แรงงานเขมรแห่กลับ เราได้(เรียนรู้)อะไร

ปี2014-07-15

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

เรื่องที่ฮือฮากันและเป็นข่าวใหญ่มากเมื่อกลางเดือนที่แล้ว คือการที่แรงงานกัมพูชาจำนวนแสนเดินทางกลับประเทศ สาเหตุสำคัญคือความตื่นตระหนกข่าวลือว่าจะถูก คสช. จับกุมและกวาดล้าง รวมทั้งข่าวลือว่ามีแรงงานเขมรถูกทหารยิงเสียชีวิต และ คสช. มีนโยบายกวาดล้างที่รุนแรง

คนที่ตกใจมากกว่าน่าจะเป็นนายจ้างและนักธุรกิจ ซึ่งดาหน้าออกมาโวยวายว่าภาคธุรกิจจะได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ส่งออกข้าว สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้รับเหมาก่อสร้าง กิจการประมงทะเล แม้กระทั่งกลุ่มเกษตรกรรม บริเวณจันทบุรี ระยอง และตราด ซึ่งพึ่งพาแรงงานเขมรในการเก็บเกี่ยวผลผลิต

เราได้(เรียนรู้)อะไร จากการที่แรงงานเขมรแห่กลับบ้าน

ประการแรก เราได้บทเรียนของความจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ ที่ส่งสัญญาณให้เห็นว่า “ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก” ซึ่งจะเห็นได้จากปฏิกิริยาของภาคเอกชนดังกล่าวข้างต้น

มีคำถามว่า เมื่อไรแรงงานต่างด้าวจะหมดไป คำตอบคือ ยากหรืออีกนาน

ที่จริงต้องยอมรับว่าการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในด้านเศรษฐกิจเป็นสัจธรรมระดับโลกไปแล้ว ในเอเชียดูได้ตั้งแต่มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ทุกวันนี้หนีไม่พ้นต้องพึ่งแรงงานต่างด้าว แต่ประเทศเหล่านี้ใช้ความพยายามในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างฉลาด มีมาตรการที่ค่อนข้างรัดกุมและปฏิบัติได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ อย่างสิงคโปร์ก็ใช้มาตรการค่าธรรมเนียมการจ้างงาน (Levy) ที่เรียกเก็บจากนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวและการบริหารจัดการด้านอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เกาหลีใต้มีระบบการจ้างงานระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลที่เรียกว่า EPS (Employment Permit System) ที่มีการคัดกรองแรงงานข้ามชาติโดยร่วมมือกับประเทศต้นทาง มีนโยบายที่ชัดเจนและมีการติดตามแก้ไขปัญหา และญี่ปุ่นใช้โครงการ IM (Public Interest Foundation, International Manpower Development Organization, Japan : IM Japan หรือเรียกโดยย่อว่า IM) ประเทศญี่ปุ่นรับแรงงานทักษะให้ไปฝึกงาน ซึ่งที่จริงก็ให้ไปทำงานในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่เคยพยายามหลีกเลี่ยงการใช้แรงงานข้ามชาติ แต่พบว่าแม้จะมีความพยายามใช้เครื่องทุนแรง เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อลดการใช้แรงงาน แต่ขาดแรงงานมนุษย์ไม่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับล่าง

ประการที่สอง ประเทศต้นทางให้ความสนใจแรงงานของเขามากขึ้นกว่า แต่ก่อน ดังนั้น ปัญหาการใช้แรงงานข้ามชาติจึงโยงไปถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างที่รัฐบาลกัมพูชาส่งรถมารับแรงงานตนกลับบ้านจากปอยเปตอย่างรวดเร็ว เป็นปรากฏการณ์ใหม่ หรือการที่คนระดับนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯกัมพูชาออกมาเล่นเรื่องนี้ด้วยตนเอง รวมทั้งการที่นักการเมืองฝ่ายค้านอย่างนายสม รังสี มีการจ้างแรงงานที่กลับบ้านพวกนี้ให้ไปปรากฏตัวที่พนมเปญเพื่ออาศัยเป็นเครื่องมือด่ารัฐบาล หรือการที่ประเทศไทยต้องส่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศซึ่งปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไปชี้แจงกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาก็ชี้ให้เห็นว่าแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องสำคัญระหว่างประเทศอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ยังไม่นับปัญหาการค้ามนุษย์ที่สหรัฐอเมริกาลดอันดับไทยไปอยู่ระดับ 3 แล้วนั้นปัญหาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ

