มติชนรายงาน: วิพากษ์ปฏิรูปเศรษฐกิจ-การเมือง ในอุ้งมือของ ‘คสช.’

ปี2014-08-07

หมายเหตุ – สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จัดสัมมนาวิชาการประจำปี โดยเชิญภาคเอกชนมาร่วมสัมมนาในหัวข้อ เศรษฐกิจการคลังไทย : ความท้าทาย การปฏิรูป และความยั่งยืน ซึ่งมี นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และนายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เข้าแสดงความเห็นด้วย เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม มีสาระสำคัญดังนี้

 

บัณฑูร ล่ำซำ

ความท้าทายมีมาทุกยุคทุกสมัย มีความท้าทายมาตลอด ซึ่งภาคเอกชนไทยเป็นประเภทว่าง่ายในแต่ละยุคแต่ละสมัย รัฐบาลว่าไงก็ว่าตามกัน เพราะถ้าไปพูดอะไรถึงรัฐบาลแล้วไม่เข้าหูผู้มีอำนาจ ภัยจะถึงตัว

ท่านว่าอย่างไร ผมก็ว่าอย่างนั้น เพราะการลุกขึ้นไปว่ารัฐไม่ดีคงเป็นไปไม่ได้ในเมืองไทย การไปวิพากษ์วิจารณ์อย่างนั้นคงจะไม่เจริญ ผมเป็นคนพูดตรงๆ ก็เกรงใจ ช่วงนี้คงต้องระวังตัว เพราะท่านดุๆ กันทั้งนั้น

ทั้งนี้ การปฏิรูปที่พยายามพูดถึงกันนั้นมองว่าการปฏิรูปที่แท้จริงเกิดขึ้นแค่ 2 ครั้ง คือเมื่อช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง และการปฏิรูปเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ที่วิกฤตเศรษฐกิจทำให้ต้องปฏิรูประบบการเงิน ทำให้เอกชนเข้าใจการบริหารความเสี่ยงด้านการเงินมากขึ้น และทำให้เอกชนอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้

ซึ่งก่อนเกิดวิกฤตเมื่อปี 2540 ไม่เคยพูดถึงเรื่องการบริหารความเสี่ยง จนกระทั่งธุรกิจล้ม เศรษฐกิจล้ม ทำให้เกิดจิตวิญญาณที่เปลี่ยน ถือเป็นเรื่องดีเพราะทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งขึ้น

ที่ผ่านมาการพูดถึงปฏิรูปการเมืองมองว่าเป็นแค่ราคาคุย เป็นแค่ความฟุ้งเฟ้อ เพราะเกิดผลเปลี่ยนแปลงยาก และยังไม่เห็นผลในการปฏิรูปจริงจัง เป็นแค่แฟชั่นที่พูดถึงกัน แต่สุดท้าย เหมือนเดิม ยกเว้นจะมีวิกฤตหนักเกิดขึ้นมาเหมือนเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เอกชนถูกบีบด้วยสภาพแวดล้อมในการแข่งขัน แต่ที่สามารถโตมาได้ก็ด้วยตัวเอง ซึ่งเอกชนต้องการสภาพแวดล้อมและโครงสร้างของภาครัฐที่เอื้อต่อการทำงาน และมีระบบภาษีที่ชัดเจน เพื่อให้เอกชนสามารถไปมุ่งมั่นในการให้บริการ และผลิตสินค้า

ซึ่งในส่วนภาคการเงินนั้นที่ผ่านมาสามารถ ฟื้นตัวได้จากชีวิตที่พังมาแล้วในปี 2540 เพราะได้เรียนรู้สิ่งที่ผ่านมา ทำให้เกิดความยับยั้งชั่งใจในการดำเนินธุรกิจ ไม่ไปปั่นตลาดจนให้เกิดปัญหา ทำให้ผ่านมาได้แม้จะเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่ทำให้สหรัฐอเมริกามีปัญหา แต่ไทยก็รอดมาได้ เพราะรู้จักการพอดีคงไม่มีใครบอกว่าความพอดีอยู่ตรงไหน จนกว่าจะไปถึงปากเหว

