3 ปี กสทช. ไร้ประสิทธิภาพ จี้ลดค่าธรรมเนียม

ปี2014-07-23

นักวิชาการจวกแหลก “กสทช.” 3 ปีไร้ประสิทธิภาพ ผู้บริโภคไม่ได้ประโยชน์จี้แก้ พ.ร.บ.ลดอัตราค่าธรรมเนียมปิดจุดอ่อนด้านการใช้เงิน เพิ่มธรรมาภิบาล ปลดล็อกเงื่อนไขประมูลคลื่น

นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนา “3 ปี กสทช. : ความฝัน ความเป็นจริง และการปฏิรูปกฎกติกา” จัดโดยโครงการวิเคราะห์และติดตามร่างกฎหมาย ระบุว่า การทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ผ่านมา เป็นไปอย่างเชื่องช้า และมีความลักลั่นจนทำงานไม่บรรลุบางวัตถุประสงค์ที่ก่อตั้ง

“พ.ร.บ.กสทช.ระบุชัดว่า ต้องเปิดเผยข้อมูล อาทิ มติที่ประชุม, แผนการดำเนินงาน, การศึกษาข้อมูลของคลื่นความถี่, การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ, ข้อมูลการร้องเรียน, รวมถึงการใช้เงินของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) แต่ กสทช.กลับไม่ได้ทำ และถึงจะมีซูเปอร์บอร์ด (คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการทำงานของ กสทช.) ก็ไม่สามารถตรวจสอบ กสทช.ได้เต็มที่ เพราะไม่มีการให้ข้อมูลจากแผนกที่ตรวจสอบโดยตรง ที่สำคัญ ใน พ.ร.บ.ของ กสทช.กลับไม่ได้กำหนดให้ สตง.มีอำนาจเปิดเผยรายงานการตรวจสอบบัญชีโดยตรง จึงเป็นการปกปิดอย่างชัดเจน”

การใช้งบประมาณมากกว่าที่ควรจะเป็นคือสิ่งที่ชัดเจนที่สุดว่า กสทช.ไม่ทำตามวัตถุประสงค์ก่อตั้ง เฉพาะงบฯประชาสัมพันธ์ก็สูงกว่า 50 ล้านบาท

ทางออกคือการแก้ พ.ร.บ.กสทช.เพื่อลดรายได้ของ กสทช. โดยให้ลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ที่เป็นรายได้หลักของ กสทช.เหลือเพียง 1% ของรายได้จากผู้ประกอบการทั้งฝั่งโทรคมนาคมและบรอดแคสต์ จากเดิมที่เก็บอยู่ 2%

“FCC (กสทช.ของสหรัฐอเมริกา) และ OFCOM (กสทช.ของอังกฤษ) เก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตราว 0.5% เท่านั้น”

นอกจากนี้ยังต้องแยกงบประมาณของ “ซูเปอร์บอร์ด” ไม่ให้ต้องขึ้นตรงกับ กสทช.เพราะไม่สมเหตุสมผลที่ผู้ตรวจสอบต้องได้รับอนุมัติงบประมาณจากผู้ถูกตรวจสอบ รวมถึงให้ กสทช.และสำนักงานเป็นเจ้าพนักงานที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจสอบสวนและยื่นเรื่องฟ้องแทนผู้ได้รับผล กระทบได้ รวมถึงไม่จำกัดการจัดสรรคลื่นให้ต้องประมูลเท่านั้น

ด้านนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ พ.ร.บ.กสทช.ไม่ใช่ทางออกทั้งหมดที่จะทำให้ กสทช.โปร่งใส แถมอาจเปิดช่องให้มีการแก้กฎหมายไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ถูกใจคนที่จะมาคุมองค์กรนี้

“3 ปีทุกอย่างมันไม่ค่อยโปร่งใส เพราะมีการทำงานแบบหน้าด้าน ๆ ถึงแม้จะผิดกฎหมายก็ตาม การแก้กฎหมายจึงไม่มีประโยชน์ แต่ก็ต้องการกำหนดการใช้เงิน กทปส. ให้เหมาะสมมากขึ้น ไม่ใช่สามารถนำไปใช้ในอะไรก็ได้”

นางพิรงรอง รามสูต อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้การทำงานของ กสทช.เร็วขึ้นมาก ซึ่งแสดงถึงความไม่ใส่ใจในการทำงานที่ผ่านมาของ กสทช.ซึ่งอาจ มองต่อไปว่าไม่จำเป็นต้องมี กสทช.อีกต่อไป ขอแค่องค์กรมาคุมที่ดีพอ งานก็เดินได้

“จากการได้เป็นอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการของ กสทช.ทำให้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมองค์กร จนทราบว่าการตั้งคณะอนุกรรมการทำง่าย และตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาซ้ำซ้อนกันก็ได้ ถ้าเกิดขัดแย้งกัน ทำให้งานซ้ำซ้อน และบางเรื่องอย่างการจัดเรทติ้ง ซึ่งปกติจะปล่อยให้อุตสาหกรรมผลักดันเอง กสทช. ก็เข้ามาจัดการ ที่สำคัญจะอยากให้สังเกตว่าผู้บริโภคได้ประโยชน์อะไร การมี กสทช.ได้ช่วยทำให้คุณภาพบริการด้านโทรคมนาคมและบรอดแคสต์ดีขึ้นหรือไม่”

ขณะที่นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า 3 ปี กสทช.อาจมีผลงานที่ชัดเจนเพียง 2 เรื่อง คือการจัดประมูล 3G และการเริ่มทีวีดิจิทัล แต่ผู้บริโภคกลับไม่ได้ประโยชน์มากนัก เช่น ราคาค่าบริการที่ต้องลดลง 15% เมื่อเทียบกับก่อนการประมูลคลื่น 3G หรือการกระจายโครงข่ายของระบบทีวีดิจิทัลที่ยังไปได้ช้า รวมถึงการสนับสนุนกล่องรับสัญญาณที่ยังไม่มีความชัดเจน จึงอาจมองเป็นการล้มเหลวขององค์กรก็ได้

“การปฏิรูปองค์กรก็จำเป็น แต่ไม่ใช่แค่การแก้กฎหมายจะปฏิรูปองค์กรได้ ต้องอาศัยคน ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจุดนั้นจะมาเมื่อไหร่ เพราะถ้าคนไม่ดี การแก้กฎหมายกี่ครั้งก็เหมือนเดิม แต่ส่วนตัวยังจะเดินหน้าทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป”

สำหรับการจัดสรรคลื่นความถี่ มองว่าไม่ต้องกำหนดให้ใช้การประมูลเพียงอย่างเดียว แต่ให้กำหนดเป็นภาพกว้าง แล้วให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญตัดสินใจว่าแต่ละคลื่นควรใช้วิธีใดจัดสรร ส่วนกองทุนของ กสทช.ควรจะมีต่อไป แต่ให้นำเงินถูกเรียกเก็บเข้ากองทุนไปใช้ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงในทุกกิจการที่ กสทช.ดูแล


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 24-27 กรกฎาคม 2557