รายงานข่าวจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงรายงานโครงการเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ระยะที่ 4 ว่าเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาเพื่อเร่งหาโมเดลหรือแนวทางในการพัฒนาใหม่ให้ทันกระแสโลก เพื่อช่วยยกระดับให้หลุดพ้นจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งจำเป็นต้องสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยี รวมทั้งใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงในภูมิภาค สร้างความสมดุลระหว่างตลาดส่งออกระดับโลก ระดับภูมิภาค และกำลังซื้อในประเทศระยะยาว ขณะเดียวกันต้องเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน และปรับค่าตอบแทนของแรงงานให้เหมาะสม ควบคู่ไปกับการรักษาสภาพแวดล้อมด้วย
ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมของไทย ต้องกระตุ้นให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรมากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ต่าง ๆ ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรประชาสัมพันธ์เรื่องดังกล่าวให้ผู้ประกอบการรับทราบ โดยเน้นสาขาอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์ค่อนข้างต่ำก่อน
ขณะเดียวกันต้องเพิ่มประสิทธิภาพ และความชัดเจนของกระบวนการใช้สิทธิประโยชน์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ และกรมศุลกากรควรกำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานตามระยะเวลาพิจารณาข้อร้องเรียนจากผู้ประกอบการ และต้องพัฒนา ปรับปรุงคู่มือปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ พร้อมกับให้คำปรึกษาแบบจุดเดียวให้ผู้ประกอบการสามารถหาข้อมูล และวางแผนได้ นอกจากนี้ยังให้เจรจาต่อรองด้านภาษีศุลกากร รวมถึงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าและระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง ตลอดจนสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากโครงการความร่วมมือภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทยญี่ปุ่น (เจเทปป้า) และความตกลงยอมรับร่วมภายใต้เจเทปป้าและอาเซียนเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้สูงสุด
“ในเรื่องของลดผลกระทบจากมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีนั้น กระทรวงฯ ควรเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว พร้อมทำระบบแจ้งเตือนให้รับทราบความเคลื่อนไหว พร้อมทั้งมีระบบจัดการความรู้ให้เข้าใจง่ายขึ้น ก่อนนำเสนอข้อมูลของมาตรการดังกล่าว ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ เช่น การสรุปข้อมูลตามกลุ่มสินค้า ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงสาธารณสุข ควรศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรฐานกลางร่วมกันของอาเซียน โดยอนุญาตให้สินค้าหรือสถานประกอบการ ที่ผ่านการตรวจสอบรับรองแล้วไม่ต้องมาตรวจซ้ำอีก”
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 สิงหาคม 2557