ลุ้นอุตฯ ซอฟต์แวร์ไทย โตเฉียด 5 หมื่นล้าน

ปี2014-08-01

ทีดีอาร์ไอชี้ ศก.-การเมือง ฉุดตลาดรวมชะลอ แนะรวมกลุ่มเปิดตลาด ตปท.

“ทีดีอาร์ไอ” โชว์ผลสำรวจซอฟต์แวร์ไทยปี 2557 ชี้แนวโน้มเติบโต 8.6% มูลค่า 49,560 ล้านบาท ระบุเศรษฐกิจ-การเมืองผันผวนฉุดกำลังซื้อรัฐชะลอ ผู้ประกอบการเสียโอกาส แนะหันบุกเอกชน-ต่างประเทศชดเชย

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ประเทศไทยปี 2557 มีแนวโน้มเติบโต 8.6% มูลค่า 49,560 ล้านบาท นับว่าทิศทางยังเป็นบวกสวนทางจีดีพีประเทศซึ่งจะเติบโตเพียง 1.5% เนื่องจากการส่งออก การลงทุนชะลอ ขณะเดียวกันหนี้สินครัวเรือนเพิ่ม

ทั้งนี้ แบ่งตามประเภทการผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูปจะมีมูลค่า 11,698 ล้านบาท เติบโต 9.7% บริการซอฟต์แวร์ 37,862 ล้านบาท เติบโต 8.2%

โดยสรุป แนวโน้มซอฟต์แวร์ไทยยังเติบโตต่อเนื่อง แต่ชะลอลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาครัฐและรัฐวิสาหกิจจากปัญหาการใช้จ่าย งบประมาณการจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจรับงาน สืบเนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่มีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ปัจจุบันตลาดราชการมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของตลาดรวม

“ถ้าไม่มีปัจจัยลบตลาดซอฟต์แวร์ไทยน่าจะเติบโตได้เป็นตัวเลข 2 หลัก หรือ 14-15% เรื่องนี้แน่นอนว่าผู้ประกอบการเสียโอกาส แต่อีกมุมหนึ่งเป็นโอกาสในการปรับตัว พัฒนาศักยภาพเพื่อแข่งขันในอนาคต”

ส่วนปี 2558 หากไม่มีปัจจัยลบที่เป็นปัญหาใหญ่ๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แนวโน้มสถานการณ์น่าจะดีขึ้นตามลำดับ หรือเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก ประเด็นสำคัญที่ต้องแก้เพื่อสร้าง การเติบโตระยะยาว คือ สร้างความพร้อมบุคลากร ภาครัฐมีความโปร่งใสในการตรวจรับงาน

ขณะที่การประมูล 4จี ที่เลื่อนออกไป เมื่อพิจารณาคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเพียงให้กลับมาพิจารณาทบทวน ดังนั้นอาจเกิดขึ้นได้เร็วกว่า 1 ปี ผลกระทบประเมินแล้วคงไม่ใหญ่เท่าช่วงเปลี่ยนจาก 2จี ไปสู่ 3จี อีกทางหนึ่งการลงทุนขยาย 4จี คง ไม่มากเท่า 3จี เนื่องจากโอเปอร์เรเตอร์คงต้องเลือกลงทุนในพื้นที่ที่มีการใช้ดาต้าจำนวนมากๆ เช่น กรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่

“ด้วยเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี การเมือง ไม่แน่นอน ผู้ประกอบการควรปรับตัว หันมารวมกลุ่มเปิดตลาดไปต่างประเทศ เพิ่มน้ำหนักการทำตลาดเอกชน ด้านภาครัฐ เช่น ซิป้าควรมีส่วนสนับสนุนมากขึ้นและถูกทาง ขณะเดียวกัน ผลักดันให้เกิดการใช้ในภาคธุรกิจ จัดทำฐานข้อมูลสำหรับผู้ประกอบการ รวมถึงเสนอให้ คณะรัฐมนตรีประกาศให้หน่วยงานรัฐใช้ซอฟต์แวร์ประเภทโอเพ่นซอสมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ภาพรวมตลาดซอฟต์แวร์และบริการไทยปี 2556 เฉพาะที่ผลิตในไทยมีมูลค่า 45,652 ล้านบาท เติบโตจากปี 2555 ที่มีมูลค่า 41,545 ประมาณ 9.9% ตัวเลขดังกล่าวเป็นการใช้ในประเทศ 42,298 ล้านบาท ส่งออก 3,354 ล้านบาท แบ่งตามประเภทซอฟต์แวร์สำเร็จรูปมีมูลค่า 10,661 ล้านบาท เติบโต 5.9% บริการซอฟต์แวร์ 34,991 ล้านบาท เติบโต 11.2% กลุ่มธุรกิจที่มีการลงทุนด้านซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์สูงสุดยังคงเป็นภาคการเงิน

ส่วนตลาดซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวในปีเดียวกันดังกล่าว มีมูลค่าการผลิตสูงถึง 5,730 ล้านบาท เติบโต 34.4% รับอานิสงส์นโยบายรถคันแรกของรัฐบาลชุดก่อน โดยเฉพาะช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 ที่มีการส่งมอบรถยนต์จำนวนมาก ส่วนปี 2557 คาดว่าจะโต 12.3%

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 สิงหาคม 2557