ทั้งนี้ อยากจะให้กำลังใจต่อผู้มีอำนาจ เพราะในช่วงนี้จะมีคนมาบอกว่าสิ่งนั้นก็สำคัญ สิ่งนี้ก็สำคัญ ซึ่งสำคัญไปทุกอย่าง ดังนั้น ผู้ที่ได้เข้ามา บริหารประเทศต้องจัดลำดับความสำคัญ และต้องตัดสินใจว่าอะไรที่สำคัญที่สุด และทำอย่างจริงจัง เพราะมีเวลาทำงานไม่มากแค่ 1 ปี ต้องทำใจว่าเมื่อทำอะไรออกมาคงไม่ถูกใจทุกคน

อยากฝากไว้ว่าผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองนั้นมีจนล้นฟ้า หากข้าราชการทำอะไรไม่ถูกใจโดนเชือด ทำให้ภาคราชการอยู่ในภาวะที่ล่อแหลม และหากมีการเลือกตั้งหลังจากนี้ ภาคราชการจะเป็นอย่างไร

สิ่งที่สำคัญในช่วงนี้คือการมีสังคม มีความสามารถในการยับยั้งตัวเอง โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ ที่พอมีอำนาจอาจทำอะไรที่ล้ำเส้นไปบ้าง มีคนพูดว่าในอีก 1-2 ปีจากนี้ไปเป็นนาทีทองในการ ดำเนินการต่างๆ ผมฟังแล้วจิตตกว่า ตายแล้วประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าหลังจาก 2 ปีนับจากนี้ไปคงหวังอะไรไม่ได้อีกแล้ว เพราะไปฝากไว้คณะใดคณะหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า แต่ระยะยาวคนไทยคือเจ้าของประเทศ และคนไทยต้องรู้จักการเลือกคนมาบริหารประเทศ

ปัญหาการเมืองในขณะนี้เป็นความท้าทายในรูปแบบหนึ่ง ที่กำลังเปลี่ยนแปลง ช่วงนี้ผู้ที่เข้ามาบริหารประเทศคงต้องดูว่าทำอย่างไรให้เกิด ผลดีที่สุดของประเทศ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตั้งคณะทำงานต่างๆ มาปฏิบัติหน้าที่ในด้านต่างๆ อาทิ บริหาร ออกกฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย ถือเป็นโจทย์โดยรวมที่ต้องการทำให้ประเทศไทยดีขึ้น

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศมีการจัดการ ยุติการทะเลาะกันบนถนนที่เคยเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเพราะมีการแบ่งแยกกันเป็นหลายคณะทำให้การทำงานบริหารประเทศต่อไปไม่ได้ ส่วนผลต่อเศรษฐกิจหากมีการลงทุนที่เร็ว นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวเมืองไทยเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจปีนี้โตได้มากกว่า 2% มากกว่า ที่ภาครัฐมองไว้

สำหรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่อยากเห็นคือ อยากเห็นนายกฯที่มาจัดการเรื่องต่างๆ ได้ดี พอสมควร ส่วนที่มีชื่อหัวหน้า คสช.จะมาเป็น นายกฯคนใหม่ ไม่อยากให้ความเห็นและไม่อยากเสนอชื่อว่าจะเป็นใคร

 

อัมมาร สยามวาลา

ประเทศไทยได้วางระบบการคลังและกระบวนการงบประมาณที่ดีและเข้มแข็งพอสมควร โดยมีรายได้หลักจากรายได้ภาษีอากร แต่ยังมีช่องโหว่เรื่องการใช้เงินนอกงบประมาณ ซึ่งอดีตจะกู้เงินนอกงบประมาณมาใช้ในกรณีที่รายจ่ายของรัฐสูงกว่ารายรับ ซึ่งช่องว่างดังกล่าวในปัจจุบันเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ที่จะถูกกัดกร่อนได้ในอนาคต

