สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์
บทความในมติชน วันที่ 18 พฤษภาคม 2557 เรื่องฝึกแรงงานต่างด้าว ช่วยชาติ ช่วยคน โดยคุณชุติมา สิริทิพากุล ลงข่าวกรมพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกับกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ จัดโครงการสร้างทักษะแรงงาน/วิชาชีพ (ลาว กัมพูชา และพม่า) ในพื้นที่ติดกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้านโดยฝึกอบรมใน 3 หลักสูตร คือ 1.หลักสูตรเกี่ยวกับอุตสาหกรรม/ช่างต่างๆ เช่น ช่างซ่อมจักรยานยนต์ ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเย็บรองเท้า ช่างก่อสร้าง การเลี้ยงสุกรคุณภาพ นักกรีดยางมืออาชีพ ฯลฯ 2.หลักสูตรเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำงาน/กระบวนการสนับสนุนการทำงาน เช่น การทำงานเป็นทีม การสร้างพฤติกรรมความปลอดภัย เทคนิคการสอนงานและเป็นหัวหน้างาน ความปลอดภัยในงานอุตสาหกรรม 3.หลักสูตรเกี่ยวกับการท่องเที่ยว/โรงแรม/นวดแผนไทย เช่น พนักงานนำเที่ยวในท้องถิ่น พนักงานแผนกแม่บ้านโรงแรม พนักงานนวดแผนไทย ภาษาอังกฤษสำหรับพนักงานบริการ
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดกาญจนบุรีได้เปิดอบรมโครงการสร้างทักษะฝีมือแรงงานพม่าในหลักสูตรยกระดับฝีมือแรงงาน สาขาช่างซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศ โดยกลุ่มเป้าหมายนี้เป็นวิทยากรต้นแบบ ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงแรงงานพม่า ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรมพม่า เจ้าหน้าที่ฝึกอบรมของสถาบันอาชีวศึกษาของพม่า และผู้ประกอบการภาคเอกชน มีผู้เข้ารับการฝึกรวม 20 คน
ต่อมาได้เห็นเว็บไซต์ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (เข้าดู 23 กรกฎาคม 2557) เกี่ยวกับโครงการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพให้แก่ ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ บุคลากร และครูฝึก/แรงงานที่จังหวัดพระวิหาร ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยโครงการดังกล่าวสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 7 อุบลราชธานี ร่วมกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน ประกอบด้วยหลักสูตรสาขาช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ สาขาช่างซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร และสาขาพนักงานนวดแผนไทย
ผู้เขียนมองภาพที่เกิดขึ้นด้วยความยินดีในฐานะเป็นผู้สนใจในความเป็นอยู่ของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในเมืองไทย และค่อนข้างเห็นด้วยกับการฝึกอบรมดังกล่าวว่าน่าจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยและเป็นการช่วยคนคือแรงงานต่างด้าวด้วย
แต่ในฐานะนักวิจัย ผู้เขียนก็อดตั้งคำถามไม่ได้ เท่าที่พอนึกได้ เช่น ข้อแรก ควรหรือไม่ที่จะพัฒนาแรงงานต่างด้าว โดยใช้เงินภาษีของประชาชนคนไทยรวมทั้งเงินสมทบที่นายจ้างต้องส่งกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ข้อที่สอง การพัฒนาฝีมือแรงงานต่างด้าวจะขัดกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 หรือไม่ คือ พ.ร.บ.ดังกล่าวเปิดโอกาสหรือมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาแรงงานต่างด้าวหรือไม่ ข้อที่สาม การพัฒนาแรงงานต่างด้าวควรเป็นหน้าที่ของนายจ้างหรือของรัฐ ข้อที่สี่ การพัฒนาแรงงานต่างด้าวให้เป็นแรงงานฝีมือ จะสวนทางกับนโยบายและระเบียบของกระทรวงแรงงาน หรือมติครม.ที่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติทำงาน เพียง 2 งาน ได้แก่ 1) งานกรรมกรในกิจการต่างๆ และ 2) งานรับใช้ในบ้าน และข้อที่ห้า การฝึกแรงงานต่างด้าวจะทำให้เกิดการแย่งอาชีพคนไทยหรือไม่ โดยเฉพาะงานบางประเภท อย่างนวดแผนไทย หรือแผนโบราณ เป็นงานที่ผู้หญิงไทยจำนวนมากยึดเป็นอาชีพและมีจำนวนมากอยู่แล้ว
คำตอบ จากการค้นคว้าดูเร็วๆ แล้ว น่าจะพออธิบายได้ดังนี้
ข้อแรก การพัฒนาฝีมือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านนั้นถือเป็นภารกิจหนึ่งของกรมพัฒนาฝีมือตามกลยุทธ์การพัฒนาฝีมือแรงงานของกรม คือ (2.2) กลยุทธ์ส่งเสริมการพัฒนาสมรรถนะแรงงาน (Competency) ในภาคอุตสาหกรรมและแรงงานนอกระบบ ซึ่งในข้อ 2.2.3 คือโครงการเพิ่มศักยภาพการทำงานให้กับแรงงานนอกระบบและภาคเกษตร ซึ่งกลยุทธ์นี้อาจไม่ตรงนักแต่พอกล้อมแกล้มได้ และที่ตรงประเด็นกว่า คือ (3.2) กลยุทธ์เสริมสร้างการพัฒนาเครือข่ายนานาชาติซึ่งประกอบด้วย 5 โครงการ อาทิ โครงการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน และโครงการพัฒนาสถาบันนานาชาติเชียงแสนและกลุ่มงานนานาชาติสงขลาให้เป็นศูนย์อบรมในภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น คำถามในข้อแรกจึงอธิบายได้ว่ามีเหตุผลในการใช้เงินภาษีคนไทยในการปฏิบัติงานตามแผนอย่างถูกต้อง (อนึ่ง ผู้เขียนเข้าใจว่าการดำเนินการฝึกอบรมแรงงานต่างด้าวดังกล่าวไม่ได้ใช้เงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานซึ่งเน้นไปในทางให้กู้ยืมเพื่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน)
ข้อสอง ที่ว่าการพัฒนาฝีมือแรงงานต่างด้าวจะขัดกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 หรือไม่นั้น เมื่อไปเปิดดู พ.ร.บ.ดังกล่าวก็มิได้มีข้อห้ามฝึกแรงงานต่างด้าวแต่อย่างใด โดยมาตรา 5 ใน พ.ร.บ.นี้ “การพัฒนาฝีมือแรงงาน” หมายความว่า กระบวนการที่ทำให้ผู้รับการฝึกและประชากรวัยทำงานมีฝีมือ ความรู้ความสามารถ จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ และทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการทำงาน อันได้แก่ การฝึกอบรมฝีมือแรงงาน การกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงาน และการอื่นที่เกี่ยวข้อง และ “ผู้รับการฝึก” หมายความว่า ผู้ซึ่งเข้ารับการฝึกอบรมฝีมือแรงงานจากผู้ดำเนินการฝึก ไม่ได้มีการเจาะจงว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างด้าว
นอกจากนั้นแล้วตามเอกสารแนวปฏิบัติการจ่ายเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานประจำปี 2549- ระบุว่า : “จำนวนลูกจ้างที่นำมาคำนวณเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้รวมถึงแรงงานต่างด้าวตามคำนิยามของลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน” ก็แสดงว่าเรานับแรงงานต่างด้าวเป็นผู้ฝึกด้วย
ข้อสาม การพัฒนาแรงงานต่างด้าวควรเป็นหน้าที่ของนายจ้างหรือของรัฐ ความจริงข้อนี้คงจะตอบแบบกำปั้นทุบดินได้ว่าคงต้องทั้งรัฐและนายจ้างที่ให้การพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งโดยนัยยะของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 แล้ว ส่งเสริมให้นายจ้างพัฒนาฝีมือแรงงานของตนโดยให้สิ่งจูงใจต่างๆ รวมถึงการลดภาษี และการให้สิทธินำคนต่างด้าวซึ่งเป็นช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการเพื่อเป็นครูฝึกเข้ามาในราชอาณาจักรพร้อมคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะ ในขณะเดียวกันนายจ้างที่ไม่พัฒนาฝีมือแรงงานเองก็ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน (ไม่เกินร้อยละหนึ่งของค่าจ้าง)
ข้อสี่ การพัฒนาแรงงานต่างด้าวให้เป็นแรงงานฝีมือ จะสวนทางกับนโยบายและระเบียบของกระทรวงแรงงานตามมติ ครม.ที่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติทำ ซึ่งมี 2 งาน ได้แก่ 1) งานกรรมกรในกิจการต่างๆ และ 2) งานรับใช้ในบ้าน ในข้อนี้ต้องยอมรับความจริงว่า ในปัจจุบันแรงงานต่างด้าวไม่ได้ทำงานแค่เป็นกรรมกรหรือทำงานบ้านเท่านั้น แต่ยังทำงานที่เป็นอาชีพสงวนและงานใช้ทักษะฝีมือ ในโรงงาน ในภัตตาคาร การค้าส่ง ค้าปลีก ฯลฯ ดังนั้นเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาในระดับนโยบายต่อไปว่าจะอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวทำงานฝีมือได้เพียงใด และจะจำกัดศักยภาพของแรงงานต่างด้าวไว้เพียงใด
ข้อห้า งานบางประเภท โดยเฉพาะอย่างนวดแผนไทย หรือแผนโบราณ เป็นงานที่ผู้ไทยจำนวนมากยึดเป็นอาชีพ การฝึกแรงงานต่างด้าวจะเป็นการแย่งอาชีพคนไทยหรือไม่ เช่นเดียวกับข้อสี่ ต้องมีการทบทวนว่าจะมีการสงวนอาชีพใด อย่างไร ทั้งนี้จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงว่าตลาดแรงงานประเทศไทยขณะนี้มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับล่างและระดับกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการโรงแรม ซึ่งพบว่ามีความขาดแคลนแรงงานแม่บ้าน เบลล์บอล จำนวนมาก ดังนั้นแม้ว่าเราจะมีปัญหาคนล้นงานในแรงงานระดับสูง ก็เอาลงมาสนองความต้องการแรงงานระดับกลางได้ยาก
สรุปได้ว่า การพัฒนาฝีมือแรงงานต่างด้าว ควรทำ และควรปฏิรูประบบระเบียบการทำงานของคนต่างด้าวที่ล้าสมัยด้วย เพื่อให้การจ้างแรงงานต่างด้าวเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งระดับประเทศ และระดับบุคคล
ขอยืม หัวเรื่องของคุณชุติมา สิริทิพากุล มาส่งท้ายว่า
ฝึกแรงงานต่างด้าว ช่วยชาติ ช่วยคน
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 22 สิงหาคม 2557