กรุงเทพธุรกิจรายงาน: ปลดล็อคความเหลื่อมล้ำ คืนความเป็นธรรมสู่สังคมไทย

ปี2014-08-29

ความได้เปรียบทางภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการทำการเกษตร ทำให้ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารส่งออกที่สำคัญรายใหญ่ของโลก

จากการจัดอันดับความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งของ Credit Suisse ในรายงาน Global Wealth Databook ที่ทำการรวบรวมข้อมูลทรัพย์สินสุทธิจากแหล่งต่างๆ พบว่าความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งของไทยสูงติดอันดับท้ายของโลก โดยอยู่อันดับที่ 162 จาก 174 ประเทศ สะท้อนถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่พยายามทำมาร่วม 30 ปี

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า เรื่อง ความเหลื่อมล้ำทุกประเทศย่อมมีอยู่แล้ว เพียงแต่จะมีมากหรือน้อยแตกต่างกันไป ส่วนของประเทศไทยที่อยู่อันดับ 162 จาก 174 ประเทศ ย่อมต้องเป็นระดับที่มากเกินไป หากไปดูแบบเจาะลึกรายละเอียดจะพบว่า เรามีความเหลื่อมล้ำที่ไม่ชอบธรรมอยู่พอสมควร กล่าวคือ คนรวยก็รวยเกินไป ส่วนคนจนก็จนมากเกินไป

สาเหตุความเหลื่อมล้ำมีด้วยกันหลายสาเหตุแต่หากเป็นมุมมองจากนักเศรษฐศาสตร์แล้ว สาเหตุหลักคงเรื่องของ “โอกาส” ที่ไม่เท่าเทียมกันโดยเฉพาะโอกาสในด้าน “การศึกษา”

“การศึกษาแม้ทุกวันนี้จะมีนโยบายเรียนฟรีแต่ก็ไม่ได้ฟรีทุกอย่าง และระดับการศึกษาก็อาจไม่ได้เท่าเทียมกัน อันนี้ก็เป็นตัวอย่างเล็กๆ ในเรื่องของโอกาส” ดร.สมชัย กล่าว โดยความไม่เท่าเทียมกันทางด้านโอกาสยังอาจส่งผลต่อการเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกอีกด้วย

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตุกันว่า ระบบ”ทุนนิยม” ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงขึ้นนั้น ดร.สมชัย มองว่า คงต้องดูด้วยว่าระบบทุนนิยมที่ใช้กันอยู่เป็นทุนนิยมที่ดีหรือไม่ดี สำหรับประเทศไทยแล้วถือเป็นระบบทุนนิยมแบบกลางๆ คือ ไม่ดีและไม่ร้ายเกินไป ทั้งยังเชื่อว่า ระบบทุนนิยมในปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นทุนนิยมที่ดีขึ้น กล่าวคือ เริ่มมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

“ผมคิดว่าแนวโน้มใหม่ เริ่มเป็นทุนนิยมที่มีความรับผิดชอบแต่สังคมมากขึ้น เพราะนักธุรกิจก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากขึ้น เพราะนักธุรกิจก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เวลาที่สังคมปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำเขาก็เจอปัญหานั้นด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นช่วงทีผ่านมา ส่วนหนึ่งก็เกิดจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทำให้นักธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบด้วย หลายคนจึงเริ่มเห็นความสำคัญของเรื่องนี้และเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง”

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำนั้น เขามองว่า หลักใหญ่ต้องแก้โครงสร้างอำนาจการบริหาร โดยปรับศูนย์กลางโครงสร้างอำนาจใหม่ ลดบทบาทอำนาจทุนและเพิ่มบทบาทประชาชนเข้าไปแทน ที่ผ่านมาโครงสร้างอำนาจส่วนใหญ่ยังรวมศูนย์อยู่ที่รัฐบาลเพียงอย่างเดียว โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนเข้าไปช่วยในการตัดสินใจมากนัก

ดร.สมชัย บอกว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศคล้ายกับในสหรัฐอเมริกาค่อนข้างมากซึ่งถ้าดูปัญหาในอเมริกาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าในบริษัทใหญ่ๆ เงินเดือนของผู้บริหาร (ซีอีโอ) มีเงินเดือน ที่สูงมากจนน่าตกใจ บางคนถึงขนาดมีเงินซื้อเครื่องบินส่วนตัวได้ ทั้งที่ไม่แน่ชัดว่า ความรู้ความสามารถของซีอีโอรายนั้นจะเท่ากับเงินเดือนที่เขาได้รับหรือไม่ อันนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งของระบบทุนนิยมที่บิดเบี้ยว

