจะต้องให้เวลานานกว่าที่จะช่วยให้กลับฟื้นขึ้นมาได้ใหม่

มิติที่สี่ แม้ว่าอัตราการว่างงานที่เป็นทางการจะต่ำ แต่ไทยมีปัญหาแรงงานหลายด้าน บัณฑิตที่ จบใหม่จะไม่สามารถหางานทำได้ คนที่เคยมีรายได้จากค่าทำงานล่วงเวลาถูกลดเงินค่าล่วงเวลาลงมาก รัฐบาลใหม่จะต้องให้ความสำคัญกับการดูแลแรงงานว่างงาน โดยจัดโครงการจ้างงานชั่วคราวสำหรับบัณฑิตใหม่ โครงการเร่งฝึกอบรมและพัฒนาแรงงานที่ตกงาน เป็นการดูแลในระยะหนึ่งก่อนที่เครื่องยนต์ของเศรษฐกิจจะกลับมาจุดติดใหม่

สำหรับเรื่องระยะยาว คสช. และรัฐบาลใหม่ต้องวางรากฐานที่สำคัญสำหรับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยต้องตระหนักว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจจะไม่สามารถทำได้สำเร็จในช่วงเวลาของ คสช. หรือรัฐบาลใหม่ ดังนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับการวางรากฐานที่จะนำไปสู่การปฏิรูปได้อย่างจริงจัง ในทิศทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะเริ่มทำเรื่องที่จะส่งผลให้เกิดพลวัตรขับเคลื่อนการปฏิรูปไปได้ต่อเนื่อง ควรเริ่มทำใน 3 เรื่องสำคัญ

เรื่องแรก จะต้องจัดการปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจังและเป็นระบบ ปัญหาคอร์รัปชันทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจและค่าครองชีพของคนไทยทุกคนเพิ่มขึ้น และที่สำคัญยังทำลายความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะผู้ประกอบการเก่งๆ มีความสามารถ จะไม่สามารถแข่งขันกับคนที่มีเส้นสายหรือจ่ายเงินใต้โต๊ะได้

เรื่องที่สอง จะตั้งวางรากฐานสำหรับการสังคายนากฎหมายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ กฎหมายเศรษฐกิจหลายฉบับของเราล้าหลังมาก ไม่รองรับการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. มหาชน กฎหมายที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายหลักประกัน กฎหมายภาษี กฎหมายประกอบธุรกิจคนต่างด้าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ไขกฎหมายเหล่านี้มาหลายครั้ง แต่ใช้เวลานานมาก ไม่สำเร็จ

เรื่องที่สามจะต้องกำหนดกรอบปฏิรูประบบราชการอย่างจริงจังให้ระบบราชการมีขนาดเล็กลง และให้คนที่มีความสามารถสูงเข้าไปอยู่ในระบบราชการได้ เพราะรายจ่ายประจำที่เป็นรายจ่ายเงินเดือนของข้าราชการมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเบียดบังงบลงทุนที่จำเป็นสำหรับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 30 พฤษภาคม 2557