ประชาชาติธุรกิจรายงาน: มองซ้ำปฏิรูปการศึกษาไทย กระจายอำนาจ-พัฒนาคุณภาพครู

ปี2014-08-18

ภายหลังจากประเมินคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยในเวที ระดับโลกและอาเซียน สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการศึกษาของไทยที่ถดถอยลง จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงระบบการศึกษาไทยว่ามีคุณภาพมากน้อยเพียงใด และปัญหาที่เกิดขึ้นควรมีการแก้ไขอย่างไร

อีกทั้งตลอดระยะเวลากว่า 7 เดือน ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีการชุมนุมเพื่อต่อต้านการนิรโทษกรรมทางการเมือง ทำให้ระบบราชการต้องหยุดนิ่ง ข้าราชการทำงานไม่ได้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการแก้ไขปัญหาทางด้านการศึกษาของไทย

ดังนั้น เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองต่อการพัฒนาการศึกษาของไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีขึ้น “ประชาชาติธุรกิจ” จึงมีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ “ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ” ที่ปรึกษาสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ถึงการปฏิรูปการศึกษาของไทยในประเด็นที่เร่งด่วน

เบื้องต้น “ดร.สมเกียรติ” ฉายภาพให้ฟังว่า สิ่งสำคัญเร่งด่วนคือการดำเนินการปฏิรูปการศึกษา ด้วยการคัดเลือกครูที่มีคุณภาพมาทดแทนครูที่จะเกษียณอายุราชการ ซึ่งในระยะเวลาอีก 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีครูที่เกษียณอายุราชการประมาณ 180,000 คน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องคัดเลือกครูใหม่เข้ามาทดแทนในอัตราจำนวน 120,000 คน

“ทั้งนั้นกระบวนการคัดเลือกคนที่จะเข้ามาเป็นครูใหม่จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะว่าคุณภาพของครู จะทำให้เกิดความแตกต่างของคุณภาพนักเรียน ดังนั้น หากได้ครูที่ดี จะเป็นโอกาสที่ทำให้การปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้นจริง ซึ่งไม่ใช่ในระดับของกฎหมายและนโยบาย แต่จะเกิดขึ้นจริงภายในห้องเรียน ฉะนั้น การคัดเลือกคนเพื่อให้ได้ครูที่ดี ถือเป็นความท้าทายและเร่งด่วนมากในระยะเวลา 5-10 ปีนี้”

“นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของหลักสูตรการเรียนการสอน ที่ควรมีการปฏิรูปให้ทันกับโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ มีคุณลักษณะที่ต้องมีความยืดหยุ่น ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีวินัย และสามารถเรียนรู้ ได้ด้วยตนเอง”

“รวมถึงเรื่องการทดสอบและการประเมินการเรียนรู้ของนักเรียนก็ควรมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งเห็นได้จากชุดข้อสอบ O-NET (การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน) ที่มีปัญหา และเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมวงกว้าง และการรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ดังนั้น ควรมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงระบบ เพื่อให้เกิดระบบการทดสอบ และการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ ควรเร่งดำเนินการภายในระยะเวลา 1-2 ปี”

นอกจากนี้ “ดร.สมเกียรติ” ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคุณภาพการศึกษาของไทย ในเรื่องคุณภาพครูต้องสะท้อนคุณภาพของนักเรียน โดยเฉพาะวิทยฐานะครูที่ต้องเชื่อมโยงกับคุณภาพนักเรียน ซึ่งในปัจจุบันการประเมินเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนและวิทยฐานะของครูนั้นแยกอิสระ ไม่ขึ้นกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กนักเรียน ผลที่ตามมาคือทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการเรียนรู้ของนักเรียน

“เราจะเห็นได้ว่าครูมักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการประเมินต่าง ๆ ที่นอกเหนือไปจากการเตรียมตัวสอนให้กับนักเรียนได้มีความสามารถในการเรียนรู้ที่ดีขึ้น การทำเช่นนี้ไม่ส่งผลดีกับนักเรียน สิ่งที่ต้องทำคือการสร้างความเชื่อมโยงให้เกิดขึ้น โดยให้การประเมินขั้นเงินเดือนและวิทยฐานะของครูอิงอยู่กับการเรียนรู้และพัฒนาการของนักเรียนด้วย”

“ผมอยากฝากให้ระมัดระวังเรื่องการประเมินความดีงามของคน ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและอันตรายเป็นอย่างยิ่ง ที่อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนได้ โดยเฉพาะการประเมินความดีที่ทำกันอย่างฉาบฉวยและไม่ตรงจุด อีกทั้งภาระของคนดีของสังคมถูกคาดหวังไว้กับสถาบันการศึกษามากเกินไป ซึ่งการที่จะเป็นคนดี ต้องขึ้นอยู่กับทุกภาคส่วน ทั้งสถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สื่อมวลชน และภาคส่วนอื่น ๆ”

ขณะที่ “ดร.อมรวิชช์” มองว่า สิ่งสำคัญ ในการปฏิรูปการศึกษาไทยคือการกระจาย อำนาจ ที่ต้องทำให้เป็นผลสำเร็จ โดยใช้การจัดการเชิงพื้นที่ เป็นเครือข่ายโรงเรียน หรือในพื้นที่ที่มีขนาดเล็ก จนนำไปสู่ การยกระดับการจัดการในระดับจังหวัด โดยให้งบประมาณสนับสนุนเพื่อให้ เกิดนวัตกรรมการเรียนรู้ ที่ปฏิรูปตั้งแต่วิธีการเรียนใหม่ ที่เอาความสนใจของเด็กเป็นที่ตั้ง

“รวมถึงการลงทุนในเรื่องของสื่อไอที เพื่อกระตุ้นแรงบันดาลใจและความสนใจของเด็ก ที่สำคัญควรมีการปรับเปลี่ยนวิธีการวัดผลที่ไม่ใช่แบบวิชาการ โดยวัดสิ่งที่เป็นทักษะสมัยใหม่ ทั้งการทำงานเป็นทีม การสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการปรับตัวและมนุษยสัมพันธ์”

“การวางระบบใหม่ของหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อให้เห็นการจัดการของโรงเรียนที่มีอิสระมากขึ้น ไม่ใช่การรอฟังคำสั่งและนโยบายจากกระทรวงเพียงอย่างเดียว”

นอกจากนั้น ควรมีการปรับวิธีการจัดสรรงบประมาณใหม่ ซึ่งในอนาคตต่อไปนี้ อาจจะจัดสรรผ่านงบประมาณจังหวัด โดยที่แต่ละจังหวัดจะมีแนวทางวิธีการจัดการศึกษาด้วยตนเอง เพื่อให้งบประมาณไปถึงผู้เรียนมากที่สุด

เพราะปัจจุบัน จากข้อมูลที่มีพบว่างบประมาณจำนวน 100 บาท เมื่อตกไปถึงนักเรียนมีจำนวนเพียง 3 บาทเท่านั้น ซึ่งส่วนที่หายไปคือค่าบริหารจัดการ, ค่าวัสดุอุปกรณ์, ค่าครุภัณฑ์, สิ่งก่อสร้าง และค่าอื่น ๆ อีกมากมาย

ถึงตรงนี้ “ดร.อมรวิชช์” บอกว่า การจะทำให้การปฏิรูปการศึกษาของไทยเกิดขึ้นจริง จึงจำเป็นต้องมีการกระจาย อำนาจให้กับท้องถิ่นในการจัดการศึกษาด้วยตนเอง พร้อมกับปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบประมาณให้ลงไปในจังหวัด โดยต้องทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในระยะ 5 ปีแรกที่จะต้องเตรียมความพร้อมของคน และดำเนินการนำร่องในรายจังหวัด

“ทั้งยังต้องมีการเพิ่มเติมองค์ความรู้และนวัตกรรมลงไปในท้องถิ่น โดยให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแล ที่สำคัญ ควรมีการสำรวจข้อมูลของเด็กในรายจังหวัด เพื่อให้รู้ถึงจำนวนของเด็กและกลุ่มเด็ก เพื่อจะช่วยเหลือและจัดการเรียนได้อย่างตรงประเด็น ซึ่งหากจัดการศึกษาด้วยวิธีการแบบนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการศึกษาที่ดีของประเทศ ทั้งตัวนักเรียน โรงเรียน และครู”

ที่ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองต่อการปฏิรูปการศึกษาไทย ยังเป็นการยกระดับการศึกษาของไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18-20 สิงหาคม 2557