“กลับมาที่เรื่องการศึกษา เราควรเน้นไปที่การศึกษา ทำยังไงให้การศึกษามีความเท่าเทียมกันมากขึ้น เรื่องของการฝึกทักษะก็สำคัญ ตอนนี้มีทักษะหรือสกิลยุคใหม่ เรียกว่า ทักษะในศตวรรษที่ 21 เป็นสกิลที่ประเมินผลได้อย่างรวดเร็ว ประเทศไทยยังไม่มีสอนถ้าเป็นอย่างนี้คนที่สามารถเรียนสกิลดังกล่าวได้ ก็จะมีแต่คนรวยที่สามารถส่งลูกหลานไปร่ำเรียนในเมืองนอกได้ ดังนั้นปัญหาก็จะซ้ำรอยเดิม คือ เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำจากรุ่นพ่อที่โยงถึงรุ่นลูก”

นอกจากนี้ เขายังให้เห็นว่า การจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมลงได้ ควรนำระบบ “สวัสดิการ” ขั้นพื้นฐานมาใช้ เพราะระบบสวัสดิการเป็นการช่วยเหลือคนจนอย่างแท้จริง ไม่ได้เลือกช่วยเหลือตาม “อาชีพ” อย่างหลายโครงการประชานิยมที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

ระบบสวัสดิการเป็นการให้ตามสิทธิ คือ ทุกคนควรได้รับสิทธิที่ควรจะได้ อย่างบทความของอาจาร์ยป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่อง “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงสิทธิความเป็นมนุษย์ที่ควรได้ตั้งแต่เกิดไปจนกระทั่งตาย

“ประชานิยมไม่ใช่เรื่องไม่ดีทั้งหมด ข้อดีคือเป็นการรับรู้สิทธิเสียงของคนรากหญ้าว่าเขาต้องการอะไร และการเอาใจคนในระดับรากหญ้าไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพียงแต่มีข้อติติงบางเรื่อง คือ โครงการประชานิยมที่ทำออกมาในหลายๆ โครงการ มันไม่ยั่งยืน”

ทางด้าน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อาจารย์ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า ปัญหาความ “เหลื่อมล้ำ” ถือเป็นธรรมชาติของสังคม แต่ความเหลื่อมล้ำที่ทำให้ทุกคนต้องมานั่งพูดคุยเพื่อหาแนวทางลดปัญหาลง คือ ความเหลื่อมล่ำที่เกิดจากความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำที่เกิดจาก “ข้อกฏหมาย” และ “สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร”

“ผมเป็นคนต่างจังหวัดเกิดที่ปราจีนบุรี สมัยก่อนประเทศไทยมีประชากร 30 ล้านคน ในชีวิตผมที่อยู่ต่างจังหวัด ผมไม่เคยเห็นขอทาน ไม่เคยเห็นคนที่ยากไร้จนไม่มีที่ทำกิน ผมไม่เคยเห็นคนแก่ที่ถูกทอดทิ้ง คนไทยในอดีตอาจมีความเหลื่อมล้ำอยู่บ้าง แต่ไม่ได้มากมายเท่ากับปัจจุบัน”

เขาบอกว่า เท่าที่สังเกตุปัญหาความเหลื่อมล้ำในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ปัญหาเริ่มหลักขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยเร่งรัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นช่วงที่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมออกมา แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องดี แต่ในอีกด้านหนึ่งกลายเป็นการจำกัดสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรแก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสโดยไม่รู้ตัว เพราะมิการไปแก้กฏหมายในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องการครอบครองที่ดิน ซึ่งทำให้โอกาสของแต่ละคนเริ่มไม่เท่าเทียมกัน

ประเด็นที่สอง คือ เรื่องของ “สิทธิ” โดยในช่วงที่เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ช่วงนั้นมีกฏหมายมากมายไปจำกัดสิทธิของประชาชน เช่น เรื่องของที่ดินและป่าไม้ พอรัฐไปจำกัดสิทธิในที่ดินป่าผืนต่างๆ โดยใช้รูปแบบสัมปทาน กลายเป็นว่าผลประโยชน์จากที่ดินและป่าไม้เป็นแสนๆ ไร่ ตกอยู่กับบริษัทเพียงไม่กี่แห่ง ในขณะที่ผู้คนอีกจำนวนมากไม่มีโอกาสที่จะได้ใช้ประโยชน์จากส่วนนั้น ทั้งที่เขาบางคนเป้นคนในพื้นที่อยู่เดิม

