นายอิสร์กุล อุณหเกตุ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ได้เสนอให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ ที่ผ่านการเห็นชอบจาก ครม. มาตั้งแต่ปี 55 แต่ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา โดยให้แก้ไขมาตรา 14 กำหนดให้ ครม.ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต ช่วยลดต้นทุนปัญหาการขออนุญาต ต่าง ๆ ของประชาชนที่ต้องมาติดต่อกับหน่วยงานหลายแห่ง ให้เป็นในลักษณะคล้ายกับศูนย์บริการออกใบอนุญาต ณ จุดเดียว
ทั้งนี้ การจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว ควรกำหนดระยะเวลาของการขอรับอนุญาตให้ชัดเจนคู่กับการส่งเสริมให้ประชาชนใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ขออนุญาตจากภาครัฐ รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เผยแพร่คู่มือสำหรับประชาชน และการยื่นคำขออนุญาตผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เพราะการกำหนดระยะเวลาจะช่วยปิดช่องทางการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ พร้อมให้เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งผู้ขออนุญาตทันทีหากรายการเอกสาร หรือหลักฐานไม่ถูกต้อง แต่ไม่ให้เรียกเอกสารเพิ่มเติมหรือปฏิเสธคำขอได้หากรายการเอกสารหรือหลักฐานถูกต้องแล้ว นอกจากนี้ยังกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางวินัย หรือต้องถูกดำเนินคดี หากตรวจสอบคำขอและรายการเอกสารหรือหลักฐานโดยประมาท หรือทุจริต
“แม้ว่าการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในภาครัฐ กฎหมายจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่หากควบคุมโดยใช้กฎหมายและกฎระเบียบมากเกินไป จะสร้างภาระต้นทุนแก่สังคม และส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หลาย ๆ กรณี กระบวนการพิจารณาอนุญาตทำให้เกิดความล่าช้ากับการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนในภาคธุรกิจ ขณะเดียวกัน ขั้นตอนพิจารณาอนุญาตเหล่านี้ยุ่งยากซับซ้อนและใช้เวลานาน จึงสร้างต้นทุนมากเกินความจำเป็น และให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการใช้ดุลพินิจมากจะนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นได้”
อย่างไรก็ตาม ยังเสนอให้ ก.พ.ร. ประเมินต้นทุนการพิจารณาอนุญาตแต่ละแบบที่ประชาชนต้องรับภาระ ทั้งต้นทุนที่เป็นตัวเงินและเวลา รวมถึงความถี่หรือปริมาณการขออนุญาตนั้น ๆ ก่อนเปิดเผยข้อมูลต้นทุนดังกล่าวให้ประชาชนโดยทั่วไปรับทราบ โดยอาจกำหนดให้ต้องรายงานผลเป็นประจำทุกปี
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 สิงหาคม 2557