tdri logo
tdri logo
4 กรกฎาคม 2014
Read in Minutes

Views

ทีดีอาร์ไอมั่นใจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บมากขึ้น แนะใช้ ‘ภาษีติดลบ’ ลดเหลื่อมล้ำ

ศุลกากรหวังรายได้เข้าเป้า 1.3 แสนล้านบาท หลังดันเป็นวาระเร่งด่วน

“ทีดีอาร์ไอ” เสนอแนวทางลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ นำระบบอัตราภาษีติดลบมาใช้ โดยจ่ายเงินชดเชยให้ผู้มีรายได้น้อย โดยยึดจากเส้นความยากจนของ สศช. มั่นใจช่วยให้ระบบจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในระยะยาว “คลัง” ระบุ การเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อให้รายได้กรมศุลกากรเป็นไปตามเป้าที่ 1.3 แสนล้านบาท ขณะที่การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการลงทุนผ่านชายแดนศุลกากร ถือเป็นนโยบายที่”คสช.”ให้ความสำคัญ

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การปฏิรูปภาษีมี 2 วิธีคือ การปฏิรูปเพื่อหารายได้เพิ่มกับการปฏิรูปเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งวิธีหลังนั้น การจะทำให้ได้ผลมากสุด ควรนำระบบภาษีติดลบ หรือ Negative Income Tax มาใช้

สำหรับระบบภาษีติดลบนั้น วัตถุประสงค์หลักคือการจ่ายเงินไปสู่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นวิธีค่อนข้างง่าย เพราะสามารถใช้วิธีให้คนที่มีรายได้น้อยแจ้งหรือยื่นแบบ รายได้มายังกรมสรรพากรได้ว่า ในแต่ละเดือน ตัวเองมีรายได้เท่าไร หากต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็จะได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐ “ก็ทำเหมือนกับการยื่นแบบภาษีปกติ แต่แทนที่เมื่อยื่นแล้วต้องเสียภาษี ก็จะ ได้เงินชดเชยมาแทน ซึ่งต่างประเทศก็ทำกัน” นายสมชัยกล่าว ส่วนข้อดีของการใช้ระบบภาษีติดลบ คือ สามารถดึงทุกคนให้เข้าสู่ระบบภาษีได้ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปคนที่เคยได้เงินชดเชยภาษีจากการมีรายได้ต่ำ หากในอนาคต เขามีรายได้ขึ้นอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็จะทำให้ระบบการจัดเก็บภาษีของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยหลักจากจึงเป็นเรื่องที่ดี

นายสมชัย กล่าวด้วยว่าการจะทำเรื่องนี้ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อบังคับให้ทุกคนที่มีรายได้ไม่ว่าจะมากหรือน้อยต้องยื่นแบบแสดงรายได้เข้ามาที่กรมสรรพากร และต่อให้ไม่มีรายได้เลยก็ควรต้องยื่นเข้ามา สำหรับนิยามของคนที่จะได้รับเงินชดเชยจากการมีรายได้น้อย ก็อาจใช้นิยามเส้นความยากจนที่ทางสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทำการศึกษาออกมาก็ได้ กล่าวคือ สศช. ได้ศึกษาพบว่าคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละประมาณ 2,400 บาท ถือเป็นคนจน ซึ่งถ้าเราใช้เกณฑ์นี้ก็ใช้วิธี จ่ายเงินให้กับคนที่มีรายได้ต่ำกว่าตรงนี้ ซึ่งเท่าที่คำนวณดูคร่าวๆ จะใช้เงินเพียง 2-3 หมื่นล้านบาทเท่าไร

