เป็นปัญหาทุกครั้งเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนรัฐบาลสำหรับ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือกองทุน 30 บาทรักษาทุกโรค เนื่องจากเงินจำนวน 1.4 แสนล้านก้อนนี้ อยู่ภายใต้แนวคิดบริหารจัดการที่ต่างกันสุดขั้วระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
ครั้งนี้ สธ.ต้องการดึงงบประมาณขาลงมาลงเขตบริการสุขภาพของตัวเอง แต่ สปสช. ยังต้องการดึงเงินไว้ เลยเถิดไปจนถึงขั้น นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. ทำหนังสือไม่ให้เจ้าหน้าที่ไปร่วมประชุมด้วย ลากยาวไปจนให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงมาเป็นตัวกลาง
จนในที่สุดก็ได้กลไก “คณะกรรมการประสานสามกองทุนสุขภาพ” และให้ อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มาทำหน้าที่เป็นประธาน เพื่อประสานกับสำนักงานประกันสังคมและกรมบัญชีกลาง ที่ดูแลกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของ สปสช.
โพสต์ทูเดย์ สัมภาษณ์พิเศษอัมมาร ในวันที่เขาถูกดึงมาเกี่ยวข้องกับแวดวงสุขภาพอีกครั้ง หลังจากที่เคยถูกกันออกจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในช่วงที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี
“ผมไม่ทะเยอทะยานมากขนาดนั้น เพราะแต่ละกองทุนมีที่มาแตกต่างกัน แต่อย่างน้อยมันต้องมีมาตรฐานที่เหมือนกัน สิทธิประโยชน์ในการรักษาโรคไม่ควรต่างกันมากนัก และจะพยายามให้ทุกกองทุนร่วมกันเป็นผู้ซื้อ เพื่อต่อรองกับผู้ให้บริการมากขึ้น” อัมมารพูดถึงการรับตำแหน่งครั้งนี้
อัมมาร บอกว่า เมื่อทั้งสามกองทุนสุขภาพมีคณะกรรมการพิจารณาสิทธิประโยชน์ และพัฒนาระบบของตัวเอง คณะกรรมการของเขาจะไม่เข้าไปยุ่งอะไรมากนัก นอกจากจะประสานข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียว
“แนวคิดของเราก็คือ จะต้องให้ประโยชน์กับทั้งสามกองทุนโดยไม่ยื้อแย่งทรัพยากรจากกันและกัน ที่สำคัญที่สุดก็คือควรจะมีองค์กรที่ติดตามดูแลระบบถ้าเผื่อฝ่ายการเมืองเห็นด้วยว่าจะเข้ามาทำให้เป็นมาตรฐานเดียว ผมเชื่อว่าเรามีข้อมูล”อัมมาร ระบุ
ส่วนความขัดแย้งระหว่าง สธ. และ สปสช.นั้นอัมมารบอกว่าในฐานะประธานกรรมการประสานสามกองทุนฯ คงไม่มีอำนาจเข้าไปยุ่ง แต่ในฐานะคนที่ติดตามเรื่องนี้มานานพอสมควรเห็นว่า สธ.ในยุค ปลัดณรงค์ สหเมธาพัฒน์ต้องการรวบอำนาจ ไม่ต่างจากสธ.ในอดีตที่ผ่านมา เพื่อจะมาต่อรองกับสปสช.อย่างหนักแน่นขึ้นมากกว่า
“คุณอยากจะจัดการงบสามสิบบาทก็ได้ แต่ สธ.ควรจะลดความเป็นเถ้าแก่โรงพยาบาล 900 แห่งให้ได้ก่อน วิธีที่ง่ายที่สุดคือโอนให้องค์กรปกครองท้องถิ่นให้หมด แล้วเหลือบทบาทเพียงแค่งานกำกับดูแล เช่นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ” อัมมารกล่าว
