แก้ปัญหา ‘แรงงานต่างด้าว’ ต้องบูรณาการสร้างโครงการพิเศษ

ปี2014-07-09

กรณีปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าว และการที่ไทยถูกลดอันดับไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการบังคับใช้แรงงานทาสและการค้ามนุษย์แย่ที่สุด (Tier 3) “ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์” ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัญหา 2 เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกัน

เนื่องมาจากในช่วง 10 กว่าปีผ่านมา ประเทศไทยยังไม่สามารถจัดระเบียบการใช้แรงงานต่างด้าวได้อย่างจริงจัง และโปร่งใส ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว สำหรับแรงงานต่างด้าวทุกอาชีพ (ยกเว้นแรงงานประมง) ประกอบด้วย

หนึ่ง ให้ชะลอการจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายไปก่อน แต่ขอให้ใช้นโยบายจัดการแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ โดยเสนอให้มีการนิรโทษกรรมเต็มรูปแบบ กับผู้ที่เกี่ยวข้อง กับการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย คือ นายจ้าง, ลูกจ้าง (รวมถึงผู้ติดตามที่มาอยู่ในราชอาณาจักร ณ วันที่ ประกาศ) เพื่อกวาดล้างมิให้มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายในประเทศไทยอีกต่อไป

สอง เมื่อพ้นระยะผ่อนผัน (2-3 เดือน) แล้วให้ทำการเร่งรัดจับกุมนายจ้าง (ลูกจ้าง) ทุกคนที่ยังลักลอบทำงานอยู่ หรือพยายามลักลอบเข้ามาใหม่อย่างเข้มงวดจริงจัง ต่อเนื่อง

สาม ในช่วงเวลา 1-2 ปีจะต้องจัดระเบียบใหม่ในเรื่องของอาชีพ สาขาการผลิต และพื้นที่ที่จะจ้างแรงงานต่างด้าวใหม่ทั้งหมด โดยมีการศึกษาวิจัยเรื่อง เหล่านี้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ กล่าวคือในเรื่องอาชีพ ให้ทำการวิจัยอย่างรวดเร็วประมาณ 6 เดือน เพื่อให้ทราบความต้องการของการจ้างแรงงานต่างด้าวทดแทนคนไทยที่ขาดแคลนในแต่ละอาชีพสาขาการผลิต และพื้นที่ให้ชัดเจน

อย่างพื้นที่ชายทะเล หรือจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัด ควรเป็นพื้นที่ ที่ต้องจัดระเบียบในเรื่องของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเลี้ยงกุ้ง การเลี้ยงปลา รวมทั้งการทำประมงทะเล และกิจการต่อเนื่องจากประมงให้ครบวงจร

ทั้งนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประมงเหล่านี้ ทำให้ไทยต้องมีปัญหากับต่างประเทศมาตลอด เช่น เป็นประเทศที่ถูกกำหนดให้ถูกเฝ้าระวังเป็นพิเศษด้านการบังคับใช้แรงงาน หรือการค้ามนุษย์ เป็นต้น
จึงเสนอให้จัดทำเป็นโครงการพิเศษแยกออกมาจากการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวโดยทั่วไป เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาได้รวดเร็ว เป็นรูปธรรม ในแบบของการบูรณาการ

โดยพิจารณาด้วยการนำ “สมุทรสาครโมเดล” มาพิจารณา หลักการคือให้สมาคมธุรกิจต่าง ๆ สมาคมวิชาชีพ เช่น สมาคมประมง ต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบให้ความร่วมมือกับรัฐอย่างจริงจัง มีรูปแบบการบริหารจัดการที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับภาวะตลาดแรงงาน

สี่ ควรใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงรูปแบบองค์กรในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของกรมการจัดหางานให้มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการปฏิบัติงาน โดยยกระดับสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวให้มีสถานะ
เทียบเท่ากรม มีฝ่ายต่าง ๆ ที่ครอบคลุม เพิ่มจำนวนบุคลากรให้เพียงพอ จากเดิมมีข้าราชการอยู่ 4-5 คน ให้เพิ่มขึ้น 10 เท่า คือ 50 คน รับผิดชอบ ฝ่ายต่าง ๆ และเพิ่มจำนวนลูกจ้างจากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 50 คน ที่ทำหน้าที่ในการจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศ เป็นประมาณ 100 คน โดย 50 คนที่เพิ่มขึ้นกระจายไป อยู่ตามกอง หรือฝ่ายต่าง ๆ

ห้า พร้อมกันนี้ให้มีการจัดงบประมาณที่เพียงพอในการบริหารจัดการ เช่น ปีละ 200-300 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งได้มาจากเงินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ได้จากการจดทะเบียน หรือต่ออายุแรงงานต่างด้าว โดยรัฐสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง

“ดร.ยงยุทธ” สรุปในตอนท้ายว่า การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานไม่อยากให้จำกัดเฉพาะ แรงงานจาก 3 ประเทศ คือ เมียนมาร์, กัมพูชา และลาว แต่ยังมีแรงงานจากประเทศอื่น ๆ ที่พร้อมจะทำงาน เช่น เวียดนาม, บังกลาเทศ ถ้ามีนายจ้างชัดเจน และมีกระบวนการที่ดีและถูกต้อง

ไม่เช่นนั้นถ้ามีเหตุการณ์แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านตื่นตระหนกกลับประเทศจำนวนมาก อาจมีผลกระทบกับผู้ประกอบการไทยอีกก็ได้

ขออย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 10-13 กรกฎาคม 2557