ฐานเศรษฐกิจรายงาน: ทิศทางข้าวไทยใต้เงา คสช. หลากไอเดียสู่จุดเริ่มต้นใหม่

ปี2014-06-10

จากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้เร่งรัดการจ่ายเงินค่าจำนำข้าว 9.2 หมื่นล้านบาทที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ติดค้างชาวนามานานกว่า 7 เดือนให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงชิ้นแรกของ คสช.

ส่วนหลังการเข้าควบคุมอำนาจของคสช.จะยังมีโครงการรับจำนำข้าวอีกหรือไม่ ในเบื้องต้น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ระบุยังไม่สามารถตอบได้ แต่การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรจะเน้นไปที่ความยั่งยืนและคำนึงถึงกลไกตลาดเป็นสำคัญ หากตีความตามนัยนี้โครงการรับจำนำข้าวในยุค คสช. ถือว่าไม่มีอีกแล้ว เพราะมีบทเรียนจากการสร้างภาระการคลังของประเทศ และก่อให้เกิดการทุจริตในทุกขั้นตอน

อย่างไรก็ดีคำถามที่ทุกฝ่ายรอคอยในเวลานี้คือ จากนี้ ทางคสช.จะมีแนวทางหรือมาตรการในการดูแลชาวนากว่า 3.7 ล้านครัวเรือนอย่างไร จากที่เวลานี้ราคาข้าวเปลือกในตลาดได้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 6-7 พันบาทต่อตันหรือลดจากราคารับจำนำเกือบครึ่ง ล่าสุดจากการรวบรวมข้อมูล และจากการสอบถามความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงนักวิชาการได้ชี้แนะแนวทางเพื่อให้ คสช.ได้นำไปจัดทำเป็นโรดแมปอุตสาหกรรมข้าวไทยใหม่อย่างหลากหลาย

-ชาวนาขอ 1-1.2 หมื่นบาท/ตัน

โดยในส่วนของชาวนาซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรม นายกทั้ง 3 สมาคมที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายภูติ ศรีสมุทรนาค นายกสมาคมส่งเสริมชาวนาไทย นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย และนายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ต่างได้ร้องขอให้ คสช.สร้างหลักประกันเรื่องราคาข้าวเปลือก โดยจุดร่วมขอให้ชาวนามีรายได้ที่ 1-1.2 หมื่นบาทต่อตัน และขอให้ช่วยชดเชยค่าปัจจัยการผลิต 3 พันบาทต่อไร่ รวมถึงช่วยลดต้นทุนในเรื่องต่างๆ เนื่องด้วยเวลานี้ชาวนามีต้นทุนผลิตทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช ค่าเช่านา และอื่น เฉลี่ยมากกว่า 6 พันบาทต่อตัน ซึ่งส่วนต่างกำไรชาวนาจะได้ใช้เป็นเงินทุน และเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้หมุนได้อีกหลายรอบ

ขณะที่ในส่วนของโรงสี ซึ่งเป็นกลางน้ำของอุตสาหกรรม นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เสนอให้ คสช.ปลดล็อกข้อห้ามโรงสีซื้อข้าวข้ามเขตหลังไม่มีโครงการรับจำนำข้าวแล้ว ทั้งนี้จะมีผลทำให้โรงสีเข้าไปแข่งขันซื้อข้าวเปลือกในตลาดได้มากขึ้น และจะช่วยยกระดับราคาข้าวเปลือกให้สูงขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

-ผู้ส่งออกเสนอตั้งไรซ์บอร์ด

ส่วนในมุมนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าว เผยว่า ทางสมาคมได้เตรียมเสนอแผนบริหารจัดการข้าวหลังโครงการรับจำนำสิ้นสุดลง โดยเสนอให้ใช้กลไกตลาดที่แท้จริงในการขับเคลื่อน ไม่มีการเมืองเข้ามาแทรก แนวทางในระยะสั้น คสช.ต้องเร่งตรวจสต๊อกข้าวในคลังรัฐบาลว่ามีปริมาณ และชนิดข้าวที่แท้จริงอย่างไร คุณภาพข้าวเป็นอย่างไร เพื่อใช้วางแผนระบายข้าวในจังหวะที่เหมาะสม ส่วนในระยะต่อไปเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการข้าวภาคเอกชน (ไรซ์บอร์ด) ที่ประกอบด้วยตัวแทนเกษตรกร ผู้ประกอบการโรงสี และผู้ค้าข้าวทั้งในประเทศและผู้ส่งออก ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงร่วมกันกำหนดทิศทางนโยบาย และวางแนวทางการดำเนินการให้เหมาะสมโดยทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน-เสนอกลับใช้ประกันรายได้

ขณะที่น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ จังหวัดพิษณุโลก หนึ่งในหัวหอกติดตามตรวจสอบทุจริตรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในช่วงที่ผ่านมาได้เสนอให้ คสช.ยุติโครงการรับจำนำข้าว เพราะหากยังมีอีกปัญหาการทุจริตจะตามมาหลอกหลอนไม่รู้จบ ขณะที่ทางออกขอเสนอ 2 มาตรการ คือ 1.การเยียวยาเฉพาะหน้าโดยการอุดหนุนค่าปัจจัยการผลิต เช่นค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าจ้างแรงงาน และอื่นๆ ในอัตรา 1-2 พันบาทต่อไร่ 2.ขอให้นำโครงการประกันรายได้กลับมาใช้ โดยคำนวณต้นทุนการผลิตบวกกำไรให้ชาวนาในอัตราที่เหมาะสมและอยู่รอดได้ ในเรื่องนี้ขอให้ คสช.ได้เร่งตัดสินใจ เพราะชาวนากำลังได้รับความเดือดร้อนจากราคาข้าวเปลือกตกต่ำ