นักวิชาการอาวุโสจากทีดีอาร์ไอยังแสดงความคิดเห็นอีกด้วยว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ลงทุนกับโครงการ 30 บาทน้อยเกินไป ทั้งที่ครั้งหนึ่งนโยบายนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พี่ชายยิ่งลักษณ์ อย่าง ทักษิณ ชินวัตรและตัวยิ่งลักษณ์เองได้รับคะแนนเสียง
“ลักษณะประชานิยมของตระกูลชินวัตร คือเขาทำทุกอย่างเพื่อจะได้คะแนนเสียงก็ไม่ว่าอะไร เป็นหน้าที่ของนักการเมือง แต่น่าเสียดายว่าพอเขาได้คะแนนเสียงแล้ว เขาไม่สนใจที่จะรักษาบริการนั้นไว้พอประชาชนมาใช้บริการได้ก็จบ บริการเหล่านั้นจะยากขึ้น ลำบากขึ้น คนให้บริการ-คนใช้บริการมีทุกข์มากขึ้น ก็ไม่สนใจ คือไม่พยายามที่จะดูแลรักษามาตรฐาน ทั้งที่มาตรฐานยังต่ำอยู่” อัมมาร กล่าว
อย่างไรก็ตาม เขายังเชื่อว่าขณะนี้โรงพยาบาลส่วนใหญ่ได้กำไร แต่ที่ขาดทุนเพราะว่า สธ.เองไปสัญญากับบุคลากรว่าจะเพิ่มเงินให้มากขึ้นทุกปี ทั้งที่รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
“ที่แย่กว่านั้นก็คือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ปล่อยปละละเลยมากในการเพิ่มงบประมาณ สปสช. คือถ้า สปสช.ไม่เพิ่มสิทธิประโยชน์พิเศษ ไม่เพิ่มต้นทุน มันก็ต้องเพิ่มขึ้นปีละ 2-4% อยู่แล้ว เพราะมีผู้ใช้บริการมากขึ้นแล้วเราบวกเรื่องเงินเฟ้อน้อยมากแค่ปีละ 1% ทั้งที่เงินเฟ้อในโรงพยาบาลเพิ่มมากกว่านั้น แต่ยิ่งลักษณ์ไม่เพิ่มเลย และสนใจที่จะไปทำอย่างโครงการป่วยฉุกเฉินที่เป็นประชานิยมแทน”
อัมมาร บอกอีกว่า ขณะนี้ สธ.พูดด้านเดียวคือทุกข์ของผู้ให้บริการ ไม่เคยพูดถึงทุกข์ของผู้รับบริการ ทั้งที่ขณะนี้โรงพยาบาลในหัวเมืองใหญ่ของ สธ. ยังประสบปัญหาเรื่องการกระจายทรัพยากรให้กระจุกตัวอยู่เฉพาะในตัวจังหวัดเท่านั้น
“แม้เรามีประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่โรงพยาบาลยังไม่ถูกกระจายออกไป ชาวบ้านที่จะใช้บริการก็มีทุกข์3 อย่างเช่นเดียวกันคือ 1.ต้องใช้เงิน 2.ต้องใช้เส้นและ 3.ต้องใช้เวลาในการเข้ารับบริการ ซึ่ง สธ.ควรจะลงทุนเพิ่ม แต่ในความจริง สธ.ก็ลงทุนน้อยมาก พอถึงเวลาจะลงทุน นักการเมืองก็เบนเงินลงทุนไปสร้างตึกโรงพยาบาลในจังหวัดตัวเองเพิ่ม ในหลายพื้นที่เราจึงได้เห็นคนเข้าไม่ถึงการรักษาเต็มไปหมด”
อัมมาร บอกว่า มรดกในระบบสาธารณสุขของไทยขณะนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากบรรพบุรุษของข้าราชการใน สธ.ที่เคยกระจาย และสร้างเครือข่ายในชนบทได้ดี แต่เมื่อเมืองโตขึ้น สธ.ก็ปล่อยปละละเลยสังคมเมือง ทำให้การให้บริการในเมืองกระจายค่อนข้างแย่ และคนในเมืองไปรวมอยู่ในโรงพยาบาลในเมืองใหญ่ ซึ่ง สปสช.ก็ต้องร่วมคิดด้วยเช่นเดียวกันว่า ในเมื่อจ่ายเงินซื้อบริการในเมืองแล้วยังให้บริการได้ไม่ดี ควรจัดการเพิ่มเติมอย่างไร