ในอดีตแรงงานเขมรที่ถูกส่งกลับน่าสงสารมาก เมื่อ 6-7 ปีก่อน ผู้เขียนเคยไปยืนสังเกตการณ์แรงงานเขมรที่ถูกส่งกลับจากฝั่งไทย พอถึงปอยเปต แทนที่จะได้รับการต้อนรับแบบฮีโร่เหมือนแรงงานฟิลิปปินส์ที่กลับบ้าน ปรากฏว่าแรงงานเขมรกลับโดนตำรวจเขมรรีดไถ เรียกค่าเหยียบแผ่นดินของตนเองหัวละ 200 บาท เสร็จแล้วการเดินทางกลับบ้านก็ต้องอาศัยรถอีแต๋น ต่างคนต่างกลับ

ประการที่สาม ที่สำคัญเราได้รู้ว่า แรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะแรงงานที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย อยู่ด้วยความหวาดกลัว ไม่ใช่ความกลัวทหาร แต่สารพัดจากการรีดไถของเจ้าหน้าที่ และกุ๊ยข้างถนน การเอารัดเอาเปรียบจากนายหน้าและผู้สมรู้ร่วมคิด ทั้งนี้ ผู้เขียนและทีมงานได้เดินทางไปสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งแรงงานข้ามชาติจังหวัดสมุทรสาครเมื่อตอนต้นปีมีก่อนจะเกิดเรื่องแรงงานเขมรกลับบ้าน และได้รับทราบปัญหาดังกล่าวด้วยตนเอง

ประการที่สี่ ได้เห็นว่าแรงงานต่างด้าวมีเครือข่ายที่ใกล้ชิดถึงกันกว่าและรวดเร็วกว่าในอดีต ทั้งในประเทศและการติดต่อข้ามชาติ นอกจากนั้น ผู้เขียนเห็นด้วยกับ ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ ในเรื่องที่การลักลอบค้ามนุษย์ที่ทำกันอย่างเป็นระบบ มีการทุจริตคอร์รัปชั่น หลบเลี่ยงกฎหมายมาโดยตลอด (ที่สมุทรสาครมีการนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายได้วันต่อวันทันทีที่มีผู้ต้องการ โดยผ่านเครือข่ายดังกล่าว) ดังนั้น เมื่อมีข่าวว่าทาง คสช. จะเอาจริงในการจัดการแรงงานผิดกฎหมาย จึงทำให้คนที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในเรื่องนี้น่าจะพยายามกลบเกลื่อนหลักฐานและหาทางกำจัดแรงงานผิดกฎหมายอย่างรวดเร็ว

ประการที่ห้า เป็นบทเรียนที่ชี้ให้เห็นว่าภาคเอกชนส่วนใหญ่ไม่มีแผนรองรับ การย้ายกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก (เช่น ทั้งแผนแรงงานสำรอง แผนงบประมาณค่าจ้างแรงงานฉุกเฉินซึ่งอาจมากกว่าค่าจ้างแรงงานต่างด้าว (ยกเว้นบางบริษัทซึ่งบอกว่ามีการเตรียมการแก้ไขการใช้แรงงานข้ามชาติไว้แล้ว) รวมทั้งราชการเองก็เช่นกันไม่ได้มีการเตรียมแผนรองรับทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่ชัดเจน โชคดีที่ คสช. ออกมาแก้ปัญหาได้ทันท่วงที มิฉะนั้นคงเศรษฐกิจไทยคงสะดุดและเลวร้ายยิ่งขึ้น

