การศึกษาในมุมมองใหม่

ปี2014-07-07

วันเพ็ญ แก้วสกุล wanpen@nationgroup.com

ทีผ่านมา การศึกษาไทย “ยกเครื่อง” กันมาแล้วหลายครั้ง เล็กบ้างใหญ่บ้าง แต่ไม่ว่าจะเป็นการ “เขย่า” กี่ครั้งก็ตาม สุดท้ายการศึกษาไทยยังคงวนเวียนอยู่กับคำถามเดิมๆ คือ เรื่อง “คุณภาพ” และ “ขีดความสามารถในการแข่งขัน”

การศึกษาไทย อยู่ตรงไหนของอาเซียนในวันนี้? และปัญหาที่สั่งสมมายาวนานนั้นยังมีทางออกอยู่หรือไม่?

มุมมองจาก 3 ผู้รู้ที่เกาะติดการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาในไทย ประกอบด้วย ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) รศ. ดร. พินิติ รตะนานุกูล, รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และ ศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ปิโก (ไทยแลนด์) ร่วมสะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาไทยในวันนี้สามารถดีขึ้นได้หากร่วมกัน “พลิก” สู่ทิศทางใหม่ที่ “ดีกว่า”

สี่เรื่องที่ “ควรทำ” แต่ “ไม่ได้ทำ” สำหรับการปฏิรูปการศึกษา เป็นแนวคิดดีๆ จาก ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

หนึ่ง การศึกษาไทยจะดีขึ้นได้ต้องสร้างระบบความรับผิดชอบ (Accountability) ที่ผ่านมาระบบการศึกษาของไทยแยกกันทำงานอย่างเป็นอิสระไม่ขึ้นตรงต่อกัน การไม่บูรณาการด้านการทำงานเช่นนี้คนที่จะไม่ได้รับประโยชน์ก็คือนักเรียนการทำงานแบ่งเป็นแท่งๆเป็นหน่วยงานไม่ขึ้นตรงต่อกัน บางครั้งบางเรื่องแม้แต่รัฐมนตรีก็ไม่สามารถเข้าไปดูแลจัดการได้”

สอง ปัญหาเรื่องความเป็นอิสระของโรงเรียนทั้งในเรื่องการไม่สามารถคัดเลือกครูได้เอง การลงโทษ ต่างๆ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลทางด้านการบริหารจัดการสาม การจัดการเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการจัดสรรงบประมาณ เห็นได้ชัดเจนระหว่างสถาบันการศึกษารัฐและเอกชน หรือแม้แต่หน่วยงานการศึกษาสังกัดอาชีวศึกษาและการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ดูจะแตกต่างกันสี่ การปรับหลักสูตร สื่อการสอนและการพัฒนาครู ให้สอดรับกับบริบทของศตวรรษที่ 21

“ส่วนใหญ่พูดกันสวยหรูเกี่ยวกับการปรับหลักสูตรที่ล้าสมัยเน้นการท่องจำมาเป็นสอนเด็กให้คิดเป็น วิเคราะห์ได้ และกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากแก้ทั้ง 4 เรื่องนี้ได้จะช่วยให้นักเรียนมีผลการเรียนที่ดีขึ้น แทนที่จะเป็นเรียนมากแต่ได้ผลลัพธ์น้อย สวนทางกับประเทศสิงคโปร์ที่เน้นให้เด็กเรียนน้อยแต่เรียนรู้ให้มาก” ดร.สมเกียรติ กล่าว

ด้าน รศ. ดร. พินิติ รตะนานุกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า หลักสูตรในไทยต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับตลาดแรงงานให้มากขึ้น

และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ความสามารถในการปรับตัวของบัณฑิตให้เข้ากับสังคมและตลาดแรงงาน

