สยามประเทศไทย: อาเซียนต้องร่วมกันแก้ไขประวัติศาสตร์

ปี2014-08-06

สุจิตต์ วงษ์เทศ

รู้เท่าทัน AEC

“ประเทศไทยจะเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มในภูมิภาคอาเซียนมากที่สุด เนื่องจากเรามีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของการเชื่อมต่อในภูมิภาค พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรามี ‘ฮวงจุ้ย’ ที่ดีนั่นเอง”

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) บอกไว้ในหนังสือ รู้เท่าทัน AEC (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2557 เล่มละ 105 บาท)

สมเกียรติบอกอีกว่า การรวมกลุ่มในภูมิภาคอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการและประชาชนไทยมีสำนึกที่มีความเป็นสากลมากขึ้น โดยเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านอย่างถูกต้อง และปฏิบัติต่อเพื่อนบ้านบนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน

ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือต้องศึกษาประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้านในหลากหลายแง่มุม รวมทั้งในมุมของประเทศเพื่อนบ้าน

“เพื่อให้คนไทยหลุดพ้นจากอคติที่เห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านเป็นศัตรู หรือเห็นว่าไทยเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน”

ไทยมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาทั้งของดินแดนและผู้คน แยกไม่ได้จากประวัติศาสตร์อาเซียนในอุษาคเนย์

เพราะไทยเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน จึงมีบรรพชนร่วม และวัฒนธรรมร่วมกับอาเซียน

สมเกียรติ ยกข้อความของ ณรงค์ชัย อัครเศรณี มาเตือนไว้ด้วย ดังนี้

“ภูมิศาสตร์ทำให้เราเป็นเพื่อนบ้านกันวัฒนธรรมทำให้เรามีมรดกร่วมเทคโนโลยีทำให้เราเชื่อมโยงกันแต่ประวัติศาสตร์ทำให้เราเป็นศัตรูและสำนึกทำให้เราแยกจากกัน”

แต่ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยและชาติต่างๆ ในอาเซียน เป็นผลผลิตจากยุคอาณานิคมที่เจ้าอาณานิคมมีเจตนาให้อาเซียนเป็นอริปฏิปักษ์กัน จะได้ไม่แข็งข้อ

ถ้าทุกประเทศไม่ยอมแก้ไขดัดแปลงให้ตรงตามหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีที่มีจริง ก็ยากจะรวมกลุ่มอย่างมีสันติภาพ

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 6 สิงหาคม 2557