ชลลดา อิงศรีสว่าง
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติรายชื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจชุดใหม่ออกมาเกินครึ่งของรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่มีมูลค่าสินทรัพย์สูง ทั้งบริษัท ปตท. บริษัท การบินไทย บริษัท ท่าอากาศยานไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย รวมไปถึงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) ที่ตั้งกรรมการใหม่ทั้งหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม มากกว่าครึ่งของคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจเป็นข้าราชการประจำ มีครบทั้งทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน เหมือนย้อนกลับไปในอดีตช่วงก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
มูลเหตุของการปรับเปลี่ยนบอร์ด มาจากนักการเมืองเห็นรัฐวิสาหกิจเป็นขุมทรัพย์ จึงใช้เป็นเครื่องมือทำโครงการประชานิยมเป็นแหล่งทุนทำโครงการต่างๆ ที่ไม่ต้องการใช้เงินงบแผ่นดิน สร้างความเสียหายให้กับรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง แต่ปฏิบัติการย้อนอดีตเพื่อล้างปัญหาการคอร์รัปชั่นนี้ในมุมมองของ นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เห็นว่าไม่ได้แก้ไขปัญหาตามเจตนารมณ์ของ คสช.
นิพนธ์ กล่าวว่า ช่วงรัฐบาลทักษิณมีการปรับเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจ นำเอาคนจากภาคเอกชนเข้าไปร่วม เพราะเห็นว่าการทำงานของราชการมีขั้นตอนมาก ทำให้งานล่าช้า ไร้ประสิทธิภาพ มีการคอร์รัปชั่น แต่การปรับบอร์ดก็เหมือนส่งเอกชนเข้าไปคอร์รัปชั่นแทน
“ผมว่าการเปลี่ยนแบบนี้ คือส่งข้าราชการไปแทนก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไร ข้าราชการมีหน้าที่หลักคือทำงานราชการ การไปนั่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจหลายแห่งจนเกินไปจะทำให้ทำงานหลักไม่ได้เต็มที่และอาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น ถูกส่งไปจากหน่วยงานที่อนุมัติงบประมาณ แต่เมื่อไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ มีการพาไปต่างประเทศบ่อยๆ ได้สิทธิประโยชน์ทั้งเบี้ยประชุมและอื่นๆยิ่งเป็นข้าราชการตำแหน่งสูงผลประโยชน์ก็ยิ่งมาก เกิดความสนิทสนมกับผู้บริหาร สุดท้ายเวลาขออนุมัติงบประมาณก็ง่าย” นิพนธ์ กล่าว
นิพนธ์ มองว่า คสช.เองก็ยังก้าวข้ามระบบอุปถัมภ์ไปไม่ได้ เห็นจากการตั้งบุคคลในบอร์ดรัฐวิสาหกิจครั้งนี้ก็รู้แล้วว่าไม่มีอะไรเปลี่ยน ยังคงวนเวียนตั้งคนที่รู้จักขึ้นมาเป็นบอร์ด ไม่เห็นว่าจะเกิดประสิทธิภาพมากขึ้นโปร่งใสมากขึ้น จะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างไร แต่เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นไปได้ว่าตั้งเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน เพราะจะหาคนที่มีความรู้ความสามารถมากมายมาทำงานในคราวเดียวคงยาก
“ผมหวังว่านี่จะเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจชั่วคราวจนกว่าคณะกรรมการนโยบายและกำกับรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์บอร์ด) จะสรุปกรอบและหลักการในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเสร็จ ซึ่งจะต้องมีการตั้งระบบการสรรหาและกระบวนการคัดเลือกกรรมการและผู้บริหารที่ชัดเจน ควรจะมีการแบ่งประเภทรัฐวิสาหกิจคุณสมบัติของกรรมการแต่ละประเภทรัฐวิสาหกิจที่แตกต่างกันไป ควรจะกำหนดและออกเป็นกฎหมายให้ชัดเจนเลย เพื่อไม่ให้ถูกแก้ไขให้ผิดเจตนารมณ์ในภายหลัง ไม่เช่นนั้นก็จะกลับไปเหมือนเดิมอีก”นิพนธ์ กล่าว
นิพนธ์ ยังขอฝากความหวังไว้ที่ซูเปอร์บอร์ดที่จะปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้ได้ผลเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังหลายคนเป็นคนรุ่นใหม่ที่ฝากความหวังไว้ได้ อย่าง ดร.ก้อ (วิรไท สันติประภพ) คุณบัณฑูร ล่ำซำแต่ละท่านล้วนเป็นผู้มีความสามารถ และหลังจากที่เกณฑ์ทั้งหลายถูกกำหนดเรียบร้อย คงจะไม่เห็นระบบอุปถัมภ์มากมายในรัฐวิสาหกิจเหมือนที่เกิดขึ้นในขณะนี้
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 1 สิงหาคม 2557