กรุงเทพธุรกิจรายงาน: แนะปิดช่องนักการเมือง ‘ล้วงงบ’ ไร้วินัยการคลัง

ปี2014-08-07

วานนี้ (6 ส.ค.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ได้จัดการเสวนาทางวิชาการ “เศรษฐกิจการคลังไทย ความท้าทาย การปฏิรูปและความยั่งยืน” โดยเชิญนายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นายอัมมาร กล่าวว่า ช่องโหว่ในการกู้เงินนอกงบประมาณที่เป็นปลวกกัดกินงบประมาณและเป็นความท้าทายอย่างแรกที่ สศค. ต้องทำ คือการอุดช่องโหว่การกู้ยืมเงินผ่านธนาคารเฉพาะกิจให้ทำได้โดยยากมากขึ้น ในการเอื้อต่อคำสั่งผู้บริหารประเทศ และทำอย่างไรให้โครงการที่ขาดวินัยการคลังและความโปร่งใส ให้ผ่านรัฐสภาอย่างชัดเจน

เช่น โครงการรับจำนำข้าว 1.4 ล้านล้านบาท แต่ไม่มีบัญชีให้ตรวจสอบ ซึ่งที่ผ่านมาเม็ดเงินในการทำประชานิยมปูดขึ้นเรื่อย ๆ จากการใช้โอกาสใช้เงินนอกงบประมาณของรัฐ ผ่านกองทุนหมู่บ้านที่รัฐบาลสั่งให้ธนาคารออมสินจ่ายให้หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ทำให้ประเทศเป็นหนี้ในพริบตา 7.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้งกองทุนหมู่บ้านและจำนำข้าว ต่างไม่ผ่านการอนุมัติของรัฐสภา ดังนั้น คลังควรเอาชื่อเสียงตัวเองกลับมาว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นกระทรวงที่มีความเคร่งครัด

“วิธีก่อหนี้ยังเป็นช่องโหว่ใหญ่มาก และเป็นความท้าทาย ซึ่งเดิมหวังว่า สศค. จะเป็นผู้นำในการปิดช่องโหว่นี้ แต่ที่ผ่านมากลับเป็นผู้ชี้โพรงให้นักการเมืองใช้ช่องโหว่นี้ ถึงเวลาที่ต้องแก้กรรมเก่า โดยธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ที่ต้องถูกใช้เพื่อสังคม แต่ไม่กลับไม่มีวินัย”

การปฏิรูปกฎหมายภาษีของไทยแค่มาตราเดียว ยากกว่าการฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่ผ่านมา กฎหมายภาษีของไทยอยู่ยงคงกระพัน เพราะนักการเมืองไทยกลัวว่าการปฏิรูปภาษีจะกระทบกับคะแนนเสียง แม้จะมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ต้องคิดหนัก เพราะไม่ใช่เครื่องมือในการคืนความสุขให้ประชาชน โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ควรเป็นประเด็นหลักในการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น

นอกจากนี้ความท้าทายทางสังคมที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย ภาระในการดูแลคนแก่ ผ่านระบบประกันสุขภาพและกองทุนบำเหน็จบำนาญ ซึ่งถือเป็นเงินก้อนใหญ่ของระบบรัฐสวัสดิการ จึงต้อง ร่างกฎหมายให้ชัดเจน และต้องถือว่ารัฐบาลเป็นลูกหนี้ประชาชนที่ไม่สามารถเบี้ยวหนี้ได้เช่นเดียวกับผู้ถือพันธบัตรรัฐบาล

“เป็นเรื่องที่ขมขื่นมาก เพราะผมเองมีส่วนร่วมในการใช้หลักประกันสุขภาพ ที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลกลับทำให้ห่วยลง ทั้งที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่รัฐอ้างว่าไม่มีตังค์ แต่กลับไปใช้เงิน 5 แสนล้านหรือมากกว่านั้นไปกับโครงการจำนำ”

ขณะที่นายบัณฑูร กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาเอกชนไทยว่าง่ายกับภาครัฐ เพราะหากพูดไม่เข้าหูผู้มีอำนาจ ภัยจะมาถึงตัว ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมที่หากจะพูดตรง ๆ ก็เกรงใจ ส่วนตัวแล้วเป็นคนพูดตรงที่สุดคนนึง ในวันนี้ก็ยังต้องระวังตัว แต่ คำว่าปฏิรูปน่ากลัวกว่าเงินเฟ้อ เพราะเราใช้คำว่าปฏิรูปกันฟุ้งเฟ้อ หากจะไม่พูดถึง ก็ไม่ทันสมัย

