ชะลอลงทุน ฉุดซอฟต์แวร์ไทยโต 8.6%

ปี2014-08-14

 ‘TDRI’ แนะรายเล็กจับคู่เสริมแกร่งหาลูกค้าใหม่

“ทีดีอาร์ไอ” คาดมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ในไทยปีนี้โตแค่ 8.6% เหตุกำลังซื้อภาครัฐหด แนะบริษัทซอฟต์แวร์รายย่อยเร่งปรับตัว แนะหาพาร์ตเนอร์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน-ขยายตลาด ต่างประเทศ

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สภาพตลาดซอฟต์แวร์ ปีนี้อยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจาก 1 ใน 3 ของมูลค่าการซื้อซอฟต์แวร์ไทยภายในประเทศมาจากภาครัฐ ขณะที่ยังมีการชะลอตัว จากสถานการณ์การเมืองทั้งการปิด สถานที่ราชการช่วงต้นปี และการรัฐประหารช่วงกลางปี ส่งผลกระทบต่อเนื่องจากการโยกย้ายผู้บริหารระดับสูง ทำให้การจัดซื้อหรือส่งมอบโครงการต่าง ๆ ล่าช้าออกไป ส่วนมูลค่าอีก 2 ใน 3 จากภาคเอกชนไม่กล้า ลงทุน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ ฟื้นตัวเต็มที่

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้บริษัทซอฟต์แวร์ขนาดเล็กอยู่ยากขึ้น เพราะโครงการขนาดเล็กที่เคยเข้าไปรับงานชะลอหรือตรวจสอบเข้มงวดขึ้น และไม่สามารถขยับไปรับโครงการภาคเอกชนได้จาก ข้อจำกัดด้านกำลังคน และประสิทธิภาพในการออกแบบซอฟต์แวร์ที่แข่งขัน ไม่ได้กับบริษัทรับติดตั้งระบบไอทีขนาดใหญ่ จึงอาจเห็นซอฟต์แวร์เฮาส์ขนาดเล็กปิดตัวหรือหันไปรับงานด้านอื่น

“ถ้ารายเล็กไม่ปรับโอกาสอยู่รอดก็ยาก ทางรอดคือเข้าไปหาคู่แข่งหรือเพื่อนที่ทำโซลูชั่นต่างกัน เช่น รายหนึ่งทำระบบบัญชี อีกรายทำระบบบริหารหน้าร้านจับมือกันไปเสนองาน”

และควรมุ่งพัฒนาด้านโมบายแอป พลิเคชั่นที่กำลังได้รับความนิยม รวมถึงหาลูกค้าเอสเอ็มอี เพราะถึงกำลังซื้อไม่มากแต่ต้องการงานเฉพาะทาง ถ้าตอบโจทย์แต่ละธุรกิจได้ก็มีโอกาสอยู่รอด

จำนวนผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในไทยปี 2556 มี 1,705 ราย แบ่งเป็นบริษัทที่ทำรายได้ต่อปีน้อยกว่า 10 ล้านบาท จำนวน 1,102 ราย, 10-50 ล้านบาท มี 400 ราย, 50-100 ล้านบาท มี 106 ราย, 100-500 ล้านบาท มี 62 ราย และสูงกว่า 500 ล้านบาท มี 35 ราย ทั้งหมดทำรายได้รวมกันต่อปี 89,514 ล้านบาท เมื่อเทียบผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ปี 2555 เพิ่มขึ้น 985 ราย

สำหรับภาพรวมตลาดการผลิตซอฟต์แวร์ และการบริการซอฟต์แวร์ปี 2557 คาดว่ามีมูลค่า 49,560 ล้านบาท เพิ่ม 8.6% เป็นการเพิ่มในอัตราที่ชะลอจากปี 2556 โต 10%

“ถ้าไม่มีปัจจัยลบจากการเมืองรวมถึงการชะลอการลงทุน ตลาดซอฟต์แวร์ปีนี้ควรโต 14-15% แต่เชื่อว่าปี 2558 จะโตมากกว่า 10%”

ขณะที่มูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์และการบริการซอฟต์แวร์ปี 2556 อยู่ที่ 45,652 ล้านบาท จากการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ 42,298 ล้านบาท เพื่อส่งออกอีก 3,354 ล้านบาท ส่วนการบริโภคมีมูลค่ากว่า 7.2 หมื่นล้านบาท โดยกว่า 3 หมื่นล้านบาทนำเข้าจากต่างประเทศ อีก 4.2 หมื่นล้านบาทเป็นการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ โดยปีที่แล้วตลาดซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว (Embedded Software) มีมูลค่าถึง 5,730 ล้านบาท โต 34.3% จากนโยบายรถคันแรก และ ปีนี้คาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือ 12.3% หรือมีมูลค่า 6,400 ล้านบาท

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 11-13 สิงหาคม 2557