-ให้เร่งจับปุ๋ยปลอม

ส่วนในมุมมองด้านนักวิชาการ ดร.นิพนธ์ พังพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แนะว่า ในเบื้องต้นต้องมีการเช็กสต๊อกข้าวในคลังรัฐบาลทั่วประเทศก่อนเพื่อจัดทำบัญชีข้าวว่า มีข้าวดี ข้าวเสีย ข้าวหายอย่างไร ปริมาณเท่าไหร่ จากนั้นให้ระบายเฉพาะข้าวใหม่ ส่วนข้าวเก่าประกาศไม่ขาย ตามกลไกตลาดจะช่วยทำให้ราคาข้าวเปลือกขยับขึ้นได้ ส่วนปัญหาชาวนามีต้นทุนผลิตสูงต้องไปสอนให้เขารู้วิธีลดต้นทุน ที่สำคัญข้อเท็จจริงในเวลานี้ยังมีการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค โดยจากข้อมูลพบว่ามีปุ๋ยเคมีปลอม หรือปุ๋ยที่ไม่ได้มาตรฐานในตลาดมากกว่า 50% ส่วนปุ๋ยอินทรีย์ไม่ได้มาตรฐาน 90% ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต้องเร่งจัดการตรวจสอบเอาผิด และขจัดสินค้าออกจากตลาด และให้จัดหาปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้เกษตรกรจะช่วยเพิ่มผลผลิต และรายได้เพิ่มขึ้น ถือเป็นความยั่งยืนระยะยาวมากกว่าการจำนำ หรือประกันรายได้

-ชูประกันภัยราคาข้าวเปลือก

สอดคล้องกับ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ที่ระบุว่า จากนี้ไม่ต้องเร่งระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล แต่หากจะมีการระบายในช่องทางต่างๆ ควรระบายเป็นล็อตเล็กๆ เช่นครั้งละ 1-2 แสนตัน จะช่วยลดสต๊อกข้าวรัฐบาล และจะส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศ และข้าวไทยในตลาดโลกปรับตัวสูงได้ นอกจากนี้ขอเสนอเชิงแนวคิดให้มีการจัดทำโครงการประกันภัยข้าวเปลือกขั้นต่ำ โดยรัฐบาลจะต้องจัดตั้งกองทุนเพื่อประกันภัยข้าวข้าวเปลือกขั้นต่ำ อาจมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เป็นหน่วยงานหลักในการรับประกันราคาข้าวเปลือกขั้นต่ำจากเกษตรกรที่มาซื้อประกัน และจ่ายเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส. โดยรับประกันราคาขั้นต่ำตามที่ตกลงกัน เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวแล้วขายหากเกษตรกรได้รับราคาต่ำกว่าราคาประกัน ธ.ก.ส.จะชำระเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกร แต่หากราคาขายในตลาดสูงกว่าราคาประกันเกษตรกรได้รับประโยชน์จากราคาที่ได้รับสูงขึ้นสัญญาจะสิ้นสุด ซึ่งไม่บิดเบือนกลไกตลาด

-จี้ปฏิรูปข้าวไทยครั้งใหญ่

ส่วนอดีตคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) นายปราโมทย์ วานิชานนท์ แนะว่า ในระยะสั้นที่ คสช.ต้องเร่งดำเนินการนอกจากเคลียร์หนี้จำนำข้าวชาวนาแล้ว จะต้องมีการชดเชยดอกเบี้ยที่ชาวนาได้ไปกู้หนี้ยืมสินก่อนหน้าที่จะได้เงินค่าข้าวที่ต้องรอมานานกว่า 7 เดือน รวมถึงเร่งจัดระเบียบค่าเช่านาใหม่ให้มีความเป็นธรรม จากก่อนหน้านี้ชาวนาที่ไม่มีที่ดินของตัวเองเสียค่าเช่าประมาณ 500 บาทต่อไร่ต่อรอบผลิต ปัจจุบันเพิ่มเป็น 1.5 พันบาทต่อไร่ต่อรอบผลิตหรือเพิ่มขึ้น 200% ทำให้ต้นทุนสูง

นอกจากนี้ คสช.ต้องนำบทเรียนโครงการรับจำนำข้าวมาใช้ในการวางยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปอุตสาหกรรมข้าวครั้งใหญ่ ทั้งการวางแผนการผลิต แผนการตลาด โดยต้องพัฒนาเกษตรกรเป็นมืออาชีพ ต้นทุนต่ำ ผลผลิตสูง และขายมีกำไรโดยเชิญผู้ที่มีส่วนร่วมระดมสมอง

จากข้อเสนอแนะของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องข้างต้นถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ซึ่งในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ คสช.จะมีการประชุมหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นการช่วยเหลือชาวนาซึ่งจะทำให้เห็นนโยบายและทิศทางที่ชัดเจนขึ้นจากที่ล่าสุดอยู่ระหว่างการจัดวางโครงสร้างในการทำงานทั้งการตั้งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)ชุดใหม่ การตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสต๊อกข้าว และคณะอนุกรรมการปิดบัญชีรับจำนำข้าวเชื่อว่าจากนี้คสช.จะใส่เกียร์ 5 ในการขับเคลื่อนนโยบายข้าวที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะมีความแปลกใหม่ หรือใหม่ผสมเก่าอย่างไรน่าติดตามอย่างยิ่ง

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 8-11 มิถุนายน 2557