โพสต์ทูเดย์รายงาน: เสนอตั้ง ‘กระทรวงน้ำและที่ดิน’

ปี2014-08-20

สิทธิณี ห่วงนาค

แม้ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งทำแผนบริหารจัดการน้ำฉบับ คสช. เสนอต่อคณะกรรมการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการน้ำ ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เป็นประธาน 15 ต.ค.นี้ ก่อนจะเริ่มลงทุนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในการเสวนาเรื่อง”การออกแบบโครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อประโยชน์ของสังคมอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน” ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ เสนอว่า คสช.ไม่ควรเร่งรีบดำเนินการ เพราะอาจทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์

สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นักวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่าการทำงานด้านบริหารจัดการน้ำมีความซ้ำซ้อน ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและไม่เกิดประสิทธิผลสูงสุด แม้แต่ในช่วงที่ผ่านพ้นอุทกภัยปลายปี 2554 มา 2 ปี แต่ยังไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่มีระบบ ไม่มีการจัดวางผังเมืองอาคารสิ่งปลูกสร้างและถนน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ ทำให้ที่ผ่านมามีการพูดถึงการจัดตั้งทรัพยากรน้ำเพื่อรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำทั้งหมดมาไว้ในที่เดียวกัน แต่อาจยังไม่เพียงพอก็ได้เพราะการจัดการน้ำมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ที่ดินด้วย

“ภาครัฐควรผลักดันให้เกิดกฎหมายจัดการน้ำและการใช้ที่ดิน โดยตั้งเป็นกระทรวงหรือสำนักงาน หรือบอร์ดน้ำในลักษณะเป็นซูเปอร์บอร์ดด้านน้ำ เพื่อมาขับเคลื่อนภารกิจการจัดการน้ำและการใช้ที่ดินโดยมีอำนาจอนุมัติโครงการลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำการจัดวางผังเมือง และการกำหนดพื้นที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่กีดขวางทางน้ำ” สุจริต กล่าว

นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่าการที่ คสช.สั่งการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำให้แล้วเสร็จภายใน 15 ต.ค.นี้ แต่ทีดีอาร์ไอไม่เห็นด้วย เนื่องจากโครงการน้ำไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถหาข้อยุติ และสรุปเป็นแผนแม่บทออกมาได้ภายในระยะเวลาอันสั้น มิเช่นนั้นจะเป็นเหมือนกับรัฐบาลที่แล้ว ด้วยการเอาทุกโครงการมารวมกันเป็นขนมชั้น โครงการมากแต่ไม่มีประโยชน์ และในบางโครงการยังไม่มีผลการศึกษาอะไรออกมาทั้งด้านสิ่งแวดล้อมหรือความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ในขณะที่บางโครงการคนในพื้นที่ไม่ทราบมาก่อนก็ทำให้เกิดแรงต้านอย่างมาก

“คสช.ไม่ควรเร่งรัดโครงการ แต่ควรใช้สภาปฏิรูปหรือสมัชชาปฏิรูป เดินหน้าจัดเวทีเสวนารับฟังความเห็นของประชาชนในทุกลุ่มน้ำ โดยรัฐต้องจริงใจในการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนรู้ว่า ความจำเป็นที่จะต้องมีโครงการคืออะไร และผลดีผลเสียคืออะไร และหากไม่เอาโครงการดังกล่าวจะมีโครงการอะไรมาทดแทนได้หรือไม่ ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลจะทำให้ลดแรงต่อต้านเพราะประชาชนจะมีชุดข้อมูลตัดสินใจ” นิพนธ์ บอก

สำหรับการลงทุนระบบน้ำระยะเร่งด่วน หรือระยะ1 ปี นิพนธ์ ระบุว่า เสนอว่าเพื่อให้ได้แผนลงทุนจัดการน้ำที่ดีที่สุด และประชาชนเห็นด้วย จะต้องใช้สมัชชาปฏิรูปของ คสช.เปิดเวทีรับฟัง และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียได้ร่วมตัดสินใจในแต่ละโครงการตั้งแต่ต้น และเปิดเผยข้อมูลทั้งที่ตีค่าไม่ได้เป็นเงิน เช่น สัตว์สงวนหรือต้นไม้มีค่า และการเยียวยาที่พึงพอใจ

นอกจากนั้น ภาครัฐจะต้องเลิกคิดว่า ประชาชนในบางพื้นที่ต้องเสียสละเพื่อคนอีกพื้นที่หนึ่งเพราะจะทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยรัฐจะต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้รับการชดเชยและการดูแลที่เป็นธรรม เช่น มีระบบการประเมินราคาที่ดินใหม่ และจ่ายค่าชดเชยที่ดินในราคาตลาดพร้อมค่าเสียโอกาส ตลอดจนออกกฎหมายรองรับการบริหารจัดการน้ำตามแผนแม่บท หรือยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ เช่น จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ หรือวอเตอร์บอร์ด เพื่อดำเนินการโครงการน้ำตามแผนยุทธศาสตร์น้ำของประเทศนิพนธ์ ยังเห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีน้ำในอนาคตแต่ควรเปิดเวทีให้มีการหารือกันในเรื่องนี้โดยภาษีที่เก็บได้จะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการลงทุนพัฒนาโครงการหรือช่วยเหลือประชาชนในบางพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการหรือโครงการใดที่จะเป็นการป้องกันเขตเศรษฐกิจ หรือพื้นที่ กทม.และปริมณฑลแต่ไม่ควรสูงเกินไปจนกระทบต่อราคาสินค้า

ด้าน เสรี ศุภราทิตย์ นักวิชาการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า คสช.ต้องใช้โอกาสที่มี 1 ปี ศึกษาความเหมาะสมของโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งหมด และวางเป็นแผนยุทธศาสตร์ประเทศ และในอนาคตไทยจำเป็นที่จะต้องพิจารณาเรื่องการนำเข้าน้ำหรือการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำเช่น แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำโขง เนื่องจากความต้องการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อประเทศต้นน้ำเริ่มมีการทำเขื่อนขวางลำน้ำทำให้เกิดความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำมากขึ้น ในภาวะอากาศที่แปรปรวน

“ไม่อยากให้ คสช.ไปเร่งทำแผนแม่บทน้ำ คสช.ควรเอาสิ่งที่เกิดขึ้นในโครงการ 3.5 แสนล้านบาท มาเป็นบทเรียน คือ ก่อนที่จะวางโครงการรัฐต้องมีการศึกษาความเหมาะสมเชิงลึกของโครงการในแต่ละลุ่มน้ำว่ามีศักยภาพมากน้อยเพียงใด และในบางลุ่มน้ำจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีทุกโครงการที่กรมชลประทานได้ศึกษาไว้ และต้องพิจารณาด้วยว่าในแต่ละลุ่มน้ำจะให้น้ำหนักในการพัฒนาเพื่ออะไรบางลุ่มน้ำอาจพัฒนาเพื่อระบบอุตสาหกรรมและบางลุ่มน้ำเพื่อการเกษตรเป็นหลัก ถ้ารู้ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้การวางหรือตัดสินใจเกิดประโยชน์มากขึ้น” เสรี กล่าว

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 20 สิงหาคม 2557