ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายชัดเจนที่จะเลิกโครงการประชานิยม เพราะเห็นว่าเป็นนโยบายที่ทำให้สังคมอ่อนแอ เปิดทางให้มีการคอร์รัปชั่น ประเทศไม่ได้รับประโยชน์เพราะประชาชนขาดการใส่ใจที่จะพัฒนาผลผลิต ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่ำ
การประกาศเลิกโครงการประชานิยมเป็นการประกาศที่ทำให้คนกลุ่มรากหญ้า ชักหน้าไม่ถึงหลัง กังวลใจว่าจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล
แต่กระทรวงการคลังได้นำเอาผลการศึกษาเรื่องการจ่ายเงินภาษีให้คนจน (Negative Income Tax: NIT) ขึ้นมาปัดฝุ่น และเตรียมเสนอให้ คสช.พิจารณาแทนนโยบายประชานิยม ซึ่งเป็นแผนที่จะใช้คู่ไปกับการขยายฐานผู้เสียภาษีเงินได้ เพราะหากต้องการได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ก็จะต้องมายื่นแบบเสียภาษีเงินได้เสียก่อน
กฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การช่วยเหลือคนจนด้วยมาตรการภาษี จะช่วยลดหรือเลิกโครงการประชานิยม ช่วยลดความยากจน แก้ปัญหาการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม เป็นมาตรการแรงจูงใจให้คนจนมีความขยันในการทำงานมากขึ้น และเป็นการดึงคนเข้ามาอยู่ในระบบภาษี ที่จะใช้เป็นฐานข้อมูลอื่นในการออกมาตรการช่วยคนมีรายได้น้อยต่อไป
เงื่อนไขที่ สศค. กำหนดไว้ จะทำให้ผู้มี
รายได้ 1 หมื่นบาท/ปี ได้โอนเงินภาษี 2,000 บาท
รายได้ 2 หมื่นบาท/ปีได้โอนเงินภาษี 4,000 บาท
รายได้ 3 หมื่นบาท/ปีได้โอนเงินภาษี 6,000 บาท
รายได้ 4 หมื่นบาท/ปีได้โอนเงินภาษี 4,800 บาท
รายได้ 5 หมื่นบาท/ปีได้โอนเงินภาษี 3,600 บาท
รายได้ 6 หมื่นบาท/ปีได้โอนเงินภาษี 2,400 บาท
รายได้ 7 หมื่นบาท/ปีได้โอนเงินภาษี 1,200 บาท
ส่วนรายได้ที่เกินกว่า 8 หมื่นบาท/ปีจะไม่ได้คืนเงินโอนภาษี
ทางด้าน สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการกระทรวงการคลังที่จะเสนอการโอนเงินภาษีช่วยคนจน ซึ่งมีข้อดีที่จะจูงใจให้ทุกคนเข้าสู่ระบบการจ่ายภาษี รวมทั้งช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยหรือคนจนได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ จะเป็นผลดีในระยะยาว คนที่มีรายได้น้อยก็จะอยู่ในระบบภาษี ไม่ต้องหลบเลี่ยง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
สมชัย กล่าวว่า การช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อยด้วยเงินโอนภาษีจะเป็นช่วยคนจนที่แท้จริงและถึงตัว เป็นการใช้เงินช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพและสามารถที่จะอิงกับฐานรายได้ที่แท้จริง และการใช้เงินงบประมาณเพียง5 หมื่นล้านบาท/ปีนั้นคิดว่าใช้เงินน้อยกว่าในโครงการประชานิยมต่างๆ ของรัฐบาล ที่เป็นการหว่านเงินลงไปโดยไม่ทราบว่าคนจนได้รับประโยชน์จริงหรือไม่ และไม่เป็นการทั่วถึงคนจนทุกกลุ่ม
“ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน เช่น โครงการรับจำนำข้าวซึ่งใช้เงินหลายแสนล้านบาท แต่เงินหรือผลประโยชน์ที่จะตกถึงชาวนาที่แท้จริงเล็กน้อยเท่านั้น และชาวนาก็ไม่ได้เป็นคนจนทุกคน” สมชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทีดีอาร์ไอขอให้การใช้นโยบายโอนเงินภาษีช่วยคนจนนี้ ต้องระวังเรื่องการจัดเก็บข้อมูลและการตรวจสอบข้อมูลรายได้ที่แท้จริง โดยเฉพาะคนที่จะรายงานว่าตัวเองมีรายได้น้อย เพื่อที่จะได้รับเงินชดเชยจากเงินโอนภาษี รวมทั้งหากใช้นโยบายนี้แล้ว รัฐบาลก็ควรที่จะยกเลิกโครงการประชานิยมต่างๆ ที่สิ้นเปลืองงบประมาณ
“ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ รัฐบาลก็มีการจ่ายเงินช่วยคนจนอย่างนี้ ไม่ผิดหลักวินัยทางงบประมาณ และหากจัดการอย่างดี ไม่เป็นภาระด้านการคลังอีกด้วย” สมชัย กล่าว
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 7 สิงหาคม 2557