วงเสวนาถก เลื่อนประมูล ‘4จี’ เปิดช่องแก้ก.ม.เอื้อรายใหม่เกิด

ปี2014-07-31

วานนี้ (30 ก.ค.) บนโต๊ะเสวนาหัวข้อ “เลื่อน-เลิกประมูล 4จี ใครได้-ใครเสีย: รัฐ ผู้ประกอบการ ประชาชน?” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกเวที ที่เปิดโอกาสให้มีการแสดงความเห็น ในหลายๆ มิติ หลังจากที่การประมูล คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ตามกำหนดเดิมเดือนส.ค.ถูกชะลอออกไป 1 ปี ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

 

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริการจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีประมูล ถือเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีคุณค่าและเป็นรูปแบบที่ดีที่สุด จึงต้องการให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทบทวนการแก้ไขกฎหมายมาตรา 45 แล้วเปลี่ยนเป็นการจัดสรรด้วยวิธีอื่น ซึ่งจะทำให้ไม่ได้ผู้ประกอบการที่มีคุณภาพจริงๆ

ทั้งนี้ เห็นว่า จุดบอดสำคัญของโทรคมนาคม คือ ไม่ว่าจะออกแบบอย่างไร ก็จะมีผู้ประกอบการ 3 รายเก่าเหมือนเดิม แม้ว่ากสทช. จะบอกว่า เปิดให้รายใหม่ก็ตาม

“การปรับแก้กฎหมายจึงควร มุ่งเน้นไปที่การเอื้อให้มีผู้ประกอบการ รายใหม่มากกว่าแก้รูปแบบการประมูล”

นางเดือนเด่น กล่าวต่อว่า สิ่งที่ควร ปรับแก้คือ ประกาศกสทช. เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำโดยคนต่างด้าว พ.ศ.2555 เพราะปัจจุบันไทยมี พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่มีกฎเกณฑ์ชัดเจนอยู่แล้ว กสทช. ไม่จำเป็นต้องออกประกาศอีก เพื่อเปิดทางให้รายใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้

 

:มธ.ชี้ประมูลคลื่นวิธีดีที่สุด

นายพรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงข้อเสนอการ แก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2553 มาตรา 45 เพื่อเปิดโอกาสให้ กสทช. ใช้วิธีอื่นที่ไม่ใช่การประมูลในการจัดสรรคลื่นความถี่ว่า ข้อเสนอดังกล่าวเกิดจากปัญหาประมูล 3จี ที่ กสทช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยกรรมการ กสทช. บางคนมองว่าการประมูลเป็นปัญหา เพราะสังคมขาดความรู้ ได้รับข้อมูลผิดพลาด แท้ที่จริงแล้ววิธีประมูลไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหา คือ การใช้ดุลยพินิจของกสทช.ในการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลทำให้ไม่มีการแข่งขันเสนอราคา ขณะที่ราคาตั้งต้นกำหนดให้ต่ำกว่ามูลค่าประเมินที่เป็นวิชาการถึง 30%

ในทางเศรษฐศาสตร์ การประมูลหากออกแบบอย่างเหมาะสม เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่แล้ว เพราะทรัพยากรจะอยู่กับผู้ที่สร้างประโยชน์ได้สูงสุด ทั้งยังเป็นวิธีที่โปร่งใส ดำเนินการได้รวดเร็ว เมื่อวิธีการและ กฎเกณฑ์ประมูลถูกกำหนดมาแล้ว ผลประมูลถูกแทรกแซงได้ยาก และมีความเป็นธรรมในแง่ที่ไม่มีดุลยพินิจมาเกี่ยวข้อง

ขณะที่วิธีอื่นที่อาจใช้แทนการประมูล เช่น วิธีการคัดเลือกผู้เหมาะสม (บิวตี้ คอนเทสต์) เป็นวิธีที่ กสทช. ตั้งราคากลางและให้ผู้ประกอบการนำเสนอเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ให้ผู้บริโภคนั้นโปร่งใสน้อยกว่า เพราะขึ้นกับดุลยพินิจของผู้คัดเลือก ผู้คัดเลือกแต่ละรายให้น้ำหนักกับปัจจัยต่างๆ เช่น ราคา คุณภาพ เทคโนโลยี ความครอบคลุมของพื้นที่ นวัตกรรม แตกต่างกัน ดังนั้นผู้ได้รับคัดเลือกจะเป็นใครขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของกรรมการเป็นหลัก การเปิดโอกาสให้ใช้ดุลยพินิจอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์และเกิดข้อโต้แย้งทางการเมืองและกฎหมายได้ง่ายกว่า

 

:”สารี”ฟันธงรัฐเสียหาย

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า การเลื่อนประมูลครั้งนี้ ปัญหาเกิดจาก กสทช. ที่ล่าช้าในการ นำคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ที่ควร เร่งดำเนินการประมูลก่อนอายุสัญญาสัมปทานหมดวันที่ 15 ก.ย.2556 ซึ่งการประกาศมาตรการเยียวยาลูกค้าในระบบให้ใช้บริการต่อเนื่องอีก 1 ปี ไม่ต่างจากการขยายอายุสัญญาสัมปทานออกไป ส่งผลให้บริษัท ทรูมูฟ และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) ได้รับผลประโยชน์กว่า 6,800 ล้านบาท จากนี้ต้องพิจารณาการโอนย้ายลูกค้าให้ง่ายและสะดวกต่อผู้บริโภค

นายธีระ กนกกาญจนรัตน์ นักวิเคราะห์อาวุโสด้านไอซีที บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน กล่าวว่า การเลื่อนประมูล4จี ครั้งนี้ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของธุรกิจ การแข่งขันรวมถึงการลงทุนด้านโทรคมนาคม ส่งผลต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการโทรคมนาคมถูกผลกระทบ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคต้องการใช้งานด้านข้อมูลมากกว่าด้านเสียง ขณะเดียวกันเลื่อนประมูลครั้งนี้อาจส่งผลดี ผู้ให้บริการมีเวลาพัฒนาเทคโนโลยีการลงทุน 4จี ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ พ.อ.เศรษฐพงค์ รองประธานกสทช.และประธานกทค.ส่งหนังสือด่วนชี้แจงว่า ไม่สะดวกเข้าร่วมงานเนื่องจากติดภารกิจ และให้ความเห็นว่า กสทช.ไม่ได้เลิกประมูล 4จี เพียงแต่เลื่อนออกไปและตนเองไม่สะดวกใจที่จะเข้าร่วมงานเสวนา ที่มีคู่กรณีที่มีการต่อสู้คดีในชั้นศาลปกครอง เพราะเห็นว่า จะกระทบต่อการสืบพยาน

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 31 กรกฎาคม 2557