ประเมิน คสช.

ปี2014-07-03

หลังจาก คสช. ได้เข้ามาดูแลบริหารประเทศเป็นเวลา 1 เดือน รายการ “คม ชัด ลึก” จึงได้จัดเสวนาในหัวข้อ…ประเมิน คสช.

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ในช่วง 1 เดือนที่ คชส.เข้ามาดูแลประเทศ บางเรื่องที่ คสช.ได้ทำไปแล้ว เป็นเรื่องที่ไม่มีใครปฏิเสธ อย่างเช่น การเปลี่ยนบอร์ด รัฐวิสาหกิจ และยังมีการแต่งตั้งผู้ควบคุมอีกชั้น โดยรวมแล้วดูดี ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ถือว่าทำได้ดีทีเดียว

การเปลี่ยนบุคคลอาจจะช่วยลดการทุจริตคอร์รัปชั่นในช่วงเวลาสั้นๆ หากมีระบบที่ดีก็จะช่วยรักษามาตรฐานของคอร์รัปชั่นได้มาก

การแต่งตั้งซูเปอร์บอร์ดของรัฐวิสาหกิจ การเข้าไปดูแลระบบบัญชีของรัฐวิสาหกิจให้ได้มาตรฐาน อย่างเช่นใช้ระบบเดียวกับบริษัทที่มีการจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์มาใช้กับรัฐวิสาหกิจ มีการตรวจสอบบัญชีที่เข้มงวดและได้มาตรฐาน

เรื่องที่น่าจะต้องทำ ต้องมีระบบการคัดเลือกกรรมการรัฐวิสาหกิจที่ดีขึ้น ทำอย่างไรให้ได้คนที่ดี หรือคนที่มีปัญหาน้อยที่สุด เพื่อให้ได้กรรมการรัฐวิสาหกิจที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้ามาบริหาร

ซูเปอร์บอร์ดของรัฐวิสาหกิจตั้งขึ้นก็เพื่อกำกับดูแลการบริหารของรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนดูแลบูรณาการรัฐวิสาหกิจให้เป็นเอกภาพ แต่ซูเปอร์บอร์ดไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนกรรมการ หรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจ แต่ทำหน้าที่เสนอความเห็น กึ่งๆ ที่ปรึกษา นั่นหมายถึง อำนาจยังอยู่กับ คสช. ต่อไปก็จะอยู่กับกระทรวงการคลัง และรัฐบาลในชุดต่อไปที่จะเข้ามาบริหารประเทศ

การที่ประเทศไทย เกิดมีการรัฐประหาร เป็นปัญหาตัวหนึ่งที่ไม่สามารถเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มค้าขายสินค้าส่งออก อย่างไรก็ตาม คชส.จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ แต่คงจะไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมด

โดยส่วนตัวคิดว่า คสช.ไม่ได้ทำการร่างรัฐธรรมนูญเอง แต่จะมีวิธีร่างรัฐธรรมนูญที่จะทำให้เป็นที่ยอมรับต่อ ฝ่ายต่างๆ สำหรับสภาปฏิรูป เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำขึ้นมาก่อน เรื่องอื่นก็ต้องทำ เพราะมีความสำคัญเช่นกัน แต่หากทำพร้อมกันในเวลาที่จำกัด จะไม่เสร็จเลยแม้แต่เรื่องเดียว

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 2 กรกฎาคม 2557