ประการที่หก ได้เห็นบทเรียนของการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีประสิทธิภาพและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทันตาเห็น เป็นการตอกย้ำว่าการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวโดยคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวที่เรียกย่อๆ ว่า กบร. มีความล้มเหลวซ้ำซาก (ไม่มีแผนรองรับกรณีที่ไม่มีแรงงานต่างด้าวโดยทันที) ไม่ป้องกัน ไม่วิ่งเข้าหาปัญหา แต่รอแก้ปัญหา แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ ไม่มีกุศโลบาย (แปลว่าอุบายอันฉลาดและแยบยล) ระยะยาว มีปัญหาคอร์รัปชั่น ฯลฯ ในขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวต่าง ก็พยายามหาทางนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพื่อสนองความต้องการแรงงานของประเทศโดยใช้กุศโลบายต่างๆ และมีการปรับปรุงการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพตลอดเวลา

ประการที่เจ็ด บทเรียนของภาพพจน์ของทหารที่ออกมาสั่งการขึงขังแบบทหารและเอาจริง ทำให้แรงงานผิดกฎหมายเกรงกลัว ซึ่งในระยะยาว หากสามารถทำกฎหมายให้เป็นกฎหมายได้ ก็จะช่วยทำให้นโยบายแรงงานต่างด้าวบังเกิดผลจริงจังได้

แต่ต้องใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ

พระเดชคือการจัดระเบียบและการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง พระคุณคือการให้ความอบอุ่น ความสุขในการอาศัยอยู่ในประเทศไทย ให้ความคุ้มครองทางสังคมในด้านต่างๆ ที่อยู่อาศัย บริการสุขภาพ การศึกษา ความปลอดภัยในการใช้ชีวิตในประเทศไทย ตลอดจนการคุ้มครองความปลอดภัยจากการค้ามนุษย์ การเอารัดเอาเปรียบต่างๆ การเคารพสิทธิมนุษยชน (ถ้าจะให้ดี จะใช้พระเดชและพระคุณอย่างไรก็กำหนดเป็นนโยบายระดับชาติระยะยาวให้ชัดเจน)

เชื่อว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารคงอยู่เมืองไทยด้วยความรักเหมือนแรงงานข้ามชาติรุ่นก่อนๆ ในประวัติศาสตร์ เรื่องเช่นนี้ผู้เขียนเคยเดินทางไปวิจัยแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาถึงที่ประเทศกัมพูชา ถึงจังหวัดบันเตียเมียนเจย ถึงจังหวัดพระตะบอง เคยไปสัมภาษณ์แรงงานกัมพูชาที่เคยอยู่เมืองไทยประมาณ 10 กว่าปี แล้วกลับไปบ้านที่พระตะบอง เพราะไม่มีคนดูแลพ่อซึ่งพิการ เธอชี้ให้ดูบ้านสองชั้นที่อยู่ บอกอย่างภูมิใจว่าสร้างด้วยเงินที่หาได้จากเมืองไทย เธอรักสมเด็จย่ามาก เพราะเจ้าของบ้านที่เธอทำงานอยู่รักพระองค์ท่านมาก เธอพนมมือท่วมหัวทุกครั้งที่พูดถึงสมเด็จย่า เธอขอบคุณประเทศไทยที่ให้เธอมีวันนี้

ตอนนี้ คสช. กำลังไปถูกทางแล้ว กรุณาเดินหน้าต่อไป และสุดท้ายนี้ คงไม่ต้องบอกว่า ถ้าจัดระเบียบและดูแลแรงงานข้ามชาติได้ดีเมื่อไร ก็เท่ากับแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ไปแล้วมากกว่าครึ่ง

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 11 กรกฎาคม 2557