“พอโครงสร้างอำนาจเป็นแบบนี้ สิทธิมันถูกจำกัด โอกาสก็ถูกจำกัดไปด้วย คนที่มีอำนาจหรืออยู่ในกระแสอำนาจจึงมีสิทธิและมีโอกาสมากกว่าสามารถหาผลประโญชน์ได้ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำจึงค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่มีรูปแบบนี้ออกมา”

นอกจากนี้ที่ผ่านมาสังคมไทยก็ไม่ได้ระมัดระวังปล่อยให้ว่างตรงนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ได้กระทบแค่เฉพาะปัญหาความยากจนอย่างเดียว กลายเป็นปัญหาสังคม ครอบครัวแตกแยก ความอบอุ่นในสังคมก็หายไป กลายเป็นสังคมที่มือใครยาวสาวได้ก็สาวเอา ปัญหาเหล่านี้มิให้เห็นตั้งแต่ตอนที่เราพยายามจะขึ้นเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย

“ช่วงที่เราพยายามจะเสรี แต่ไม่เสร็จจริง ทำให้ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น มากจนติดอันดับโลก ผมจึงมองว่า ความเหลื่อมล้ำเกิดจากโครงสร้างอำนาจที่เปลี่ยน และไปกระจุกที่อำนาจส่วนกลางมากเกินไป ในขณะที่อำนาจภาคประชาชนกลับน้อยลง เมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำ แล้วโอกาสที่จะต่อรองหรือแก้ไขมีน้อยลง ปัญหาจึงยิ่งเพิ่มขึ้น”

ดร.เพิ่มศักดิ์ บอกว่า ที่ผ่านมาภาคประชาชนมีความพยายามอย่างมากในการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำตรงนี้ โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการครอบครองที่ดินทำกิน แต่มาเจอปัญหาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่ดินทำกินของชาวบ้านหลายคนกลายเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีเอ) จึงถูกยึดและตกอยู่ในมือของกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม

ส่วนการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้นเขามองว่า ควรย้อนไปดูที่เรื่องของอำนาจ เพราะอำนาจมีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง อาจทำให้สังคมเกิดความเท่าเทียมกันหรือเหลื่อมล้ำกันมากขึ้นก็ได้ เพียงแต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาจะหนักไปด้านมืดมากกว่าเพราะประวัติศาสตร์โลกชัดเจนว่า หากอำนาจไปกระจุกตัสที่ใดที่หนึ่งมากเกินไปคนที่ครอบครองอำนาจมักจะเสพติด เนื่องจากผลประโยชน์จะวิ่งตามอำนาจเข้ามา สุดท้ายแม้จะเสียสูญทันที

นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย บอกว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่ได้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเลย ตรงกันข้ามปัญหากลับหนักขึ้นด้วย เพียงแต่เปลี่ยนรูปไปบ้างจากคนจนในชนบท กลายมาเป็นคนจนในเมือง

สาเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนพพรรณ มองว่า เกิดจากการที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงที่ดินทำกิน ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ และปัจจัยที่ทำให้คนในสังคมในสังคมชนบทไม่สามารถอยู่ได้

“หากที่ดินมันกระจายตัวและคนจนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เขาก็สามารถมีที่อยู่อาศัย แต่เวลานี้คนจนโดยเฉพาะในเมืองมีสถานะเป็นผู้บุกรุก ต้องสำคัญสำหรับคนยากคนจนมาก”

สำหรับการปฏิรูปนั้น สิ่งที่เธออยากเห็นมากสุด คือ การกระจายอำนาจ ซึ่งไม่อยากเห็นการรวมศูนย์ไว้ที่รัฐส่วนกลางเพียงอย่างเดียว อยากเห็นการกระจายลงสู่ท้องถิ่น สู่มือประชาชน ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีสิทธิในการจัดการชีวิตของตัวเองไม่ผูกอยู่แต่การตัดสินของภาครัฐ

นพพรรณ บอกว่า อำนาจการตัดสินใจด้วยตัวเองถือเป้นเรื่องสำคัญ เช่น โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ลงในพื้นที่ ก็ควรใช้ชาวบ้านในพื้นนั้นๆ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วยว่าต้องการหรือไม่ ซึ่งปัญหานี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยที่ผ่านมาจะเห็นว่า หลายโครงการภาครัฐที่มีปัญหาในหลายภูมิภาค เพราะขาดการมีส่วนร่วมตัดสินใจของชาวบ้านในพื้นที่

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29 สิงหาคม 2557