ในอดีตมีการกู้เงินนอกงบประมาณในวิกฤตการเงินปี 2540 แต่หลังจากนั้น การใช้เงินเพื่อประชานิยมปูดขึ้นมาเรื่อยๆ และมีเหตุผลในการ ใช้เงินน้อยลงทุกที เช่น การใช้เงินในโครงการกองทุนหมู่บ้านโดยรัฐบาลสั่งให้ธนาคารออมสินจ่ายเงินหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท โดยไม่ผ่านกระบวนการรัฐสภา ทำให้ประชาชนไทยมีหนี้เพิ่มขึ้นในชั่วพริบตาถึง 7.5 หมื่นล้านบาท

แม้เนื้อโครงการเหมาะสมและมีส่วนดีอยู่บ้าง แต่สุดท้ายหนี้สินจะถูกระบุในเงินงบประมาณ ปีละ 1 หมื่นล้านบาท โดยรัฐสภาไม่มีสิทธิคัดค้านเนื่องจากไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการจำนำข้าวที่อ้างว่าช่วยเหลือชาวนา แต่ชาวนามีทั้งคนรวยและคนยากจน อีกทั้งเป็นนโยบายทำลายการกระจายรายได้ในชุมชน และไม่มีการจัดทำบัญชี ซึ่งมีวีรสตรีคือ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นผู้ปิดบัญชีจำนำข้าวและเปิดเผยความจริง

ทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และกระทรวงการคลังที่ในอดีตขึ้นชื่อเรื่องความเข้มงวดในเรื่องกฎระเบียบ แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่า สศค.เป็นผู้ชี้โพรงให้นักการเมือง จากนี้ สศค.ควรปิดโพรงการ ใช้เงินนอกงบประมาณที่ไม่มีวินัย กู้ชื่อเสียงเดิมคืนให้ได้

ส่วนเรื่องกฎหมายที่จะปรับเปลี่ยนและปฏิรูปในอนาคตนั้น การจะเปลี่ยนกฎหมายทางแพ่งและพาณิชย์ของไทย 1 มาตรา ยากยิ่งกว่าการฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับภาษีที่มีความถาวรสูงมาก เพราะหากออกกฎหมายภาษีฉบับใหม่ต้องมั่นใจว่าจะใช้ได้อีก 10 ปี

การแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีไม่แปลกใจที่ออกมาแล้วไม่ไปไหน คุณเอ่ยคำว่าภาษีกับนักการเมือง เขาไม่อยากคิดเพราะไม่ได้ทำให้เขาได้คะแนนเสียง นี่เป็นสันดานของนักการเมือง ยิ่งการปฏิรูประบบภาษีที่มีคนได้คนเสีย แม้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งยังต้องคิดหนัก เพราะไม่ได้เป็นเครื่องมือสร้างความสุขให้ประชาชน

ผมเห็นด้วยกับการแก้กฎหมายที่ดินและทรัพย์สินสิ่งปลูกสร้าง แต่ต้องดูเรื่องที่ดินเรื่องการเกษตร

รัฐบาลมีความต้องการใช้เงินมากในอนาคตตามภารกิจที่มากขึ้น จึงควรให้ความสำคัญกับภาษีทรัพย์สินที่น่าจะหยิบมาเป็นประเด็นหลักในการ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยเฉพาะเรื่องภาษีที่ดินที่มีขั้นตอนการดำเนินงานหลายขั้นตอน

โดยขั้นตอนการประเมินราคาที่ดินควรให้สมาคมหรือส่วนกลางที่มีอิทธิพลทางการเมืองเป็นผู้คิด ส่วนขั้นตอนการประเมินราคาที่ดินควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ

ขณะที่ขั้นตอนการจัดเก็บส่วนกลางควรช่วยเหลือเพราะมีระบบรองรับเพียงพอ ซึ่งการ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งพารายได้ของตัวเองมากขึ้น ลดการอุดหนุนงบประมาณจากส่วนกลาง

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 7 สิงหาคม 2557