กรุงเทพธุรกิจรายงาน: ทีดีอาร์ไอเสนอปฏิรูปพลังงาน ‘ยั่งยืน’ ราคาตามต้นทุน-ช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม

ปี2014-07-04

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังดำเนินนโยบายปฏิรูปพลังงานครั้งใหญ่ โดยมีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารกระทรวงพลังงานและผู้บริหารบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ขณะที่เตรียมประกาศนโยบายราคาพลังงานในเร็วๆนี้ ซึ่งนโยบายพลังงานยังเป็นประเด็น ถกเถียงกันในสังคมอย่างกว้างขวาง นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เสนอให้ปรับราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนจริงทั้งระบบ แต่หามาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม มีประเด็น ดังนี้

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้พลังงานในประเทศไทยเกิดปัญหาเรื่องการบิดเบือนราคาและการ ผูกขาดธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ดังนั้นการปฏิรูปพลังงานของประเทศไทย ควรพิจารณาแก้ไขโครงสร้างพลังงาน โดยเฉพาะราคา ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) โดยต้องปล่อยให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เนื่องจากปัจจุบัน รัฐตรึงราคาไว้ต่ำ ก่อให้เกิดการใช้แอลพีจีและเอ็นจีวีมากขึ้นอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

ดังนั้นแนวทางปฏิรูปพลังงานที่เหมาะสมสำหรับแอลพีจีนั้น เห็นควรให้ปรับราคาเป็นราคาเดียวทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเสมอภาคสำหรับทุกกลุ่มที่ใช้แอลพีจี จากปัจจุบันภาครัฐแบ่งแยกราคาเป็น 4 ภาค คือ ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคปิโตรเคมี ซึ่งบางกลุ่มใช้แอลพีจีราคาแพง ขณะที่บางกลุ่มใช้ราคาถูก เพราะรัฐนำเงินไปชดเชยราคาไว้ เป็นต้น

“ทีดีอาร์ไอเสนอให้มีการกำหนดราคาแอลพีจีอย่างเท่าเทียมกัน โดยราคาที่เหมาะสม คือราคาที่อิงตลาดโลก ซึ่งส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นจะไม่ใช่รายได้ที่ ปตท.ได้รับ แต่จะกลับคืนมาเป็นเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ หรือในรูปของภาษีเพื่อให้รัฐนำมาจัดสรรใหม่ในการเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงการเสนอให้แยกธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ เพื่อจัดโครงสร้างตลาดแอลพีจี ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ เพราะปัจจุบัน บริษัทลูกของ ปตท.สามารถที่จะซื้อแอลพีจีได้ในราคาต่ำกว่าบริษัทปิโตรเคมีกลุ่มอื่นๆ” นางเดือนเด่น กล่าว

ในส่วนของราคาเอ็นจีวีปัจจุบันถูกตรึงไว้ให้ขายในระดับต่ำเกินไปแค่ 10.50 บาท ต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนที่แท้จริงสูงกว่า ราคาดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้เกิดการใช้มากขึ้น จึงควรจะต้องมีการปรับราคาให้ใกล้เคียงกับแอลเอ็นจีนำเข้า และส่งเสริมให้ผู้ใช้แอลพีจี ที่ภาคขนส่ง หันมาใช้เอ็นจีวีแทน

ในขณะที่แอลพีจีจากแหล่งก๊าซในอ่าวไทย ควรจะต้องใช้ไปเป็นวัตถุดิบ ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จึงจะเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของประเทศอย่างคุ้มค่า

นอกจากนี้การปฏิรูปพลังงานควรแก้ปัญหาการผูกขาดพลังงาน โดยเฉพาะกรณีท่อก๊าซฯ และโรงแยกก๊าซ ซึ่งปัจจุบัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของท่อก๊าซฯ ก่อให้เกิดการผูกขาดธุรกิจก๊าซอย่างชัดเจน