อีกหนึ่งในมาตรการที่ถูกเสนอเพื่อลดค่าใช้จ่ายในกองทุนประกันสุขภาพก็คือให้คนที่มีพฤติกรรมชอบสูบบุหรี่ กินเหล้า ควรต้องจ่ายค่ารักษาเอง เพราะถือว่ามีพฤติกรรมทำให้เกิดโรค
“ผมรู้สึกว่าคนที่เขาใช้เยอะๆ เขากำลังจะตายอยู่แล้วนะ คุณต้องไม่ลืมว่าคนที่เขามารักษาด้วยโรคพวกนี้ เขารู้สึกทุรนทุรายอยู่แล้ว แล้วจะไปฟาดเขาด้วยเงินค่ารักษา คนที่พูดเนี่ยใจถึงหรือเปล่า แล้วโรคมะเร็งปอดมันพิสูจน์ได้ไหมว่าเกิดจากบุหรี่ทุกกรณี คนไม่สูบบุหรี่เป็นก็มี เรื่องนี้เวลาพูดมันสะใจเหมือนข่มขืนแล้วต้องประหารชีวิต ถ้าประเทศนี้คุณทำนโยบายเพื่อความสะใจประเทศนี้ก็ไม่ใช่ประเทศศิวิไลซ์” นักวิชาการอาวุโสระบุ
ในรอบ 13 ปี งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจจาก 1,200 บาท/หัว ขณะนี้ขึ้นมาถึง 2,800 บาท/หัวซึ่ง สปสช.เสนอเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 บาทแล้ว หลังจากถูกแช่แข็งมา 2 ปี แต่ขณะนี้ดูเหมือนจะยังไม่สำเร็จ
ในมุมมองอัมมาร เมื่อนโยบายนี้เกิดขึ้นแล้วก็ต้องเป็น “รัฐสวัสดิการ” ที่รัฐบาลทุกชุดจะต้องรักษาให้ตลอดรอดฝั่งและการให้งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆนั้น ไม่ทำให้ประเทศล้มละลายแน่นอนเพราะเมื่อเทียบกับอัตราที่เศรษฐกิจขยายตัวในแต่ละปีก็สามารถเพิ่มส่วนมาให้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพได้ด้วย ซึ่ง 13 ปีที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าโครงการนี้ ทำให้คนเห็นแล้วว่าคนที่มีเงินไม่มากนักสามารถรักษาตัวในโรคร้ายแรงจนหายได้ โดยไม่ต้องถูกครอบงำจากค่ารักษาพยาบาลมูลค่ามหาศาลของโรงพยาบาลเอกชน
“เหมือนรัฐบาลบอกว่าจะมีนโยบายดูแลคนชราหรือมีนโยบายให้เรียนฟรี มันเป็นพันธะผูกพัน ที่จะต้องจัดให้มีบริการนั้นต่อไปเรื่อยๆในอนาคต มากกว่าจะบอกว่าเงินไม่พอ” นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ระบุ
อย่างไรก็ตาม อัมมารบอกว่า ข้อเสนอที่ถูกเสนอก่อนหน้านี้ ให้ผู้ป่วย “ร่วมจ่าย” นั้นอาจเป็นไปได้ ในกรณีที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า รัฐบาลไม่สามารถเพิ่มงบประมาณให้กองทุนได้จริง และไม่มีทางออกอื่นนอกจากการร่วมจ่าย สปสช. จึงต้องเสนอให้รัฐบาลในชุดนั้นๆ รับผิดชอบ
“หากเป็นเช่นนั้น ก็ต้องมีนโยบายเพื่อเก็บเล็กๆน้อยๆ ได้ ไม่ใช่ 30-50% อย่างที่มีคนเปรยขึ้นมาในการประชุม อะไรที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้เขาก็ต้องทำ แต่รัฐบาลชุดนั้นจะมีคนไม่พอใจจำนวนมากเพราะเป็นเรื่องใหญ่เนื่องจากรัฐบาลไม่ต้องถอนตัวจากคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะรักษาฟรี” อัมมาร ระบุ
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 11 สิงหาคม 2557