โพลิซีวอทช์แนะ กสทช. รื้อกฎหมาย-ปรับใช้งบ

ปี2014-07-23

แนะตั้งสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคม-กระจายเสียง-โทรทัศน์

เอ็นบีทีซี โพลิซี วอทช์ ระบุการทำงาน กสทช. 3 ปียังต้องปรับปรุงอีกมาก ทั้งนโยบาย – การจัดสรรงบประมาณ ขณะที่ กสทช. ยอมรับการบริหารจัดการยาก เพราะเป็นรอยต่อจากสัมปทานไปสู่ไลเซ่นใหม่

วานนี้ (21 ก.ค.) โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) แถลงรายงานวิเคราะห์บทบัญญัติ ว่าด้วยธรรมาภิบาลในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และข้อเสนอการปรับปรุง โดย พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นฯ มีข้อกำหนดด้านธรรมาภิบาลในโอกาสการทำงานของคณะกรรมการ กสทช. ครบรอบ 3 ปี

นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยประจำโครงการ ชี้ว่า ข้อเสนอแนะ 5 ประเด็นหลัก คือ 1.ด้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ผ่านมา กสทช. และสำนักงาน กสทช. ไม่เปิดเผยข้อมูลที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือเปิดเผยไม่ทันตามเวลาที่กำหนด เช่น รายงานการประชุมของคณะกรรมการฯ ดังนั้นกฎหมายควรกำหนดระยะเวลาการเผยแพร่ข้อมูลสำคัญให้ชัดเจน และเพิ่มบทลงโทษกรณีไม่ปฏิบัติตาม โดยให้ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ในประมวลกฎหมายอาญา พร้อมทั้งบัญญัติให้ กสทช. และสำนักงาน ถือเป็นหน่วยงานอิสระใน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

2.ด้านการกำหนดนโยบาย การแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อเสนอความเห็นเชิงนโยบายที่ผ่านมายังดำเนินการผ่านระบบโควตา ดังนั้น กฎหมายควรกำหนดให้ กสทช. คำนึงถึงความรู้ความเชี่ยวชาญ และให้เปิดเผยข้อมูลด้านคุณสมบัติของคณะอนุกรรมการด้วย แม้สำนักงาน กสทช.จะจ้างหน่วยงานภายนอกผลิตงานศึกษาจำนวนมากแต่ที่ผ่านมายังไม่อ้างอิงงานศึกษาในกระบวนการกำหนดนโยบายเท่าที่ควร 3.ด้านการรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคไม่สามารถจัดการเรื่องร้องเรียนให้เสร็จภายใน 30 วันตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย การจัดการเรื่องร้องเรียนยังมีลักษณะตัดสินเป็นกรณีโดยขาดกลไก ยกระดับเรื่องร้องเรียนให้มีการบังคับใช้เป็น การทั่วไป

ฉะนั้น กฎหมายควรกำหนดให้ตั้งสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ที่เป็นหน่วยงานอิสระแทนอนุกรรมการด้านผู้บริโภคฯ ตามมาตรา 31 โดยมีหน้าที่ เช่น รับและจัดการเรื่องร้องเรียน

4.ด้านการใช้งบประมาณ กสทช.มีอำนาจอนุมัติงบ ซึ่งทั้งสองฝ่ายทำงานเป็นเนื้อเดียวกันมากกว่าตรวจสอบกัน ดังนั้นกฎหมายควรปรับแก้ให้งบประมาณต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการ งบประมาณ โดยผ่านการตรวจสอบและอนุมัติจากรัฐสภา และให้องค์กรภายนอกที่ชำนาญการด้านงบประมาณตรวจสอบให้ความเห็นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น เนื่องจาก กสทช. มีรายได้ ค่อนข้างมาก จึงควรปรับลดที่มารายได้ของ กสทช. ให้ไม่มากเกินไป เช่น รายได้ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการให้ลดจากร้อยละ 2 เหลือไม่เกินร้อยละ 1 รวมถึง รายได้จากค่าธรรมเนียมเลขหมายให้ส่งเข้าคลังโดยตรง

และ 5.ด้านกลไกการตรวจสอบจากภายในและภายนอก ซึ่งปัญหาเกิดจากการตีความสถานะของ กสทช. ที่ขอบเขตอำนาจขององค์กรตรวจสอบครอบคลุมไปไม่ถึง และการออกแบบกฎหมายที่ให้กสทช. มีอิทธิพลต่อการทำงานขององค์กรตรวจสอบ ดังนั้น กฎหมายควรแก้ไขให้คณะรัฐมนตรีเป็น ผู้ออกพ.ร.ก.กำหนดรายได้และค่าใช้จ่ายของ คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.)

นายสุทธิพล ทวีชัยการ กสทช.ด้านกฎหมาย ชี้แจงเอกสารในห้องประชุม ระบุว่า ปัญหาของ กสทช. นับว่าเป็นปัญหาทั้งองค์กร ไม่ใช่เป็นปัญหาตัวบุคคล แม้จะยกเลิกกรรมการ กสทช.ไปทั้งชุด เมื่อแต่งตั้งเข้ามาจะเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกัน เพราะการดำเนินการไม่ถูกใจคนบางกลุ่ม

“ยอมรับว่าการทำงานของ กสทช.ชุดนี้ เป็นช่วงรอยต่อของระบบสัมปทานเก่ากับระบบใบอนุญาตใหม่ควบคู่กันทำให้บริหารจัดการยาก เพราะกฎหมายยังคุ้มครองสัมปทานเดิมจึงเกิดปัญหาขึ้น ดังนั้นวิธีการแก้ไขควรเปลี่ยนระบบมาเป็นการออกใบอนุญาตทั้งหมด”

นางพิรงรอง รามสูตร นักวิชาการคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การกำกับดูแลของ กสทช. ยังใช้ระบบเดิมเหมือน กบว. ตามไม่ทันปัญหาที่เกิดขี้น เช่น ทีวีดิจิทัลช่องเด็ก ช่องหนึ่ง เมื่อชนะการประมูลแล้ว กสทช.ไม่ระบุชัดเจนว่ารูปแบบรายการควรเป็นอย่างไร จึงทำให้ช่องดังกล่าวผลิตรายการเน้นแต่ข่าวบันเทิง เพราะมองว่าวัยรุ่นคือเด็ก จึงตั้งคำถามว่า กสทช.จะดำรงอยู่ เพื่อประโยชน์ทางสังคมอย่างไร

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 22 กรกฎาคม 2557