ทีดีอาร์ไอแนะระบบภาษีติดลบ

ปี2014-08-29

“ทีดีอาร์ไอ” เสนอแนวทางลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ นำระบบอัตราภาษีติดลบมาใช้ ให้จ่ายเงินชดเชยให้ผู้มีรายได้น้อย ยึดจากเส้นความยากจนของ สศช.มั่นใจช่วยให้ระบบจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้นในระยะยาว

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าการปฏิรูปภาษีมี 2 วิธีคือ การปฏิรูปเพื่อหารายได้เพิ่ม กับการปฏิรูปเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งวิธีหลังนั้น การจะทำให้ได้ผลมากสุด ควรทำ “ระบบภาษีติดลบ” หรือ Negative Income Tax มาใช้

สำหรับระบบภาษีติดลบนั้น วัตถุประสงค์หลักคือ การจ่ายเงินออกไปสู่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นวิธีค่อนข้างง่าย เพราะสามารถใช้วิธี ให้คนที่มีรายได้น้อยแจ้งหรือยื่นแบบรายได้เท่าไร หากต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็จะได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐ

“ก็ทำเหมือนกับการยื่นภาษีปกติ แต่แทนที่เมื่อยื่นแล้วต้องเสียภาษี ก็จะได้เงินชดเชยมาแทน ซึ่งต่างประเทศเขาก็ทำกัน”

ข้อดีของการใช้ระบบภาษีติดลบ คือ สามารถดึงทุกคนให้เข้าสู่ระบบภาษีได้ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปคนที่เคยได้เงินชดเชยภาษีจากการมีรายได้ต่ำหากในอนาคตเขามีรายได้ขึ้นอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็จะทำให้ระบบการจัดเก็บภาษีของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดร.สมชัย กล่าวด้วยว่า การจะทำเรื่องนี้ต้องมีการแก้ไขกฏหมาย เพื่อบังคับให้ทุกคนที่มีรายได้ไม่ว่าจะมากหรือน้อยต้องยื่นแบบแสดงรายได้เข้ามาที่กรมสรรพากร และต่อให้ไม่มีรายได้เลยก็ควรต้องยื่นเข้ามา

สำหรับนิยามของคนที่จะได้รับเงินชดเชยจากการมีรายได้น้อย ก็อาจใช้นิยามเส้นความยากจนที่ทางสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทำการศึกษาออกมาก็ได้ กล่าวคือ สศช. ได้ศึกษาพบว่า คนที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละประมาณ 2,400 บาท ถือเป็น “คนจน”

ถ้าเราใช้เกณฑ์นี้ก็ใช้วิธีจ่ายเงินให้กับคนที่มีรายได้ต่ำกว่าตรงนี้ ซึ่งเท่าที่คำนวณดูคร่าวๆจะใช้เงินราว 2.3 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามหากต้องการให้ผู้ได้รับเงินชดเชยมีเงินเหลือเพียงพอที่จะนำเงินไปใช้สำหรับในด้านการศึกษาแก่ลูกหลานซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในอนาคตลงได้ ก็อาจจะต้องยอมจ่ายในระดับที่สูงขึ้นกว่าเส้นความยากจน วิธีการก็อาจใช้การกำหนดการจ่ายเงินชดเชยไปเลยก็ได้ว่า แต่ละปีจะจ่ายเงินชดเชยไม่เกินปีละเท่าไหร่ เช่น ไม่เกินปีละ 1-2 แสนล้านเป็นต้น

“ที่ผ่านมาเราเสียเงินไปให้กับคนที่ไม่สมควรได้รับเยอะมาก เพราะโครงการประชานิยมในหลายๆ โครงการผมคิดว่าหลายคนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่คนยากจน ดังนั้นการจัดระบบสวัสดิการควรต้องทำให้มั่นใจว่า คนที่ได้เป็นคนจน และต้องได้อย่างถ้วนหน้า”

สำหรับการหาเงินเพื่อมาจ่ายชดเชยระบบอัตราภาษีติดลบนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะแค่ปรับอัตราภาษีเพียง 2-3 ตัว ก็ทำให้ภาครัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงภาษีจากการซื้อขายหุ้น เป็นต้น


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29 สิงหาคม 2557