นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ทีดีอาร์ไอได้ทำข้อเสนอแนะ 5 ข้อ ถึงแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวทุกอาชีพ ยกเว้นแรงงานประมง โดยในช่วงเวลา 1-2 ปีนี้ รัฐต้องเร่งจัดระเบียบใหม่ทั้งเรื่องอาชีพ สาขาการผลิต และพื้นที่ที่จะจ้างแรงงานต่างด้าวใหม่ทั้งหมด ต้องศึกษาเรื่องดังกล่าวให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เช่น อาชีพ ควรเร่งวิจัยให้เสร็จภายใน 6 เดือน เพื่อให้ทราบความต้องการของการจ้างแรงงานต่างด้าว ทดแทนคนไทยที่ขาดแคลนในแต่ละอาชีพสาขาการผลิตและพื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลจัดระเบียบการจ้างแรงงานต่างด้าวตามสาขาอาชีพที่จำเป็นจริง ๆ
ทั้งนี้เรื่องของพื้นที่นั้นการจะอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในแต่ละพื้นที่ ควรให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.แรงงานต่างด้าว พ.ศ.2551 คือ ต้องมีระเบียบ กฎเกณฑ์ ให้ชัดเจนว่ามีระเบียบวิธีการอย่างไรกับการจ้างแรงงานต่างด้าวตามชายแดน หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น แบบมาเช้ากลับเย็น รายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี อย่างไรรวมทั้งต้องพิจารณากฎหมายการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เรื่องของการอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานต่างด้าวหรือไม่อย่างไร ควบคู่กันและต้องพิจารณาว่า จะทำอย่างไรให้คนไทยวัยทำงานหรือคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้รับประโยชน์จากนโยบาย เช่น การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย
ส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวในจังหวัดชั้นในควรเป็นไปตามความสอดคล้องกับแนวปฏิบัติเรื่องอาชีพโดยอาศัยผลการศึกษามา สนับสนุนว่าจังหวัดไหนอาชีพอะไรที่ควรอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานได้มากน้อยเท่าใดขณะในพื้นที่ชายทะเล หรือจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัดควรเป็นพื้นที่ที่ต้องจัดระเบียบในเรื่องของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเลี้ยงกุ้ง การเลี้ยงปลา รวมทั้งการทำประมงทะเล และกิจการต่อเนื่องจากประมงให้ครบวงจร โดยเสนอให้จัดทำเป็นโครงการพิเศษแยกออกมาจากการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวโดยทั่วไปเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาได้รวดเร็ว เป็นรูปธรรม โดยพิจารณานำ “สมุทรสาครโมเดล” มาพิจารณาอีกครั้ง
ขณะเดียวกันยังเสนอให้ชะลอการจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายไปก่อน และให้ใช้นโยบายจัดการแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ โดยเสนอให้นิรโทษกรรมเต็มรูปแบบ กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย คือ นายจ้าง ลูกจ้าง (รวมถึงผู้ติดตามที่มาอยู่ในราชอาณาจักร ณ วันที่ประกาศ) เพื่อกวาดล้างมิให้มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายในประเทศไทยอีก โดยให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวทุกคน ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย รวมทั้งผู้ติดตามและบุตรมารายงานตัวทุกคน ภายในระยะเวลา 1-2 เดือน ทั้งนี้แรงงานที่จดทะเบียนถูกต้องอยู่แล้วให้ทำงานต่อไปได้อีก 2 ปี จากนั้นให้ต่อใบอนุญาตทุกปี และเมื่อพ้นระยะผ่อนผันแล้ว ให้เร่งรัดจับกุมนายจ้าง ลูกจ้าง ทุกคนที่ยังลักลอบทำงานอย่างเข้มงวด
ทั้งนี้รัฐควรปรับปรุงรูปแบบองค์กรในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ของกรมการจัดหางานให้มีประสิทธิภาพ โดยยกระดับสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวให้มีสถานะเทียบเท่ากรมฯ เพิ่มจำนวนบุคลากรให้เพียงพอ จากเดิมมีข้าราชการอยู่ 4-5 คน ให้เพิ่มขึ้น 10 เท่า คือ 50 คน รับผิดชอบฝ่ายต่าง ๆ และเพิ่มจำนวนลูกจ้างทำหน้าที่ในการจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศเป็นประมาณ 100 คน
นอกจากนี้ยังต้องจัดงบประมาณให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการ เช่น ปีละ 200-300 ล้านบาท ส่วนหนึ่งได้มาจากเงินค่าธรรมเนียม ต่าง ๆ ที่ได้จากการจดทะเบียนหรือต่ออายุแรงงานต่างด้าว โดยรัฐสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง และให้มีเงินงบประมาณสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการจับกุม การปราบปราม การส่งกลับ ด้านประชาสัมพันธ์ ด้านอำนวยการ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อแรงงานและผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)
“การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานไม่อยากให้จำกัดเฉพาะ แรงงานจาก 3 ประเทศ คือ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว แต่ยังมีแรงงานจากประเทศอื่น ๆ ที่พร้อมจะทำงาน ถ้ามีนายจ้างชัดเจนและมีกระบวนการที่ดีและถูกต้อง เพราะถ้ามีเหตุการณ์แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านตื่นตระหนกกลับประเทศจำนวนมาก จนมีผลกระทบกับผู้ประกอบการไทยก็เกิดขึ้นอีกได้”
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 18 กรกฎาคม 2557