ดังนั้น ปตท. ควรแยกธุรกิจท่อก๊าซฯ โรงแยกก๊าซฯ ออกมาให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ สามารถใช้ท่อก๊าซฯและคลังเก็บก๊าซฯได้ อย่างเสรี โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)หรือเรคกูเลเตอร์ต้อง ออกประกาศอย่างชัดเจนให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้ได้อย่างถูกกฎหมายต่อไป

นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาปรับลดอัตราผลตอบแทนการลงทุนในส่วนของท่อก๊าซเก่า ที่อยู่ในระดับสูง 18% ลงมาให้อยู่ในระดับ ใกล้เคียงกับท่อส่งก๊าซใหม่ ที่อยู่ในระดับ12.5% ซึ่งจะช่วยให้ราคาก๊าซจากอ่าวไทยปรับลดลงได้อีก

ในส่วนของ การกำหนดเพดานราคา ดีเซลเอาไว้ที่ ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ทีดีอาร์ไอ เห็นว่า ราคาน้ำมันจะต้องสะท้อนต้นทุน ที่แท้จริง เพื่อให้มีการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น โดยการอุดหนุนราคาควรจะต้องพิจารณาจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งดีเซลเป็นน้ำมันที่สะอาดน้อยกว่าเบนซิน จึงไม่ควรที่จะทำให้ราคาต่ำกว่า

นางเดือนเด่น กล่าวด้วยว่า ทีดีอาร์ไอ ยังเสนอให้มีการนำระบบธรรมาภิบาล มาใช้บริหารจัดการธุรกิจพลังงาน โดยระยะสั้น ทาง ปตท.ควรต้องเปิดเผยสัญญาซื้อขาย พลังงานในกรณีที่เป็นผู้ซื้อหรือขายรายเดียว ต่อหน่วยงานกำกับดูแลและต่อสาธารณชน

พร้อมทั้งให้กระทรวงพลังงาน หรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)หรือ เรคกูเลเตอร์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับราคาพลังงาน ที่มีการจ่ายจริงทุกประเภทในเว็บไซด์ รวมทั้ง ค่าธรรมเนียมอื่นๆ อย่างเป็นระบบและเข้าใจง่าย รวมทั้งห้ามข้าราชการกระทรวงพลังงาน เข้าไปเป็นกรรมการในบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลทุกแห่ง

“การสร้างความโปร่งใสระยะยาว ควรลดการกำหนดราคาโดยใช้สูตรราคา ซึ่งไม่โปร่งใส แต่ควรให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด”

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ราคาน้ำมันในประเทศไทยควรจะต้องกำหนดให้มีราคาอยู่ระหว่างราคาส่งออกกับราคานำเข้า เพราะหากคิดที่ราคาส่งออก (Export parity) โรงกลั่นจะขาดทุน ในขณะที่ถ้าคิดราคาน้ำมันตามราคานำเข้า โรงกลั่นจะได้ราคาที่สูงเกินไป (Import parity) ทั้งนี้มองว่า จุดประสงค์การตั้งโรงกลั่นเพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป ดังนั้นเพื่อไม่ให้โรงกลั่นต้องเลิกกิจการ รัฐจึงจำเป็นต้องให้การคุ้มครอง สำหรับระบบภาษีน้ำมันควรมีหลักการชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า เป็นการจัดเก็บเพื่อนำเอารายได้มาดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยน้ำมันที่สร้างมลภาวะมากควรต้องเก็บภาษีมาก แต่ที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองได้นำเรื่องของน้ำมันไปใช้เป็นสินค้าการเมือง โดยทำให้ราคาถูก ผู้บริโภคจึงหันมาใช้กันมากและทำให้ราคาบิดเบือน ไปหมด

ส่วนเรื่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น เห็นว่า ประเทศไทยมีการใช้กองทุนกันอย่างไม่ เหมาะสม และเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง ซึ่งแนวทางที่ถูกต้องนั้น ระบบของกองทุนจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เพื่อให้การใช้จ่ายต่างๆ มีความโปร่งใสและเป็นการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 กรกฎาคม 2557