หนังสือใหม่: “รู้เท่าทัน AEC: ความเข้าใจผิดและความจริงว่าด้วย AEC”

ปี2014-08-08

คุณเป็นคนหนึ่งที่ยังคง ‘เข้าใจผิด’ อยู่หรือไม่

และ ‘ความจริง’ เป็นเช่นไร

ร่วมกันหาคำตอบได้ใน รู้เท่าทัน AEC: ความเข้าใจผิดและความจริงว่าด้วย AEC 

โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ที่ร้านหนังสือทั่วประเทศ หรือสั่งซื้อได้ที่นี่

——————————

รู้เท่าทัน AEC

ภูมิศาสตร์ทำให้เราเป็นเพื่อนบ้านกัน

วัฒนธรรมทำให้เรามีมรดกร่วม

เทคโนโลยีทำให้เราเชื่อมโยงกัน

แต่ประวัติศาสตร์ทำให้เราเป็นศัตรู

และสำนึกทำให้เราแยกจากกัน

ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี

 

อีกไม่ถึง 2 ปี ก็จะถึงเวลาที่คนไทยเชื่อกันว่า “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือ AEC จะเกิดขึ้น  ทั้งที่คนไทยตื่นตัวกันมากมายดังจะเห็นได้จากสื่อมวลชน รายงานเรื่อง AEC กันอย่างคึกคัก หนังสือพิมพ์หลายฉบับถึงขนาดเปิด “หน้า AEC”  ส่วนทีวีก็มี “รายการ AEC”  ขณะที่สถาบันการศึกษาก็ต่างพากันเปิดหลักสูตร “ต้อนรับการเข้าสู่ AEC” มากมาย

แต่ดูเหมือนความเข้าใจของคนไทยจำนวนมากต่อ AEC ก็ยังคลาดเคลื่อนอยู่ และสำนึกของเราก็ยังอยู่ห่างไกลกับคนอาเซียนชาติอื่น

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ผมทำงานอยู่ จึงได้จัดการประชุมวิชาการประจำปีที่เรียกกันว่า TDRI Year-End Conference เรื่อง AEC ขึ้นเมื่อปี 2555

หนังสือเล่มนี้เรียบเรียงจากงานที่ผมและเพื่อนร่วมงานที่ ทีดีอาร์ไอ ได้ศึกษาวิจัยและนำเสนอในงานประชุมวิชาการประจำปีดังกล่าว และต่อเติมด้วยงานวิจัยอื่นๆ อีกหลายชิ้น

หนังสือเล่มนี้จึงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากความรู้ของเพื่อนร่วมงานของผมหลายคน ซึ่งร่วมกันเขียนบทความต่างๆ ดังนี้

– “ประเทศไทยในกระแส AEC: มายาคติ ความเป็นจริง โอกาส และความท้าทาย” ซึ่งเขียนโดย ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู  คุณสุนทร ตันมันทอง คุณพลอย ธรรมาภิรานนท์ และผม

– “การค้าสินค้าและการอำนวยความสะดวกทางการค้า” ซึ่งเขียนโดย ดร. เชษฐา อินทรวิทักษ์ ดร. สุเมธ องกิตติกุล และคุณณัฐวุฒิ ลักษณาปัญญากุล

– “AEC กับการปฏิรูปสาขาบริการ” ซึ่งเขียนโดย ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และคุณวีรวัลย์ ไพบูลย์จิตต์อารี

– “ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและช่องว่างทางรายได้” ซึ่งเขียนโดย ดร. สมชัย จิตสุชน

– “การเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมภายใต้นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย” ซึ่งเขียนโดย ดร. เชษฐา อินทรวิทักษ์ คุณณัฐวุฒิ ลักษณาปัญญากุล คุณสุนทร ตันมันทอง และผม โดยเป็นการศึกษาให้แก่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

– “แนวทางการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน” ซึ่งเขียนโดย ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู  คุณวิโรจน์ สุขพิศาล คุณพลอย ธรรมาภิรานนท์ และผม โดยเป็นการศึกษาให้แก่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

ผมขอขอบคุณ  ดร. เสนาะ อูนากูล  ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และดร. วิศาล บุปผเวส ที่ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวิจัยและการเขียนบทความในช่วงต้น และขอขอบคุณ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และ ดร. ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ที่ให้แนวคิดและข้อมูลที่เป็นประโยชน์

ท้ายที่สุด ผมขอขอบคุณ คุณพีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ สำหรับการจัดทำเค้าโครงต้นฉบับและวาดภาพประกอบให้อย่างสวยงาม คุณกิตติพงศ์ สนธิสัมพันธ์ และคุณสุนทร ตันมันทอง ที่ช่วยจัดเตรียมต้นฉบับและปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู ที่ช่วยตรวจทานความถูกต้องของเนื้อหา  และขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งต่อ คุณอพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ จากสำนักพิมพ์มติชนที่ดูแลการจัดทำหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างดี

ผมหวังว่า หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้คนไทยมอง AEC ในมุมมองใหม่ รู้เท่าทันและได้ประโยชน์จากการเกิดขึ้นของการรวมกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียนที่เริ่มต้นขึ้นแล้ว

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์