เด็กต่างด้าวเข้าไม่ถึงการศึกษา พ่อแม่ไม่ส่งลูกเข้าเรียน หวั่นถูกส่งตัวกลับ

ปี2014-07-25

เผยเด็กต่างด้าวเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาไทย 2.5 แสนคน ชี้สถานะทางกฎหมายส่งผล พ่อแม่ต่างด้าวไม่ส่งลูกเข้าเรียน หวั่นถูกส่งตัวกลับ ขาดการจัดส่ง เชื่อมต่อเด็กระหว่าง โรงเรียนกับโรงเรียน ไร้ครูเข้าใจภาษาเด็ก แนะก้าวแรกแก้ปัญหาเรื่องภาษา ปรับทัศนคติ พ่อแม่ต่างด้าว หลักสูตรการศึกษาไทย ลั่นเด็กไทยยังเรียนไม่รู้เรื่องแล้วเด็กต่างด้าวจะเรียน อย่างไร

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่อาคารไอบีเอ็ม สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สถาบันรามจิตติ จัดเสวนาจับกระแสความเคลื่อนไหวและนวัตกรรมการจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กและเยาวชน (INTREND) เรื่องจับกระแสยุทธศาสตร์การศึกษาสำหรับลูกแรงงานต่างด้าว: ประสบการณ์จากนานาประเทศและบทเรียนสำหรับประเทศไทย ภายในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมี ดร.จุฬาภรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ กล่าวว่า จากข้อมูลสถาบันรามจิตติ พบเด็กด้อยโอกาสกว่า 5 ล้านคน วนเวียนอยู่ในการศึกษาไทย โดยได้มี การประมาณว่ามีเด็กลูกแรงงานต่างด้าวที่ยังเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา 2.5 แสนคน เป็นอย่างน้อย ไม่นับเด็กไร้สัญชาติอีกกว่า 2-3 แสนคน ซึ่งปัญหาของลูกแรงงานต่างด้าวมี ปัญหาที่หลากหลาย ตั้งแต่การไม่รู้หนังสือ ไม่มีโอกาสเรียนทั้งในแบบไทยหรือในแบบของ วัฒนธรรรมตนเอง ปัญหาการออกกลางคันเนื่องจากต้องการเคลื่อนย้ายตามพ่อแม่หรือเนื่องจาก สถานะทางกฎหมายที่ทำให้พ่อแม่หวาดกลัวที่จะให้ลูกเรียนต่อ ปัญหาสุขภาพอนามัยไปจนถึงปัญหา การถูกบังคับค้าแรงงานและเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สาเหตุที่ ทำให้ลูกแรงงานต่างด้าวไม่เข้าสู่ระบบการศึกษา เพราะพ่อแม่ต้องการให้ลูกช่วยทำมาหากินมากกว่าที่จะส่งลูกเข้าเรียน และปัญหาครู ที่ส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจภาษาถิ่นของเด็กทำให้การเรียนการสอนไม่มีคุณภาพ นอกจากนั้นเรื่องหลักสูตรที่เรียน เด็กไทยยังไม่สามารถเรียนได้แล้วเด็กต่างด้าวที่ไม่รู้ภาษาไทยจะเรียนเข้าใจได้อย่างไร และได้อะไรจากระบบการศึกษานี้ จึงควรทบทวนเรื่องหลักสูตรด้วย

นายเกรียงไกร ชีช่วง เลขาธิการเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการถอดบทเรียน ในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี พบว่าลูกแรงงานต่างด้าวจะเรียนจบเพียงชั้น ประถมศึกษาปีที่ 6 หรือมัธยมศึกษาปีที่ 3 และส่วนใหญ่จะออกกลางคัน เพราะไม่มีแรงจูงในในการเรียนศึกษาต่อ มีข้อจำกัดคือออกนอกพื้นที่ไม่ได้ และมีปัญหาเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ ทำให้ พ่อแม่แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ไม่ให้ลูกเรียนหนังสือ และเด็กต้องไปเป็นแรงงานก่อนวัยอันควร

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 24 กรกฎาคม 2557