หากต้องการให้ผู้ได้รับเงินชดเชยมีเงินเหลือเพียงพอที่จะนำเงินไปใช้สำหรับในด้านการศึกษาแก่ลูกหลานซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในอนาคต ลงได้ ก็อาจจะต้องยอมจ่ายในระดับที่สูงขึ้นกว่าเส้นความยากจน วิธีการก็อาจใช้การกำหนดการจ่ายเงินชดเชยไปเลยก็ได้ว่า แต่ละปีจะจ่ายเงินชดเชยไม่เกินปีละเท่าไร เช่น ไม่เกินปีละ 1-2 แสนล้านบาทเป็นต้น

“ที่ผ่านมาเราเสียเงินไปให้กับคนที่ไม่สมควรได้รับเยอะมาก เพราะโครงการประชานิยมในหลายๆ โครงการ ผมคิดว่าหลายคนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่คนยากจน ดังนั้นการจัดระบบสวัสดิการควรต้องทำให้มั่นใจว่า คนที่ได้เป็นคนจนและต้องได้อย่างถ้วนหน้า” นายสมชัยกล่าว สำหรับการหาเงินเพื่อมาจ่ายชดเชยระบบอัตราภาษีติดลบนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะแค่ปรับอัตราภาษีเพียง 2-3 ตัว ก็ทำให้ภาครัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงภาษีจากการซื้อขายหุ้นเป็นต้น

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากรเปิดเผยว่า การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของกรมฯถือเป็นงานเร่งด่วนหลังจากรับตำแหน่งที่ตนต้องดำเนินการเป็นลำดับแรก โดยขณะนี้ เหลือเวลาอีกประมาณ 2-3 เดือนกว่าจะสิ้นปีงบประมาณ จึงจะพยายามดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยเป้าหมายการจัดเก็บของกรมฯอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท นอกจากนี้ การดำเนินการตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช. ในเรื่องการเตรียมตัวเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนถือเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะการจัดทำระบบ National Single Window (NSW) เพื่อเชื่อมโยงระบบการให้บริการนำเข้าและส่งออกทางอิเล็กทรอนิกส์ ของทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ

ขณะเดียวกัน จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ และได้เสนอเป็นโรดแมพต่อคสช.ในเบื้องต้นแล้ว นอกจากนี้ กรมฯยังได้เสนอของบประมาณ เพื่อดำเนินการจัดสร้างด่านศุลกากรตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับการขยายตัวของการค้าและการลงทุนที่จะมีมากขึ้น โดยขณะนี้ ได้รับอนุมัติงบจำนวนหนึ่ง เพื่อดำเนินการก่อสร้างด่านจำนวน 10 ด่านแล้ว

“ยกตัวอย่างของการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชน คือ กรณีทำผิดแบบ ไม่ตั้งใจเล็กน้อยก็ปรับเท่ากับตั้งใจ 4 เท่าของราคารวมภาษีอากรส่วนที่ขาดเท่ากัน ก็ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม ก็ต้องปรับให้ยืดหยุ่นระหว่างค่าปรับ 0-4 เท่า และมีประเด็นที่ต้องอธิบายคสช.ให้เข้าใจ” เขากล่าว

นายสมชัย ยังกล่าวถึงการขายทอดตลาดรถยนต์ของกลางจำนวน 357 คัน เมื่อวานนี้ (3 ก.ค.) ด้วยว่า คาดจะได้เงินจากการประมูล เข้ารัฐประมาณ 600 ล้านบาท แต่ช่วงแรกการประมูลไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก โดยเฉพาะรถยนต์ที่มีราคาแพง เช่น ยี่ห้อ Lamborghini ซึ่งกรมฯ นำมาขายทอดตลาดจำนวน 1 คัน ในราคากลาง เปิดประมูล 19.05 ล้านบาท แต่มีผู้เสนอราคาประมูลต่ำกว่าราคากลาง ทำให้ไม่สามารถขายทอดตลาดออกไปได้ อาจเป็นผลจากมาตรการของกรมสรรพากรที่มีแนวทางเข้าตรวจสอบภาษี ผู้ที่มีบ้านราคาแพงและรถยนต์หรู เป็นต้น

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 กรกฎาคม 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด