tdri logo
tdri logo
29 สิงหาคม 2014
Read in Minutes

Views

อีคอนนิวส์รายงาน: ‘ปฏิรูปกิจการพลังงานไทย’ เชื่อใครดี?

ที่ผ่านมามีข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปริมาณก๊าซสำรองของประเทศที่แท้จริงแล้วมีมากน้อยเพียงใด ราคาน้ำมันและราคาก๊าซที่จำหน่ายสูงเกินควรหรือไม่ ระบบสัมปทานในการขุดเจาะและผลิตน้ำมันและก๊าซในอ่าวไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน สร้างรายได้ให้กับรัฐได้อย่างเพียงพอหรือไม่ ฯลฯ

ทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความสับสนว่าข้อมูลที่แท้จริงคืออะไร และเราควรที่จะปฏิรูประบบพลังงานอย่างไรเพื่อที่จะได้ประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รู้จักกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจพลังงานต่างชาติที่สังกัดบริษัทที่ปรึกษาในรายงานพิเศษประเทศฮ่องกง ซึ่งมีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาและการกำกับดูแลกิจการพลังงานให้แก่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกมานานกว่า ๒๐ ปี รวมทั้งมีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจพลังงานของประเทศไทยเป็นอย่างดี ในอดีต กลุ่มผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวเคยยื่นข้อเสนอสำหรับโครงการศึกษาการปรับปรุงโครงสร้างราคาก๊าซในประเทศไทยแก่กระทรวงพลังงานร่วมกับทีดีอาร์ไอ (แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก) ที่สำคัญคือ ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องใดๆ กับ ปตท. ทั้งทางตรงและทางอ้อม (ไม่ได้ถือหุ้นหรือรับเงินสนับสนุนการวิจัยจาก ปตท. หรือบริษัทลูก) จึงสามารถวิเคราะห์ปัญหาของธุรกิจพลังงานไทยได้อย่างตรงไปตรงมาตามหลักวิชาการและประสบการณ์ในเชิงปฏิบัติในต่างประเทศ

ดร.เดือนเด่นจึงได้นำเอาผลวิเคราะห์เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานไทยของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญข้างต้น มานำเสนอให้แก่สาธารณชน

มองคนละมุม

ดร.เดือนเด่นให้ข้อมูลสำคัญ ๔ ประการว่า ประการแรก การถกเถียงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของธุรกิจพลังงานระหว่างสองฝ่ายในหลายประเด็นอาจเกิดจากมุมมองที่ต่างกัน โดยกลุ่มหนึ่งให้ความสำคัญกับประเด็นด้านประสิทธิภาพ (eficiency) ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งให้ความสำคัญด้านความเป็นธรรมหรือความเท่าเทียมกัน (equity)

ฝ่ายที่มองธุรกิจพลังงานไทยจากมุมประสิทธิภาพจะเห็นว่าการอุดหนุนราคาก๊าซโดยการตรึงราคา ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวนมากจากการลักลอบขายก๊าซออกนอกประเทศ และทำให้คนไทยใช้ก๊าซ อย่างฟุ่มเฟือย นอกจากนี้แล้ว ราคาก๊าซที่ต่ำเกินจริงทำให้พลังงานทางเลือกเกิดขึ้นยาก เพราะต้นทุนสูงกว่าราคาก๊าซที่ขายในประเทศจึงมีข้อเสนอให้ยกเลิกการอุดหนุนราคาก๊าซ

สำหรับฝ่ายที่มองปัญหาจากมุมของความเท่าเทียมกันนั้น จะเห็นว่าการที่ ปตท. ผูกขาดและมีกำไรอย่างมหาศาล (เกือบ ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาทในปี ๒๕๕๖) ย่อมสะท้อนว่าผลประโยชน์ที่เกิดจากการนำทรัพยากรของประเทศไปใช้นั้นกระจุกตัวอยู่กับ ปตท. และบริษัทในเครือ มิได้กระจายไปสู่ประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรที่แท้จริง จึงไม่เป็นธรรม

ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงมีข้อสงสัยขึ้นมามากมายเกี่ยวกับการกำกับดูแล ปตท. ของภาครัฐ (กระทรวงพลังงาน และสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน) ว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของ ปตท. หรือบริษัทในเครือ หรือเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น เช่น การกำหนดราคาน้ำมันในประเทศที่อิงกับราคานำเข้าจากสิงคโปร์ การให้สิทธิในการใช้ก๊าซที่มีราคาต่ำจากอ่าวไทยแก่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี การกำหนดค่าผ่านท่อที่ให้ค่าตอบแทนแก่ ปตท. ถึงร้อยละ ๑๘ (สำหรับท่อเก่า) จนกระทั่งการกำหนดราคาก๊าซที่จำหน่ายให้แก่กลุ่มผู้ใช้ก๊าซต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภาคขนส่ง ครัวเรือน ที่แตกต่างกัน

ประการที่สอง การถกเถียงกันระหว่างสองฝ่ายที่ผ่านมาทำให้เราไม่มีโอกาสได้มองภาพใหญ่ ซึ่งคือการที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติในราคาที่สูงลิ่วมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันจะทำให้ราคาไฟฟ้าที่เราทุกคนต้องจ่ายสูงขึ้นในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เดิม ทีเราใช้ก๊าซในปริมาณ OA ทำให้ไม่ต้อง นำเข้าเพราะเราสามารผลิตก๊าซได้เองในปริมาณ OA ในราคา ๙-๑๐ เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู แต่ต่อมาการใช้เพิ่มขึ้นเป็น OB (ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่ก๊าซราคาถูกเกินควร) เราจึงต้องนำก๊าซจากต่างประเทศเข้ามาในราคาสูงคือประมาณ ๑๖-๑๗ เหรียญสหรัฐฯ ในปริมาณตามภาพ คำถามคือ เหตุใดเราจึงต้องนำเข้าก๊าซที่ราคาที่สูงมากดังกล่าวแทนที่จะเพิ่มการผลิตก๊าซในประเทศซึ่งน่าจะมีต้นทุนต่ำกว่าเพราะไม่มีค่าการขนส่ง เหตุผลก็คือราคาก๊าซที่จำหน่ายในประเทศต่ำเกินไปทำให้ไม่มีแรงจูงใจที่จะสำรวจแหล่งพลังงานและผลิตก๊าซ

ประการที่สาม หากเราปรับเพิ่มราคาก๊าซในประเทศให้สูงขึ้นแต่ยังคงต่ำกว่าราคาก๊าซที่นำเข้าเนื่องจากไม่มีค่าการขนส่ง เราจะสามารถเพิ่มการผลิตก๊าซในอ่าวไทยและช่วยลดปริมาณการนำเข้าก๊าซได้ ผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากการผลิตก๊าซเองแทนการนำเข้าคือสามเหลี่ยม CDE การเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซในอ่าวไทยจะทำให้ต้นทุนของก๊าซในประเทศไทยลดลงเพราะนำเข้าน้อยลง รวมทั้งยังก่อผลดีต่อการจ้างงานและสามารถสร้างรายได้ภายในประเทศอีกด้วย จึงเป็นทางเลือกที่ทุกฝ่ายน่าจะได้ประโยชน์ร่วมกัน

ประการที่สี่ การเพิ่มการผลิตก๊าซใน อ่าวไทยที่กล่าวมาทั้งหมด จะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อมีการแข่งขันในธุรกิจพลังงานไทย มิฉะนั้นแล้ว การขึ้นราคาก๊าซขายปลีกในประเทศโดยไม่มีการดำเนินการใดๆ ในการปรับโครงสร้างธุรกิจพลังงานที่ผูกขาดทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จะไม่ส่งผลให้มีการเพิ่มการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเท่าที่ควร เพราะหากการแข่งขันในการประมูลสัมปทานการขุดเจาะหาแหล่งพลังงานไม่เปิดกว้างต่อผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ผู้ประกอบการเจ้าเดิมๆ อาจไม่จำเป็นต้องขวนขวายในการลงทุนเพื่อแสวงหาแหล่งก๊าซใหม่ๆ เท่าใดนัก สู้ผลิตจากแหล่งเดิมๆ ที่มีความเสี่ยงน้อยและรับราคาขายที่สูงขึ้นอย่างสบายๆ ดีกว่า ดังนั้น การปรับราคาก๊าซในประเทศจะต้องดำเนิน การควบคู่ไปกับการปรับวิธีการประมูลสัมปทานที่โปร่งใส ปราศจากข้อครหาว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งเป็นพิเศษ

ดร.เดือนเด่นเสนอว่า ในการเปิดประมูลสัมปทานขุดเจาะก๊าซครั้งต่อไป ควรที่จะมีการประกาศสูตรการกำหนดราคาเนื้อก๊าซที่ปากหลุมและเงื่อนไขในการประมูลให้ผู้ที่จะเข้าประมูลทุกรายรวมทั้งสาธารณชนทราบเพื่อที่จะลดข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ระหว่างบริษัทแม่ที่เป็นผู้ซื้อกับบริษัทลูกที่เป็นผู้ขายก๊าซ หรือระหว่างรัฐกับบริษัทผู้รับสัมปทาน และเปิดให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนภายนอกเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการประมูลด้วยตามแนวทางที่องค์กรต่อต้านการคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทยได้เสนอไว้

พลังงาน เรื่องไม่เป็นธรรม

ผู้อำนวยการวิจัย TDRI ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง ‘ความเป็นธรรม’ ในการจัดสรรผลประโยชน์จากการนำทรัพยากรพลังงานของประเทศ ว่า ก๊าซธรรมชาติที่เราใช้ทุกวันนี้มี ๓ ส่วน คือ ก๊าซจากอ่าวไทยซึ่งมีต้นทุนต่ำสุด ก๊าซจากแหล่งก๊าซในพม่าซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าก๊าซจากอ่าวไทยประมาณร้อยละ ๔๐ และก๊าซธรรมชาตินำเข้าซึ่งมีต้นทุนสูงสุด คือประมาณเท่าตัวของก๊าซในอ่าวไทย

คำถามคือใครควรที่จะได้รับสิทธิในการใช้ก๊าซที่ผลิตในประเทศ (legacy gas) ที่มีราคาต่ำ และใครต้องใช้ก๊าซนำเข้าที่มีราคาสูงกว่า ซึ่งแต่ละประเทศมีนโยบายที่ต่างกันไป เช่น ในมาเลเซียมีนโยบายให้นำก๊าซที่ผลิตภายในประเทศไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อเป็นการกระจายผลประโยชน์ให้แก่ประชาชน

สำหรับประเทศไทยนั้น ก๊าซจากอ่าวไทยซึ่งเป็นก๊าซเปียก (wet gas) ส่วนมากเข้าไปสู่โรงแยกก๊าซของ ปตท. เพื่อผลิต LPG โดยผู้ที่ใช้ก๊าซ LPG มากที่สุดในปี ๒๕๕๖ คือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ร้อยละ ๓๕) ภาคครัวเรือน (ร้อยละ ๓๒) ภาคขนส่ง (ร้อยละ ๒๔) และภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่ปิโตรเคมี (ร้อยละ ๘) สำหรับภาคการผลิตไฟฟ้านั้นต้องใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งที่มีราคาสูงกว่า คือ แหล่งก๊าซในพม่าและก๊าซธรรมชาติที่นำเข้า จึงอาจกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นผู้ใช้ก๊าซในอ่าวไทยมากที่สุดในเชิงปริมาณ

ในด้านราคานั้น มีการกำหนดราคาที่ต่างกัน ในกรณีของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้น ได้รับสิทธิในการซื้อ LPG ในราคาที่อิงกับราคาเมล็ดพลาสติก (เพื่อให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก จึงปรับราคาวัตถุดิบตามราคาสินค้าที่ผลิตได้) ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ต้องจ่ายในราคาที่สูงกว่าเพราะเป็นราคาที่อิงกับน้ำมันเตา ทำให้ราคาที่กำหนดใกล้เคียงกับราคา LPG ในตลาดโลก

ในทางปฏิบัติ ไม่มีใครทราบว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซื้อก๊าซจากโรงแยกก๊าซในราคาเท่าใด เพราะราคาที่ ปตท. ขายให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมอื่นๆ นั้นเป็นความลับสุดยอด ซึ่งแม้คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาก็ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เพราะ ปตท. อ้างว่าเป็นสัญญาระหว่างธุรกิจ ทำให้มีข้อสงสัยมากมายว่าในการขายก๊าซนั้น ปตท. เลือกปฏิบัติระหว่างลูกค้าที่เป็นบริษัทลูกกับลูกค้าอื่นๆ หรือไม่ และราคาที่ขายนั้นเป็นราคาที่กำหนดไว้ในสูตรที่กระทรวงพลังงานชี้แจงไว้จริงหรือไม่

สำหรับภาคการขนส่งและครัวเรือนนั้น รัฐเป็นผู้กำหนด โดยเดิมทีนั้นภาคครัวเรือนจ่ายน้อยสุดในราคา ๑๘ บาทกว่า แต่ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้มีการปรับเพิ่มราคาก๊าซครัวเรือนครั้งละ ๕๐ สตางค์ต่อกิโลกรัมจนในปัจจุบันราคาสูงกว่าราคาที่ภาคขนส่งต้องจ่ายแล้ว

ดร. เดือนเด่น เห็นว่า การกำหนด ราคาก๊าซในประเทศไทยซึ่งมีหลายสูตร หลายราคา ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติระหว่างภาคอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน

“การอ้างว่าการที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ได้รับสิทธิในการใช้ก๊าซ LPG ในราคาที่ต่ำกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั่วไป เพราะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ LPG เป็นวัตถุดิบไม่ใช่ใช้เป็นเชื้อเพลิง จึงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ก๊าซมากกว่ากลุ่มผู้ใช้อื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก ไม่เคยเห็นการกำหนดราคาสินค้าตามมูลค่าเพิ่มของผู้ซื้อ ยกเว้นในกรณีที่มีการประมูลสินค้า เช่น ในการประมูลคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาตินั้น ผู้ที่เสนอราคาสูงสุดจะได้รับสิทธิในการนำคลื่นความถี่ไปใช้ในการพัฒนาโครงข่ายการสื่อสาร แต่กรณีนี้ เรากลับ บอกว่าผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรได้มากกว่าต้องจ่ายน้อยกว่า และก็น่าแปลกใจที่ผู้ที่เรียกร้องให้มีการปรับเพิ่มราคาก๊าซหุงต้มของภาคครัวเรือนให้เป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริงบางรายกลับลุกขึ้นมาปกป้องความชอบธรรมของการกำหนดราคาก๊าซที่ไม่เป็นไปตามต้นทุนสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีดังกล่าว”

นอกจากนี้ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับราคา LPG ที่แต่ละภาคส่วนต้องจ่ายที่ปรากฏในสื่อที่ผ่านมายังไม่ครบถ้วน เพราะไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ‘เงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมัน’ ที่ผู้ซื้อ LPG แต่ละกลุ่มจะต้องจ่ายเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการชดเชย ปตท. ในการนำเข้าก๊าซที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ ซึ่งผู้ใช้แต่ละกลุ่มเสียไม่เท่ากัน จากตารางจะเห็นว่าภาคครัวเรือนไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน ในขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและภาคขนส่งมีการจ่ายเพียงบาทและบาทกว่าๆ ตามลำดับ แต่อุตสาหกรรมอื่นๆ ต้องจ่ายสูงถึง ๑๒.๕ บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาก๊าซที่รวมเงินส่งกองทุนสูงถึง ๔๒.๖๓ บาทต่อกิโลกรัม

“จึงไม่แปลกใจที่อุตสาหกรรมเซรามิคไทยต้องล้มหายตายจากไป เพราะไม่สามารถรับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นอย่างมากได้ ในขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยยังอยู่ได้อย่างสบาย ความเป็นธรรมอยู่ที่ไหน”

ถึงเวลารื้อโครงสร้างราคา

ดร.เดือนเด่นเห็นว่า ได้เวลาแล้วที่ประเทศไทยควร ‘รื้อ’ โครงสร้างราคาก๊าซให้โปร่งใสและเป็นธรรม โดยประการแรก ควรมีการกำหนดราคาก๊าซเป็นราคาเดียวไม่ว่าผู้ซื้อจะเป็นภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีหรืออุตสาหกรรมอื่นใด ภาคการขนส่ง หรือภาคครัวเรือน คือ ราคานำเข้าก๊าซ LPG ประมาณ ๓๐ บาทต่อกิโลกรัม ซึ่ง เป็นราคาที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ยกเว้นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและภาคการขนส่งต้องแบกรับอยู่มาเป็นเวลานานแล้ว

การกำหนดราคาเดียวจะทำให้ไม่มีข้อกังขาว่ารัฐ ‘อุ้ม’ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ภาคขนส่ง หรือ ครัวเรือน หรือ ปตท. ‘อุ้ม’ บริษัทในเครือ นอกจากนี้แล้ว ราคาดังกล่าว ยังสามารถสะท้อนต้นทุนในการใช้พลังงานที่แท้จริง เนื่องจากในปัจจุบัน ประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซ LPG ในราคาดังกล่าวเพราะปริมาณการผลิตในประเทศไม่พอใช้

ประการที่สอง ยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากผู้ใช้ LPG เนื่องจากผู้ใช้ก๊าซทุกรายร่วมจ่ายเงินเข้ากองทุนจากส่วนต่างของราคาก๊าซที่ต้องซื้อซึ่งเป็นราคา นำเข้าที่สูงกว่าต้นทุนการผลิต LPG ในประเทศ ซึ่งมีราคาขายปลีกประมาณ ๒๐ กว่าบาท

ประการที่สาม นำรายได้ที่เกิดจากส่วนต่างระหว่างราคาก๊าซที่จำหน่ายกับต้นทุนเฉลี่ยของก๊าซทั้งระบบมาใช้ในการอุดหนุนเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยโดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณของประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามจะปรับการอุดหนุนแบบ ‘หว่านแห’ โดยการตรึงราคาก๊าซซึ่งทั้งคนรวยและคนจนได้ประโยชน์ ทำให้มีการสูญเสียเงินอุดหนุนมากเกินควร มาสู่ระบบใหม่ที่เน้นการอุดหนุนที่เจาะจงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยอิงกับระบบการอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าและน้ำประปา แต่ระบบใหม่ดังกล่าวยังมีปัญหายุ่งยากในการขึ้นทะเบียนโดยเฉพาะสำหรับแม้ค้าหาบเร่ ทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยบางรายไม่ได้รับเงินอุดหนุนตาม

นักวิชาการ TDRI ย้ำว่า แม้ประเด็นด้านประสิทธิภาพจะมีความสำคัญในการกำหนดกรอบทิศทางในการพัฒนาธุรกิจพลังงานไทย แต่ประเด็นด้าน ‘ความเป็นธรรม’ ก็มิได้มีความสำคัญที่น้อยไปกว่า แต่อย่างใด หากผู้กำหนดนโยบายละเลยประเด็นด้านความเป็นธรรมไปแล้ว นโยบายหรือมาตรการใดๆ ที่ต้องการที่จะผลักดันแม้จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวมก็มีโอกาสน้อยที่จะได้รับการยอมรับจากประชาชน

การที่รัฐจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นจากประชาชนได้นั้น จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณชนให้มากที่สุด เช่น ควรให้ ปตท. เปิดเผยสัญญาการซื้อขายก๊าซกับลูกค้าในภาคอุตสาหกรรม รายละเอียดเกี่ยวกับราคาเนื้อก๊าซที่ ปตท. รับซื้อจากผู้ผลิต ฯลฯ และควรให้ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการกำกับกิจการพลังงานที่เป็นคนนอกที่ไม่มีส่วนได้เสียกับกิจการพลังงานและเป็นที่ยอมรับของสังคม เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดโครงสร้างและกำกับราคาพลังงานด้วย มิฉะนั้นแล้วบรรยากาศที่อึมครึมเต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจก็จะทำให้แผน การปฏิรูปไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์อีคอนนิวส์ ฉบับที่ 564 เดือนมิถุนายน 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด