tdri logo
tdri logo
18 สิงหาคม 2014
Read in Minutes

Views

มายาคติ AEC

ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

หนังสือเล่มบางอ่านง่าย แต่ได้ข้อมูลความเข้าใจเกี่ยวกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แบบขั้นพื้นฐาน แม้เป็นพื้นฐาน กลับพบว่าเนื้อหาได้ตอบถึงมายาคติที่คนไทยและสื่อมักจะเข้าใจเรื่องเออีซีกันไม่ถูกต้องนัก

หนังสือ “รู้เท่าทัน AEC” เขียนโดย อ.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และคณะเพื่อนร่วมงานวิจัยทีดีอาร์ไอ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งเป็นการเรียบเรียงจากงานวิจัยในการสัมมนาวิชาการหัวข้อ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน : มายาคติ ความเป็นจริง โอกาส และความท้าทาย”

อ่านไปก็พบว่าเรามีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ต่อการรวมกลุ่มเออีซีตั้งแต่เรื่องปลีกย่อยจนถึงเรื่องระดับเชิงนโยบาย และความเข้าใจเชิงภูมิภาค อีกทั้ง อ.สมเกียรติใช้ประโยคที่ว่า “สำนึกของเรา (คนไทย) ยังอยู่ห่างไกลกับคนอาเซียนชาติอื่น”

คนไทยไปจนถึงสื่อสารมวลชนมีมายาคติในเรื่องเออีซีคลาดเคลื่อนในจุดต่าง ๆ เอาแค่ผู้ต้องให้ข้อมูลอย่างสื่อมีความเข้าใจว่า เออีซีจะทำให้พรมแดนระหว่างประเทศสูญหายไป และมีการเคลื่อนย้ายเสรีของสินค้า เงินทุน และผู้คน

แต่ในหนังสือเล่มนี้จะทลายมายาคติเหล่านี้ และพูดถึงความเป็นไปได้จริง ๆ ว่าทำไมนักวิจัยของทีดีอาร์ไอจึงเชื่อว่า เมื่อเปิดเออีซีแล้วในห้วงหลังจากนั้นระยะหนึ่งจะยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือกับประเทศไทยแบบที่มักเข้าใจกัน

เช่น การเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรีต้องมีความเข้าใจพื้นฐานก่อนว่าเกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ใช่ว่าจะมาเกิดในปี 2558 โดยต้องทำความเข้าใจข้างเคียงเกี่ยวกับการลดภาษีศุลกากรภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งอาเซียนเองมีการลดอัตราภาษีระหว่างกันอยู่แล้ว ดังนั้นพอเปิดเออีซี ในส่วนของภาษีศุลกากรจะยังไม่ถึงกับการเปลี่ยนแปลงในทางลบในทันที หรือส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยกันในปี 2558

จากเรื่องภาษี เรายังมักได้ยินมายาคติเรื่องการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานในกรอบเออีซี ที่พูดไปจนถึงว่าคนไทยจะตกงาน หรือจะมีคนชาติอื่นในอาเซียนเข้ามาแบ่งเค้กแย่งงาน หรือคิดว่าบางกลุ่มอาชีพจะมีโอกาสดีมากหลังเปิดเออีซี

โดยเรื่องนี้แม้จะคุ้นกันดีว่ามีข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมใน 8 วิชาชีพที่เกี่ยวข้องในกรอบ เคลื่อนย้ายแรงงานเสรี แต่ปรากฏว่ามีความคืบหน้าน้อยมาก และต้องเข้าใจยิ่งขึ้นไปอีกว่า การเปิด เสรีเคลื่อนย้ายแรงงานเจาะจงเฉพาะกลุ่มแรงงาน “วิชาชีพที่มีทักษะ”

แม้จะมีการเจรจากันเพื่อให้เคลื่อนย้ายสะดวกขึ้น แต่มีเงื่อนไขหนึ่งคือ ต้องเป็นไปตามกฎหมายของประเทศเจ้าบ้านอยู่เช่นเดิม มาดูรายละเอียด ของประเทศก็พบว่ามีหลักเกณฑ์ที่ไม่ใช่ว่าแรงงาน มีทักษะต่างชาติจะเข้ามาทำงานกันได้ง่ายดาย เพราะยังมีรายละเอียดในการกรองบุคลากรแรงงานมีทักษะเหล่านี้ในกลุ่มเออีซี ดังนั้นความเชื่อที่ว่าจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีกระทั่งแย่งงานคนไทย ผู้วิจัยจึงเห็นว่าเป็นเรื่องไกลความจริงและตื่นตระหนกเกินไป

ยังมีมายาคติที่คนไทยและสื่อ รวมไปถึงแม้แต่ข้าราชการเข้าใจคลาดเคลื่อน อาทิ รายละเอียดนักลงทุนอาเซียนสามารถลงทุนในธุรกิจบริการได้เสรีโดยไม่มีข้อจำกัดจริงหรือ หรือการรวมกลุ่มเออีซีจะคล้ายกับสหภาพยุโรป หรืออียู ที่อาจมีความเสี่ยงลักษณะเดียวกัน รวมทั้งการสะท้อนความจริง ของประเทศในกลุ่มเออีซี

ถือเป็นรายละเอียดที่ต้องเข้าใจให้ตรงกันมากที่สุด โดยเฉพาะปัญหาใหญ่เวลานี้ว่าเอาเข้าจริง ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ยังขาดความมุ่งมั่นในการเปิดเสรีนั่นเอง

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18-20 สิงหาคม 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด