โพสต์ทูเดย์รายงาน: นับหนึ่งใหม่ประมูล 4จี สูญเสียหรือสร้างโอกาส

ปี2014-08-01

ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐโพสต์ทูเดย์

หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศ ฉบับที่ 94/2557 เรื่องการระงับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (พ.ร.บ.กสทช.) มีผลทำให้การประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่เดิมจะมีขึ้นในเดือน ส.ค.และ พ.ย. ต้องชะลอออกไปเป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งระหว่างนี้ คสช.ได้ให้ กสทช.ทบทวนบางมาตราของ พ.ร.บ.กสทช. โดยอาจยกเลิกมาตรา 45

สาระสำคัญคือเปลี่ยนข้อกำหนดจากเดิมที่กำหนดให้ต้องจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีการประมูลเพียงอย่างเดียว มาเป็นการจัดสรรคลื่นด้วยรูปแบบอื่นได้ด้วย

พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดสรรคลื่นด้วยการประมูลถือเป็นวิธีที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะการประมูลเปิดให้มีการแข่งขันด้านราคา ซึ่งแสดงถึงความต้องการใช้คลื่นที่แท้จริงมากกว่าการจัดสรรคลื่นแบบอื่นเช่น วิธีคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม (บิวตี้ คอนเทสต์) ที่มีความโปร่งใสน้อยกว่า เนื่องจากการประมูลคือการแข่งขันที่แท้จริงแต่การใช้วิธีบิวตี้ คอนเทสต์ ต้องประเมินจากองค์ประกอบหลายปัจจัย ซึ่งผู้ที่ได้รับเลือกนั้นอาจมีความเหมาะสมในช่วงเวลาหนึ่ง แต่อาจไม่ใช่ผู้ประกอบการรายที่ดีที่สุด

ขณะที่ เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริการจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การเลื่อนประมูลจะเป็นประโยชน์ถ้าออกประกาศที่เอื้ออุตสาหกรรมกว่าเดิม ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการเพียงแค่ 3 รายเดิม ดังนั้นหากต้องปรับแก้กฎหมาย ควรมุ่งเน้นไปที่การเอื้อให้มีผู้ประกอบการรายใหม่มากกว่าจะแก้รูปแบบการประมูล

ธีระ กนกกาญจนรัตน์ นักวิเคราะห์อาวุโสด้านไอซีที บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน กล่าวว่า แม้การเลื่อนประมูล 4จี ในครั้งนี้ จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจในไทยอาจช้ากว่าเดิม แต่ถือเป็นโอกาสดีที่ กสทช.เองจะได้เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ต่อสาธารณชนที่จะจัดสรรคลื่นให้โปร่งใสมากขึ้น ช่วยให้ กสทช.มีเวลาทบทวนขั้นตอนการดำเนินงานและนโยบายต่างๆ เช่นเดียวกับผู้ให้บริการเองที่จะมีเวลาการพัฒนาโครงข่ายและการให้บริการมากขึ้น

หากพิจารณาจากคำชี้แจงของ สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย ที่กล่าวว่า มาตรา 45 ของกฎหมาย กสทช. ที่ล็อกวิธีการจัดสรรคลื่นด้วยการประมูลเท่านั้น ถือเป็นข้อผิดพลาดตั้งแต่ชั้นยกร่างกฎหมาย เพราะการประมูลอาจส่งผลดีในระยะแรกที่ทำให้เกิดการแข่งขันและทำรายได้ให้กับรัฐ แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งจะพบว่าการประมูลมีจุดอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการประมูลจบลงที่ราคาสูง แต่ผู้ประกอบการไม่มีเงินลงทุนมากพอที่จะสร้างโครงข่ายเพื่อให้บริการ

สะท้อนว่า กสทช.ได้ปักธงเดินหน้าตามนโยบาย คสช.ในการเลิกประมูล 4จี

แม้ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. จะชี้แจงว่า การที่ คสช.สั่งชะลอประมูลคลื่นทั้ง 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ออกไปนั้น ไม่ได้หมายถึงว่าการประมูลทั้งสองคลื่นนี้จะไม่เกิดขึ้น แต่เพื่อให้กระบวนการในการแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งการประมูล 4จี จะเกิดขึ้นแน่นอนเดือน ก.ค. 2558

แต่มิได้เป็นหลักประกันให้กับประชาชนว่า 4จี จะมีการประมูลให้เอกชนนำไปให้บริการในระยะเวลาอันใกล้นี้แต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ประเทศเพื่อนบ้านที่พัฒนาน้อยกว่าเมืองไทย รูดปรื๊ดๆ กับระบบ 4จี กันหมดแล้ว

แม้เทคโนโลยี 4จี จะไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้ แต่การชะลอที่เกิดขึ้นควรเป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าเดิม

และต้องอาศัยผลลัพธ์ในการประมูลคลื่นความถี่3จี2.1 กิกะเฮิรตซ์ ที่จัดสรรคลื่นความถี่ให้พอดีกับผู้ประกอบการ 3 รายเดิม และ กสทช.รับสตางค์ไปมากโข แต่ประชาชนผู้ใช้บริการกลับไม่ได้รับบริการที่ดีขึ้น

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 1 สิงหาคม 2557