การพัฒนามองถึง “คุณภาพ” ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ องค์ความรู้ที่เรียน การนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการทำงานที่เป็นสังคมพหุลักษณ์ เต็มไปด้วยความหลากหลายของคน ทักษะด้านภาษา และสุดท้าย ภาวะผู้นำ “ที่ผ่านมาหลักสูตรไม่สามารถ TaylorMade ให้ตอบรับกับตลาดแรงงานได้อย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่จะทำได้ก็คือบัณฑิตที่จบออกไปต้องประยุกต์ใช้ความรู้ และแสวงหาความรู้ให้ตรงกับตลาดแรงงาน”

การจัดอันดับสถาบันการศึกษาที่ผ่านมาเป็นเหมือนกระจกสะท้อนให้เห็นแล้วว่า เราอยู่ตรงไหน อย่างไรก็ดี การมองถึงอันดับท็อปคงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่ถ้าอยู่ติดอยู่ 1 ใน 100 ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะ หากมองจากปัจจัยบางด้านที่ประเทศไทยสู้ไม่ได้กับต่างประเทศ นั่นคือ เม็ดเงินเพื่อการสนับสนุนการวิจัย เพียงร้อยละ 0.26 ของจีดีพีเมื่อเทียบกับหลายประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากกว่า

ก้าวต่อไปก็คือ การทำในเชิงโครงสร้างและการจัดสรรเงินเพื่อให้เด็กๆ ได้รับโอกาสทางการศึกษา รวมถึงการวางแผนพัฒนาคน เมื่อสร้างเด็กเก่งมาแล้ว จะนำมาใช้อย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ

“การศึกษาของไทยจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์หรือไม่นั้นอย่างไรก็ต้องทำ” ศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปิโก (ไทยแลนด์) กล่าวและว่า สิ่งที่ผมในฐานะเอกชนสนใจและทำได้ก็คือ การพัฒนา “ครู” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาให้ “ด้อยลง” และ “ดีขึ้น”

เพราะการศึกษา คือ รากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ จะเห็นได้ว่า “ครูเก่ง”หนึ่งคนสามารถยกระดับความรู้ให้กับนักเรียนได้ทั้งห้อง ในขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนเก่งๆ หนึ่งคนก็สามารถยกระดับคุณภาพของทั้งโรงเรียนได้

ดังนั้น การติดอาวุธให้กับครูให้ได้มากที่สุด ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาของไทย โดยเครื่องมือที่ ปิโก นำมาใช้เป็นรูปแบบของการ “ส่งต่อ” และ “Share”ความรู้จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่นเดียวกับ มหกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู (Educa) ที่จัดติดต่อกันมาปีนี้เป็นปีที่ 8 ซึ่งแต่ละครั้งมีครูทั่วประเทศกว่า 50,000 คนเข้าร่วมงานเพื่อพัฒนาความรู้ทางวิชาชีพและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

นอกจากนี้ยังเปิดช่องทาง โครงการ Thai Teacher TV และ รายการ Teachers As Learners รายการทางการศึกษาใน Mahidol Channel เพื่อให้ครูทั่วประเทศได้อัพเดทความรู้และแนวทางการเรียนการสอนใหม่ๆ และการสร้างงานวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญ สร้างทางสู่การพัฒนาการศึกษาของไทย เช่น งานวิจัยระบบการศึกษาไทยตั้งแต่ปฐมวัยถึงมัธยมปลาย : ความสำเร็จและความล้มเหลว การจัดทำหนังสือ “ฉะเชิงเทราโมเดล : รอยต่อที่สูญหายในวงการ การศึกษาไทย” เป็นต้น

“ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคการเปลี่ยนแปลง ผมมองว่า การศึกษาโดยเฉพาะการพัฒนาครูเป็นเรื่องที่สำคัญ ผมหวังว่าจะเห็นการขับเคลื่อนจากภาคเอกชนองค์กรใหญ่ๆ ช่วยกันให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานของเราต่อไป” ศีลชัยกล่าว

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 6 กรกฎาคม 2557