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการพูดถึงการปฏิรูปมาเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่เห็นเปลี่ยนอะไรได้สักอย่าง ในชีวิตที่ผ่านมาเห็นการปฏิรูปแล้วสำเร็จเพียง 2 เรื่อง คือการปฏิรูปหลังเกิดวิกฤติปี 2540 เป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่เศรษฐกิจไทยมีการปฏิรูปแรง ๆ และอีกครั้งเป็นช่วงก่อนผมเกิดที่มีการปฏิรูปการปกครองในปี 2475 ที่เหลือก็พูดกันไปแล้วทำเหมือนเดิม และตอนนี้ที่พูดถึงการปฏิรูปทางการเมือง ก็อาจเป็นเรื่องราคาคุยเสียมากกว่า เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นถาวรได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเอกชนไทย ถูกบีบด้วยสภาพแวดล้อมทางการแข่งขัน จากแรงกดดันที่เกิดขึ้นทุกวัน มีการปรับตัวจนแข็งแกร่งพอและประคองตัวเองได้ โดยไม่ต้องมีใครมาหยิบยื่นอะไรให้ แต่สิ่งที่ ภาคเอกชนอยากได้ คือ สภาพแวดล้อมที่มีความสงบเรียบร้อยที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ และโครงสร้างต่างๆ ของภาครัฐ อาทิ ความชัดเจนทางด้านกฎหมาย ภาษี และโครงสร้างทางการศึกษาที่จะสามารถสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบ

ภายหลังการเข้ามาบริหารงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องยอมรับว่าน่าเห็นใจ เพราะที่ผ่านมามีคนวิ่งนำปัญหามาให้แก้ไข 108 อย่าง แต่ 1 วัน มีแค่ 24 ชั่วโมง และทุกคนมองว่าทุกปัญหาสำคัญ แต่ คสช. มีเวลาทำงานค่อนข้างจำกัด ดังนั้นจึงต้องเลือกโดยการจัดลำดับความสำคัญและทำเท่าที่ทำได้ เพราะ คสช. มีเวลาค่อนข้างจำกัด จึงไม่สามารถเปลี่ยนชีวิตทุกคนให้ดีได้ภายใน 1 ปี

“เมืองไทยประหลาด พอมีอำนาจล้นฟ้าไม่มีใครกล้าหือ ข้าราชการหัวหด เพราะโดนเชือดได้ ที่ทำมาทั้งชีวิตก็หายไปได้ใน 5 ปีสุดท้ายของการทำงาน สังคมไทยต้องรู้ว่าจะเลือกเชียร์ใคร ที่ผ่านมานโยบายการคลังไม่ค่อยมีวินัย แต่ยังโชคดีที่ ธปท. ไม่รั่ว เพราะวัฒนธรรมของคนที่สร้างมาแน่นมาก และไม่ใช่ข้าราชการโดยตรง แต่ที่น่าเกลียดที่สุดคือมีความพยายามของนักการเมือง เข้าไปเปิดเซฟของธปท. โดยอ้างความเจริญของประเทศ ที่จะต้องนำเงินสำรองระหว่างประเทศออกไปใช้ ซึ่งหาก ธปท. ไม่กันไว้ ก็จะเสียวินัยการเงินไปอีก”

ด้านนายสถิตย์ กล่าวว่า ความท้าทายของนโยบายการคลัง คือการมีสถานะทางการคลังพอที่จะช่องว่างคนจนคนรวย ที่ยังมีส่วนต่างอยู่ 12 เท่า ให้ลดมาเหลือ 6 เท่า โดยจะต้องมีรายได้หักรายจ่ายหรือพื้นที่การคลัง (fiscal space) ที่มากพอในการพัฒนาประเทศ โดยกรอบความยั่งยืน การคลังต้องมีพื้นที่การคลัง 25% ถึงจะเพียงพอในการพัฒนาประเทศและลดความเหลื่อมล้ำได้

ช่วงนี้เป็นโอกาสดีที่จะทำสิ่งที่อยากทำ โดยเฉพาะการผลักดันเครื่องมือทางการคลัง ทั้งในเรื่องของการจัดเก็บรายได้ ที่ควรเพิ่มการจัดเก็บให้สูงกว่า 17% ของจีดีพี โดย รายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลในขณะนี้มีสัดส่วน 21% จาก 5 บริษัทขนาดใหญ่ รวมไปถึงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยังมีจำนวนผู้เสียภาษีน้อยมาก เพราะยังมีคนที่ไม่มีเงินเดือนประจำ แต่มีฐานะและรายได้ดีกว่าผู้มีรายได้ประจำจำนวนมากที่ไม่เสียภาษี ทำอย่างไรที่จะเพิ่มจำนวนผู้เสียภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา

นอกจากนี้ที่ผ่านมารัฐบาลได้ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30 % เหลือ 20 % จึงควร ปรับลดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเฉพาะราย ที่เคยได้รับในการสนับสนุนการลงทุนให้สอดคล้องกับภาษีที่ลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นอีกภาษีที่ควรถูกผลักดันเพราะจะเป็นเครื่องมือสร้างความเป็นธรรม และเป็นการกระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองท้องถิ่นให้เป็นอิสระทางการคลังของตัวเอง และสามารถบริหารรายได้รายจ่ายในท้องถิ่นเอง

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 สิงหาคม 2557